วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

KISS Investing

การลงทุนนั้นก็เหมือนกับการทำอะไรอีกหลายๆ อย่างที่ วิธีหรือกระบวนการที่ง่ายกลับให้ผลที่ดีกว่าวิธีที่ยากและซับซ้อน

ในภาษาอังกฤษจึงมีคำพูดที่นิยมกันมากว่า “Keep It Simple And Stupid” หรือใช้คำย่อว่า “KISS” แปลเป็นไทยว่า ต้องทำให้มันง่ายและโง่ที่สุด


การลงทุนแบบ KISS นั้นควรจะเป็นอย่างไร? และมันดีจริงหรือ? เพื่อที่จะตอบคำถามนี้ ผมขอยกหลักการของโปรเฟสเซอร์ Charles D. Ellis นักวิชาการและนักเขียนเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนชื่อดังมาอธิบาย เขาเสนอว่า KISS ในการลงทุนนั้น มีหลักการและวิธีการ 5 ขั้นดังต่อไปนี้

ข้อแรก เก็บออมเงินสม่ำเสมอและเริ่มตั้งแต่อายุน้อย หลักการนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก เพราะการเริ่มต้นเร็วนั้น นอกจากจะเพาะนิสัยในการเก็บออมแล้ว การลงทุนจะเริ่มได้เร็วและมีระยะเวลาลงทุนนานกว่าที่เราจะเกษียณอายุ ด้วยพลังของการ "ทบต้น" ของผลตอบแทนที่ได้จะทำให้เม็ดเงินเติบโตเร็วมาก

วิธีที่จะคำนวณว่าเม็ดเงินจะเติบโตไปถึงแค่ไหนนั้น เราสามารถใช้ "สูตร 72" คำนวณได้ สูตรนี้จะบอกว่าเงินเราจะเพิ่มเป็นเท่าตัวต้องใช้เวลากี่ปี ตัวอย่างเช่น ถ้าเราลงทุนในกองทุนหุ้นซึ่งจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 10% ก็ให้เอา 72 ตั้งหารด้วย 10 ได้ค่าเท่ากับ 7.2 ก็จะได้ว่าเงินของเรา 1 ล้านบาทจะโตเป็น 2 ล้านบาท จะใช้เวลาประมาณ 7.2 ปี

วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553

Social Networking as Part of IMC


แนวทางการสร้าง Social Networking โดยหลักการของ
  • Instant (ตอบสนองทันที)
  • Interactive (สื่อสารสองทางไปมาตลอดเวลา)
  • Individualization (ตอบสนองระดับบุคคล)
  • Insight (ต้องตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้)
  • Invisible (ต้องทำให้ไม่เห็นเป็นการโฆษณาสินค้าที่ชัดเจนเกินไป)
  • และ Integration (ต้องมีความสอดคล้องกันกับสินค้าจริง)
จากหลักการดังกล่าวมีหลักการอีกสองเกณฑ์ที่ผู้เขียนต้องการเพิ่มเติมเพื่อให้การทำ Social Networking ได้สัมฤทธิผลมากขึ้น หรือเรียกง่ายๆ ว่าอีก 2i ปัจจัยทั้งสองคือ I -Identity ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนหมายความว่า Social Networking ที่ทำต้องสามารถสื่อได้ถึง Brand Identity ของตราสินค้าหรือธุรกิจนั้นๆ ได้ ความหมายครอบคลุมไปถึงการเลือกสี การเลือกตัวอักษร หรือแม้กระทั่งการเลือกแนวทางในการพูดต้องสามารถแสดงถึงเอกลักษณ์ของแบรนด์ได้ ชนิดที่ว่าเมื่อเข้าไปใน Social networking ต้องยังคงตอบได้ว่านี่แหละสไตล์ของธนาคารธนชาต ธนาคารออมสิน ซิตี้แบงก์ หรือ เคทีซี

เป็นเจ้าของกิจการด้วย Online Social Networking

ปรากฏการณ์หนึ่งในโลกดิจิทัลที่ถือว่ามาแรงมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา และคาดว่าจะยิ่งทวีความร้อนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ


นั่นคือ การสร้างเครือข่ายสังคมในโลกอินเทอร์เน็ต หรือ Online Social Networking ที่ถือว่าเป็นการสร้างชุมชนออนไลน์ที่มีความเหนียวแน่น จากการติดต่อสื่อสาร สร้างความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเสมือนหนึ่งสังคมหรือแม้แต่ครอบครัวเดียวกัน เข้ามาทักทาย พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือแม้แต่ทำกิจกรรมสารพัดอย่างผ่านทางออนไลน์ด้วยกัน เรียกว่าขาดกันไม่ได้เลยทีเดียว

แท้จริงแล้ว แนวคิดที่เกี่ยวกับเครือข่ายสังคมออนไลน์นี้มีมานานแล้ว ตั้งแต่การใช้แชทรูม เว็บบอร์ด เพื่อให้มีผู้ที่สนใจเข้ามาโพสต์แลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น ติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกันในโลกไซเบอร์ ซึ่งถือว่าเป็นยุคแรกๆ ของการสร้างเครือข่ายสังคมกันแล้ว แต่เริ่มมีความชัดเจนขึ้นจากการริเริ่มพัฒนา บล็อก (Blog) ที่เป็นเสมือนหนึ่งไดอารี่ออนไลน์ ที่ให้เจ้าของเข้ามาเขียนเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ และมีผู้อื่นที่มีความสนใจคล้ายคลึงกัน เข้ามาให้ความเห็นแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างต่อเนื่อง จนสนิทสนมแนบแน่นกันจนเป็นวงสังคมเดียวกัน

วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

ปันผลคือพื้นฐานหุ้น

หลักการหรือหัวใจของ Value Investment หรือการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ก็คือ การหามูลค่าที่ควรจะเป็นหรือมูลค่า “พื้นฐาน” ของหุ้น


จากนั้นก็ดูว่าราคาหุ้นในตลาดเป็นเท่าไร ถ้าราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานที่คำนวณได้ก็ให้ซื้อ ถ้าราคาหุ้นสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานก็ให้ขาย เพราะนักลงทุนแบบ VI เชื่อว่าในที่สุดราคาหุ้นจะวิ่งเข้าหามูลค่าพื้นฐานเสมอ

คำถามสำคัญมีอยู่ 2 ข้อ นั่นคือ หนึ่ง มูลค่าพื้นฐานคืออะไร มาจากไหน อะไรเป็นตัวกำหนดมูลค่าพื้นฐานของหุ้น พูดง่ายๆ คำนวณมูลค่าพื้นฐานอย่างไร ข้อสอง เมื่อไรเล่าที่ราคาจะวิ่งเข้าหาพื้นฐาน เป็นไปได้ไหมที่ราคาหุ้นอาจจะไม่สะท้อนพื้นฐานเป็นระยะเวลานานมาก เผลอๆ ตลอดไป กลายเป็นหุ้นที่อาจจะ “ถูกตลอดกาล” และถ้าเป็นอย่างนั้น VI จะได้อะไร

คำตอบทั้งสองข้อนั้นเกี่ยวเนื่องกัน นั่นคือ คำตอบของข้อแรกก็จะตอบคำถามของข้อสองได้ คำถามที่ว่ามูลค่าพื้นฐานคืออะไรนั้น ถ้าจะตอบ ก็คือ เป็นมูลค่าปัจจุบันของหุ้นที่เหมาะสม เมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นจะได้จากบริษัทตลอดไป และผลตอบแทนที่ว่านั้น ก็คือ “ปันผล” ในอนาคตทั้งหมดของบริษัท

วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553

คุณสมบัติ 8 ประการ ก้าวสู่ความสำเร็จด้านการลงทุน


ในการที่จะเล่นกีฬาให้ชำนาญจนมีความสามารถเป็นที่ยอมรับกัน และจนถึงขนาดชนะได้รางวัลนั้น นอกจากผู้เล่นจะต้องมีทักษะพื้นฐานที่ดีแล้ว ยังต้องฝึกฝนตัวเองอย่างสม่ำเสมออีกด้วย จะเห็นว่าผู้ประสบความสำเร็จและเป็นผู้ชนะมักจะมีสไตล์ในการเล่นที่แตกต่างกัน ไม่มีสไตล์ไหนที่ชนะตลอดหรือแพ้ตลอด

ในการลงทุนก็เช่นเดียวกัน เราจะต้องพยายามหาสไตล์การเล่นที่เหมาะกับตัวเราและมีความเชื่อมั่นว่าจะทำให้เราชนะในเกมการลงทุน และค่อยๆ พัฒนาจนมีสไตล์ของตนเองที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร ใครจะรู้ สไตล์การลงทุนของตัวคุณเองอาจจะประสบความสำเร็จอย่างสูงในอนาคตก็ได้ นักลงทุนระดับ “ปรมาจารย์” ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง มีคุณสมบัติที่เหมือนๆ กันอยู่ 8 ประการด้วยกัน คือ
 
คุณสมบัติ #1 : มีความรอบรู้ (Breadth)
จากการศึกษาพบว่าผู้ประสบความสำเร็จในการลงทุนมักมีความกระตือรือร้น สนใจเรื่องราวต่างๆ รอบตัว นอกจากข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรงแล้ว พวกเขายังให้ความสนใจกับสิ่งอื่นๆ ด้วย เช่น George Soros มีความสนใจเรื่องปรัชญาและได้เข้าไปทำกิจกรรมหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเมืองระดับโลกด้วย นักลงทุนที่ดีต้องเป็นผู้ที่มีความสนใจที่หลากหลาย ไม่ตีกรอบตัวเองอยู่เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น โดยเฉพาะในโลกทุกวันนี้ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันสูงมาก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในซีกโลกหนึ่ง อาจส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ อย่างกว้างขวาง แม้แต่ประเทศที่อยู่ในอีก ซีกโลกหนึ่งก็อาจได้รับผลกระทบอย่างมากและรวดเร็วอย่างคาดไม่ถึง เช่น กรณีวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ที่เกิดกับประเทศไทยปี 2540 นั้นได้ส่งผลสะเทือนต่อระบบการเงินไปทั่วโลก เป็นต้น

วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

งานประจำของ VI

การที่จะเป็น Value Investor ที่ดีนั้นเราจะต้องทำอะไร? ถ้า VI ไม่ค่อยซื้อขายหุ้นหรือตามราคาหุ้นแล้ว วัน ๆ เขาจะทำอะไร?


คำตอบของผมก็คือ งานของ VI ก็คือ การค้นหาหุ้นที่จะลงทุนและการเพิ่มความสามารถในการเลือกหุ้นและการจัดการการลงทุนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะทำให้เราได้ผลตอบแทนที่ดีโดยที่มีความเสี่ยงไม่มาก และต่อไปนี้ก็คือ งานบางอย่างที่ผมคิดว่า VI ที่มุ่งมั่นควรทำเป็นประจำ

เรื่องแรกคือ การหาความรู้เรื่องการลงทุนโดยเฉพาะที่เป็นแนว Value Investment และวิธีที่ดีที่สุดก็คือ การอ่านหนังสือการลงทุนที่เขียนโดยนักวิชาการหรือนักลงทุนที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จในสายงานของตน หนังสือการลงทุนนั้นมีมากมายมหาศาลยากที่จะอ่านได้หมด ดังนั้น อย่างน้อยเราควรอ่านเดือนละเล่มโดยเฉลี่ย และเนื้อหาของหนังสือนั้นควรจะครอบคลุมกว้างขวางในทุกด้านของทฤษฎีและปรัชญาการลงทุน ข้อแนะนำเพิ่มเติมของผมก็คือ นอกจากหลักการของ Value Investment แล้ว อย่างน้อยเราควรจะต้องอ่านและเข้าใจทฤษฎี “ตลาดที่มีประสิทธิภาพ” หรือ Efficient Market ของนักวิชาการที่บอกว่าการลงทุนให้ได้กำไรมากกว่าปกติในระยะยาวนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ไม่ว่าคุณจะใช้หลักการอะไร เหตุผลก็เพราะมันจะเป็นเครื่องเตือนใจเราตลอดเวลาว่า การลงทุนเป็นเรื่องที่ “ไม่ง่าย” อย่าประมาท

งานประจำอย่างที่สองก็ยังเป็นการอ่านหนังสือ แต่ไม่ใช่หนังสือเกี่ยวกับการลงทุน เหตุผลก็คือ การลงทุนนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่น ๆ อีกมาก ว่าที่จริงควรจะพูดกลับกันนั่นก็คือ สิ่งต่าง ๆ นั้นมีผลกระทบต่อการลงทุน ดังนั้น เราควรจะมีความรอบรู้ในเรื่องต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ซึ่งผมก็บอกไม่ได้เหมือนกันว่ามันคืออะไร วิธีของผมก็คือ ผมจะพยายามเรียนรู้เรื่องหรือทฤษฎีหรือปรัชญาสำคัญ ๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ เช่น ทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ล ดาร์วิน ประวัติศาสตร์ของโลกตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์ สงครามและการปฏิวัติครั้งใหญ่ ๆ ของโลก จิตวิทยาและสังคมวิทยาของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลกในยุคต่าง ๆ ทฤษฎีการจัดการต่าง ๆ ทั้งการตลาดการบริหารและการเงินที่เป็น “Break Through” หรือเป็นหนังสือที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการ เป็นต้น ผมพบว่ายิ่งอ่านผมก็ยิ่งสนุก แม้จะไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่ามันช่วยในการตัดสินใจลงทุนตรงไหน ลองอ่านดู อย่างน้อยเดือนละเล่มเช่นกัน

วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2553

วิธีคิดแบบคนรวย ปรับเปลี่ยนแนวคิดให้รวย

เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมคนเราที่อุตส่าห์อดออม ขยันทำงานตัวเป็นเกลียว ประหยัดจนเอวคอดเอวกิ่ว และไม่เคยข้องแวะกับความฟุ่มเฟือยใดๆ พอมีเงินก็เอาไปต่อยอดให้ออกดอกออกผล เรียกได้ว่าทำทุกอย่างตามสูตรของการเป็นเศรษฐี พยายามปฏิบัติทุกอย่างตามคัมภีร์แห่งความมั่งคั่ง แต่ท้ายที่สุดนั้นก็ยังไม่ได้เป็นเจ้าของสรรพนามคำว่าเศรษฐีเสียที ทำไม?? และทำไม??? จะมีวิธีไหนได้บ้างที่จะสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็นเศรษฐีหรือคนรวยได้บ้างไหม หากคุณคิดแบบ

เราจะพาไปแกะรอยดูว่า บรรดาเศรษฐีตัวจริงเสียงจริงทั้งหลาย เขาคิดและมีมุมมองกันอย่างไร ถึงได้มั่งคั่งอย่างยั่งยืนบนกองเงินกองทอง ที.ฮาร์ฟ เอเคอร์ เจ้าของงานเขียน เคล็ดลับทำใจให้เป็นเศรษฐีเงินล้าน : การคุมเกมสร้างความมั่งคั่ง ซึ่งตัวเค้าเองนั้นเชื่อว่าคนรวยคิดแตกต่างเกี่ยวกับเงิน และแต่ละคนมีแผนการเงินเฉพาะตัว ซึ่งคิดกำหนดขึ้นมาตลอดช่วงชีวิตในการลงทุนเกี่ยวข้องกับเงิน ลองตามมาดูวิธีคิดและมุมมองแบบคนรวย แนวความคิดแบบคนรวย ว่าเขาคิดกันอย่างไร

วิธีคิดแบบคนรวย



ฉันสร้างชีวิตด้วยตัวเอง พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ คนที่จะรวยได้ต้องเริ่มคิดสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตัวเอง ไม่คิดพึ่งพิงคนอื่น สังเกตว่าพวกที่ไม่ได้เป็นเศรษฐี มักคิดแค่ว่า เราช่างโชคดีเหลือเกินที่เกิดมาบนกองเงินกองทองที่พ่อแม่สร้างไว้ให้ ไม่ต้องทำอะไรก็มีมรดกตกทอดมาจากพ่อแม่เอาไว้ให้ใช้อยู่แล้ว ไม่เห็นต้องทำอะไร ก็อยู่ได้ไปชั่วชีวิต จะเห็นได้ว่าเศรษฐีเมืองเราหลายคน ไม่ว่าจะเป็น “เจริญ สิริวัฒนภักดี” หรือ “เฉลียว อยู่วิทยา” ก็ล้วนแต่สร้างและสั่งสมความร่ำรวยมาด้วยตัวเองแทบทั้งสิ้น กว่าจะนอนเกลือกกลิ้งบนกองเงินกองทองเป็นเศรษฐีมีเงินพันล้านหมื่นล้าน คนเหล่านี้เริ่มต้นจากศูนย์และด้วยสองมือเปล่า และเป็นคนที่มีพื้นฐานครอบครัวไม่รวยมาก่อนแทบทั้งสิ้น

Jesse Livermore นักเก็งกำไรบันลือโลก

ในโลกของ Value Investor นั้น ทุกคนรู้จักและนับถือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ว่าเป็นนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก


แต่ในโลกของนักเก็งกำไรนั้น ชื่อของ Jesse Livermore ได้รับการยอมรับว่าเป็นตำนานของนักเก็งกำไรที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งเคียงบ่าเคียงไหล่กับคนอย่าง Bernard Baruch และ Gerald Loeb ว่าที่จริง บางคนบอกว่าเขาเป็นนักเก็งกำไรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ฉายาของเขาคือ "หมีใหญ่แห่งวอลล์สตรีท" เพราะเขาชอบเก็งกำไรโดยเฉพาะในช่วงตลาด "ขาลง" นั่นคือ เขาจะชอร์ตหุ้นและ/หรือสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดล่วงหน้า ชีวิตและหลักการเก็งกำไรของ ลิเวอร์มอร์นั้นน่าสนใจไม่เฉพาะแต่นักเก็งกำไร Value Investor ก็ควรจะรู้ไว้

วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2553

“FIF ทางเลือกในการลงทุน ยามเงินบาทแข็งค่า”

ในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เราได้เห็นนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนให้ไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งหนึ่งในมาตรการต่างๆเหล่านั้นก็คือการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ซึ่งล่าสุดบลจ.หลายแห่งก็พร้อมใจกันประกาศขายกองทุน FIF กองใหม่กันอย่างคึกคัก จากการรวบรวมของ Money Channel เฉพาะที่เสนอขายในช่วงปลายเดือนกันยายน ถึงต้นเดือนพฤศจิกายน มีมูลค่ารวมกันเกือบ 32,000 ล้านบาท

แม้ว่า FIF ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 80%ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ จะเริ่มมีมาเมื่อ 5 ปีก่อนหน้านี้ แต่ปัจจุบันกองทุน FIF เป็นที่รู้จักและมีอัตราการเติบโตมากขึ้น หลังจากได้รับแรงหนุนจากการผ่อนคลายวงเงินลงทุนต่างประเทศจากธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อลดแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า ขณะเดียวกัน ช่วงที่ผ่านมา กองทุน FIF เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้ลงทุนมากขึ้น ทั้งจากการที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม หรือ บลจ. ต่าง ๆ มีการประชาสัมพันธ์จากการเสนอขายกองทุน FIF อย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ การสร้างแรงจูงใจด้วยความเชื่อที่ว่าการไปลงทุนยังต่างประเทศ นอกจากมีโอกาสจะทำให้อัตราผลตอบแทนการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนส่งผลให้กองทุน FIF มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับกองทุนประเภทอื่น
 
 

วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

หุ้นไทยกระฉูด ปิดสูงสุดในรอบ 14 ปี ลุ้นไปต่อ-เงินไหลเข้า

ดัชนีหุ้นวันที่ 3 ก.ย.53 ปิดที่ 929.90 จุด เพิ่มขึ้น 9.36 จุดยังทำนิวไฮในรอบ 14 ปีได้ต่อ ขณะที่มีมูลค่าการซื้อขาย 52,546.92 ล้านบาท ต่างชาติซื้อสุทธิ 583.56 ล้านบาท



ฝ่ายวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส มองตลาดสัปดาห์หน้าคาดจะแกว่งตัวในกรอบแนวรับที่ 920 จุด ส่วนแนวต้านให้ไว้ที่ 935-940 จุด โดยให้ติดตามการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรว่าจะออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดไว้หรือไม่ หากตัวเลขออกมาดีจะส่งผลให้ตลาดหุ้นต่างประเทศรวมทั้งไทยไปได้ต่อ แต่หากออกมาแย่กว่าคาด ระวังแรงขายกดดัชนี

อย่างไรก็ตาม สัญญาณทางเทคนิคพบว่า ดัชนีหุ้นไทยเข้าเขต "ซื้อมากเกินไป" จึงต้องระวังแรงขายทำกำไรสลับออกมา

แนะกลยุทธ์การลงทุนให้รอซื้อเมื่อดัชนีอ่อนตัวลง และไม่แนะให้เข้าซื้อหุ้นในจังหวะที่ดัชนีปรับขึ้น โดยให้เลือกลงทุนในหุ้นที่ราคายังปรับขึ้นไม่มาก หรือราคายังต่ำกว่าพื้นฐาน

วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

อ่านหนังสือยังไงให้"ฉลาดขึ้น"


"การ์ตูน" --จริงๆอ่านอะไรก็ได้มุมมองทั้งนั้นอยู่ที่เราจะเก็บเอาอะไรมาเป็นแง่คิด... ผมเป็นคนนึงล่ะ ที่บ้าอ่านหนังสือมากๆ (จริงๆผมว่า มีหลายๆคนที่เหมือนผม คือ โรคจิต"กลัวโง่" ประมาณว่าทนไม่ได้ที่จะโง่ ....โดยเฉพาะเรื่องที่ผมสนใจคือ "ธุรกิจ" ---ทำให้เสียเงินเยอะมากไปให้ "Asia Book"

... หลายคนถามว่าทำไมต้องอ่านหนังสือฝรั่ง (กระแดะหรือ??) ..จริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้น -- แต่ผมมองว่า หนังสือฝรั่งมันมีแง่คิดที่แตกต่างดี (ถ้ารอให้แปลเป็นไทยก็อีก 2 - 3 ปี ) ส่วนหนังสือไทยๆเลย ผมว่า แนวคิดมันไม่ค่อยหลากหลาย...คนไทยอ่านหนังสือน้อย และไม่ค่อยเปิดรับความคิดที่เห็นแย้งกับตัวเอง จึงทำให้ สะท้อนออกมาในหนังสือ และแบบแผนการดำเนินชีวิต ที่แคบและจำกัดอยู่ในกรอบ

เตรียมตัวให้พร้อมกับตลาดหุ้นในยุค Asian Miracle 2 (คนรวยจะจน แต่คนฉลาดจะรวย “New Rich”)

ตลาดหุ้น จะแบ่งออกเป็น ตลาด Bull & Bear Market


Bull Market ก็คือช่วงที่นักลงทุน มองว่าเศรษฐกิจดี และ โอกาสที่หุ้นจะขึ้นมีเยอะ ทำให้ทุกคนกระโดดเข้ามาซื้อหุ้นในตลาด

สิ่งที่น่าสังเกตคือ ตลาดหุ้น ในสภาพ Bull Market จะมีแรงดึงดูดเงินทุนได้อย่างไม่จำกัด (ถ้ามองให้ดี เวลาตลาด Bull มากๆ หุ้นจะวิ่งแรงเหนือกว่า Commodity ใดๆ (รวมถึงทองด้วย…ถ้าใครสังเกตให้ดีเวลาหุ้นขึ้นมากๆ ราคาทองจะขี้เหร่มากๆ) – และนี่ก็คือ พลังของ Bull Market

กลับมามองตลาดในปัจจุบัน ถ้าถามใคร ก็ไม่มีใครรู้หรอกครับว่า ตอนนี้เป็น Bull หรือยัง “สรุปเลยคนส่วนใหญ่ใช้ความรู้สึกในการตอบว่า ตลาดมัน Bull แค่ไหน (ซึ่งไร้สาระ)”

วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

ตลาดขึ้นอย่าเมาหมัด "จัด Port ให้ถูก"


บทความนี้เขียนขึ้นมาเตือนสติคนเมาหมัดเลยครับ ..ช่วงนี้มีคนถามผมเยอะมาก ว่าจะขายหรือไม่ขาย ซื้อหรือไม่ "เอาอย่างนี้ผมขออธิบายชัดๆ" คือ อย่างแรกคุณต้องเข้าใจหุ้น กลุ่มที่คุณถืออยู่ก่อนว่าอยู่ใน Category ไหน

เริ่มจากแบ่ง Category จะมีคร่าวๆดังนี้

1. "หุ้นกลุ่มลูกเป็ดขี้เหร่" (กลุ่มนี้ของพวกเล่นยาวๆ ..ผมนี่แหละซื้อหุ้นแบบนี้ อิ อิ) คือ เป็นหุ้นที่พื้นฐานดี ปันผลดี เป็นหุ้นใหญ่ แต่ถ้าเทียบกับตลาดขาขึ้นในตอนนี้ สู้ไม่ได้ ผมให้ชื่อมันว่า "กลุ่มลูกเป็ดขี้เหร่" แต่ข้อดีของกลุ่มนี้ คือ มันสามารถต้านทานตลาดตกต่ำได้ เพราะถ้าเกิดตลาดไม่ได้ดีอย่างที่ทุกคนคาดกัน หุ้นพวกนี้ก็จะตกตาม แต่จุดดี คือ หุ้นยังคงได้ปันผลสม่ำเสมอ ซึ่งยังไงก็ดีกว่าฝากเอาไว้ในธนาคาร(ซึ่งจุดนั้นคุณไม่ได้อะไรเลย แถมโดน Inflation กัดกินให้มูลค่าลดลงทุกปี ในอัตราเร่ง)

2. "หุ้นกลุ่มขวัญใจนักปั่นมีวินัย" (กลุ่มนี้เป็นหุ้นที่กำลังคึกคัด กำไรกันอู่ฟู่ในขณะนี้..ผมก็เล่นกลุ่มนี้บ้างเล็กน้อยของ Port) คือ เป็นหุ้นเล็กที่พื้นฐานดี (ตั้งแต่ปี 97 ราคาหุ้นยังไม่เคยลืมตาอ้าปากอีกเลย แต่เนื่องจากกิจการได้ปรับตัวให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถเปลี่ยนตัวเองกลับมาเป็นกิจการที่ดี จากนั้นก็ปันผลสม่ำเสมอ (สังเกตได้จากให้ Dividend Yield ที่ดี แต่ P/BV ค่อนข้างต่ำ) แต่โดยปกติหุ้นพวกนี้จะไม่ค่อยมีสภาพคล่อง ..สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้มีคนกลุ่มนึง เราให้ชื่อว่า "นักปั่นมีวินัย" กระโดดเข้าในตลาด (ซึ่งคนกลุ่มนี้ อาจจะเกี่ยวข้องทางใดทางหนึ่ง ต่อกิจการนั้นๆ หรือไม่ อันนี้ยังเป็นข้อกังขา เพราะเดิมหุ้นไม่มีสภาพคล่อง แต่ถ้าตอนนี้มี มันแสดงถึงจุดเชื่อมโยงต่อผู้ถือหุ้นใหญ่ของกิจการในทางใดทางหนึ่ง "ขาใหญ่อย่ามาเตะผมล่ะ ผมแค่ให้ความรู้ครับ อิ อิ") --- หุ้นพวกนี้ ตอนนี้ก็จะวิ่งขึ้นมาค่อนข้างแรง กำไรกันอู่ฟู่ แต่หลังจากวิ่งขึ้นมาแล้วก็จะสังเกตเห็นได้ว่า ตอนนี้หุ้นเหล่านี้กลับมามีสภาพคล่องที่ดีขึ้น (ส่วน Dividend Yield กับ P/BV จะแย่ลง) .."วิธีการสังเกตหุ้นเหล่านี้คือ คุณย้อนไปดู History ของการซื้อขาย ว่าถ้าในอดีตไร้สภาพคล่อง แต่ตอนนี้มันบูม ..คุณเดาได้เลยว่าหุ้นนั้น เป็นหนึ่งใน Category นี้ครับ

3. "หุ้นบ้า" (กลุ่มนี้เป็นหุ้นไร้พื้นฐาน บริษัทแย่ยังไง ก็แย่เหมือนเดิม ปันผลก็ไม่เคยมี ) ..แต่มีอย่างเดียวที่มี คือ "มีข่าวดี" (ซึ่งข่าวดี ที่ว่านี้) -- มันมักจะเป็นข่าวลวง ...ที่หนึ่ง อาจจะยังไม่เกิดขึ้น(หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลย!!) สอง ข่าวนั้นยังไม่มีผลต่อกิจการ และสาม ข่าวนั้น ทำให้ราคาหุ้นขึ้นอย่างบ้าคลั้ง ผนวกกับ Volume ในการซื้อขายที่มีเข้ามาอย่างบ้าคลั่งพอๆกัน "หุ้นพวกนี้คุณเล่นแล้วรวยได้เพียงชั่วข้ามคืน ..แต่ก็มีโอกาสจนทันทีในค่ำคืนถัดมา อิ อิ

ณ วันนี้ตลาดวิ่งขึ้นมาแตะ 900 จุด นำโด่งมาด้วย อันดับหนึ่ง "หุ้นบ้า" อันดับสอง "หุ้นกลุ่มขวัญใจนักปั่นมีวินัย" และลั้งท้ายคือ ขึ้นมาเบาๆ แบบขี้เหร่ๆ (แต่ยังไงก็เท่ห์กว่าเงินฝากวะ) "หุ้นกลุ่มลูกเป็ดขี้เหร่" ...อ่าฮ้า!!

ดังนั้นก่อนคุณจะตัดสินใจทำอะไร ให้หุ้นเข้าใจก่อนว่าหุ้นที่คุณถืออยู่ หรือ กำลังจะซื้อ ว่ามันจัดอยู่ใน Category ใด .."เมื่อจัดได้แล้ว คุณก็จะเข้าใจเองว่า คุณควรจะทำอย่างไรเมื่อตลาดวิ่งมาถึงตรงนี้"

อย่าง "หุ้นบ้า" ถ้าคุณกำไรแล้ว คุณก็รีบโกยได้แล้ว ไม่ใช่อยู่ลอยจนติดดอย ..ส่วนหุ้น "หุ้นกลุ่มขวัญใจนักปั่นมีวินัย" ก็ให้พิจารณาเองว่า ถ้าขายตอนนี้แล้วพอใจในกำไรก็ขายไป แต่ถ้าคิดว่าอยากถือต่อ เพราะปันผลดี ไม่รู้จะเอาเงินมาทำอะไรเมื่อขายแล้ว ก็อยู่ลุ้นต่อไป ..ส่วนหุ้น "หุ้นกลุ่มลูกเป็ดขี้เหร่" ก็ควรถือรับปันผลต่อไป เพราะหุ้นคุณยังไม่ได้วิ่งเลย (ที่ตลาดขึ้นมาเที่ยวนี้มันไม่ใช่โอกาสของคุณเลย ..เพราะราคาที่วิ่งมาเพียงน้อยนิดในขณะนี้ ผมมองว่า "ขนาดใครอยากซื้อเพิ่ม ผมยังว่ามันไม่แพงเลย")

เอาเป็นว่าอย่า (งง) ...แบ่งกลุ่มให้ถูก แล้วคุณจะเข้าใจสิ่งที่คุณถือมากขึ้นครับ!!
 
 
เขียนโดย pawawit