วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2553

เถ้าแก่ออนไลน์


เพราะเป็นคนหนุ่มที่แม้จะเพิ่งย่างเข้าวัยเลขสามนำหน้า แต่กลับเป็นเจ้าของเว็บไซต์ขายของมือสองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ พ่วงด้วยสถิติเว็บไซต์ที่ทำรายได้นับสิบล้านต่อปี profile ของชายคนนี้จึงน่าสนใจและเป็นกรณีศึกษาให้กับคนวงการดอทคอม


อายุเพิ่งจะ 30 ปี แต่ได้นั่งตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการบริษัท ตลาด ดอท คอม บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเว็บไซต์ศูนย์กลางซื้อ-ขาย แลก-เปลี่ยนสินค้าบนโลกอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียก กันว่า "e-commerce" มานานหลายปี อีกทั้งธุรกิจที่มีอยู่ในมือก็เหมือนจะรุ่งโรจน์และไปได้ดี

ทุกวันนี้เมื่อพูดถึงเรื่อง e-commerce ชื่อของภาวุธ พงษ์วิทยภานุ น่าจะเป็นที่รู้จักดีของคนในวงการและนอกวงการ เฉพาะ 2-3 ปีที่ผ่านมา เขาเป็นบุคคลหนึ่งที่ได้รับการติดต่อให้ไปเป็นวิทยากรสอนเรื่อง e-marketing และ e-commerce ทั้งในสถาบันการศึกษาภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ จนตาราง การนัดหมายแน่นขนัดทั้งต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ เอง

วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

การลงทุนเพื่อชีวิต

การลงทุนเพื่อชีวิต : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


คนที่ลงทุนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น มีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายแตกต่างกันไป บางคนทำเพื่อความสนุกสนานตื่นเต้น บางคนลงทุนเพราะหวังว่าจะรวยได้เร็ว บางคนทำเพื่อหวัง “ค่ากับข้าวหรือค่าขนม” บางคนคิดว่าจะลงทุนเพื่อให้มีรายได้ประจำเป็นรายเดือนเพื่อนำมาใช้จ่าย บางคนลงทุนเพื่อนำมาใช้เครดิตภาษีรายได้ แต่สำหรับผมแล้ว การลงทุนในหุ้นนั้น ทำเพื่อชีวิตที่ดีกว่าในวันข้างหน้า พูดง่ายๆ มันเป็น “การลงทุนเพื่อชีวิต”

การลงทุนเพื่อชีวิตนั้นอย่างน้อยต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

ข้อแรกก็คือ เราทำมันอย่างมีสำนึกที่ดีกับการลงทุนซื้อขายหุ้น เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ดีต่อตัวเรา มันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อสังคม มันไม่ใช่การพนันที่จะทำให้ชีวิตของเราตกต่ำลง แต่การลงทุนในหุ้นนั้น มันเป็นการสร้างอนาคตที่ดีนั่นคือ มันสร้างความมั่นคง และความมั่งคั่ง โดยการลงทุนในธุรกิจที่ดี และจะเฟื่องฟูต่อไปในอนาคตอันยาวนาน ผ่านการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ สิ่งนี้ไม่ต่างไปจากคนที่ก่อร่างสร้างตัวทำธุรกิจด้วยตนเอง ซึ่งมักจะได้รับการสรรเสริญจากสังคมว่าเป็นคนที่ทำมาหากิน มีความพยายาม และความมุ่งมั่นสูง สรุปอย่างสั้นๆ ก็คือ การลงทุนเพื่อชีวิตนั้น เราต้องสะสมหุ้นที่ดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในลักษณะที่เหมือนกับว่าเรากำลังทำธุรกิจตามหุ้นที่เราซื้อ ถ้าเราซื้อหุ้นของบริษัทที่ขายอาหาร เราก็กำลังทำธุรกิจขายอาหาร เราซื้อหุ้นของบริษัทที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน เราก็กำลังทำธุรกิจของร้านนั้น

ความมั่งคั่งของมนุษย์เงินเดือน


ถ้าถามคนทั่วไปว่า เขามีเงินหรือความมั่งคั่งแค่ไหน ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาคิด ไม่ใช่ว่าเขามีมากเสียจนนับไม่ไหว แต่เป็นเพราะว่าคนทั่วไปมักจะไม่ได้สนใจคำนวณ หรือติดตามว่าทรัพย์สมบัติของตนนับแล้วที่เท่าไร คนส่วนมากคงรู้ว่าเงินในบัญชีของตนเป็นเท่าไรในแต่ละช่วง แต่ทรัพย์สมบัติอย่างอื่นทั้งหมดเมื่อนำมารวมกันหักด้วยหนี้สิน ซึ่งจะทำให้ได้ค่าของความมั่งคั่งนั้น คนจำนวนมากไม่ได้คิดถึง

เรื่องของความมั่งคั่ง โดยเฉพาะของคนที่เป็นลูกจ้างกินเงินเดือนประจำที่เป็นกลุ่มคนชั้นกลางของไทยนั้น ผมคิดว่ามีคนศึกษาน้อยมาก ว่าที่จริง เรื่องที่เกี่ยวกับเงินๆทองๆของคนชั้นกลาง ซึ่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆและมีความสำคัญต่อธุรกิจที่ขายของให้กับคนชั้นกลางนั้น เรายังมีความรู้น้อยมาก ผมเองไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ข้อมูลความมั่งคั่งของใครในอาชีพของตนเอง แต่บางครั้งก็อยากจะรู้เหมือนกันว่าเพื่อนที่มีพื้นฐานการเรียน การทำงาน และอาชีพคล้ายๆกัน หลังจากทำงานมากว่า 20 ปี บัดนี้มีทรัพย์สมบัติที่เกิดจากความมั่งคั่งเท่าไรแล้ว เหตุผลหนึ่งก็เพื่อจะได้เปรียบเทียบความมั่งคั่งของตนเอง เพื่อจะดูว่าเราทำได้ดีแค่ไหนทางการเงิน พูดง่ายๆก็คือ อยากจะมีดัชนีชี้วัดความมั่งคั่งเอาไว้เป็นมาตรฐานเปรียบเทียบ

วิถีมหาเศรษฐี

W.Randall Jones เขียนหนังสือชื่อ The Richest Man in Town โดยการสัมภาษณ์และวิเคราะห์คุณสมบัติ นิสัย แนวความคิด ปรัชญาการใช้ชีวิต และอื่นๆ ของคนที่รวยที่สุดในเมืองต่างๆ ของอเมริกาจำนวน 100 คน เขาพบลักษณะร่วมของคนที่เป็นมหาเศรษฐี 12 ประการ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง



1.ไม่หาเงินเพื่อเงิน การทำอย่างนั้น คุณจะไม่ได้เงิน เงินจะมาก็ต่อเมื่อคุณทำในสิ่งที่ถูกต้อง และด้วยวิธีที่ถูกต้อง ทำในสิ่งที่คุณรัก และมีความหลงใหลที่จะทำ คุณต้องทำในสิ่งที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์ แล้วเงินจะมาเอง มันเป็นผลพลอยได้ ในมุมของ VI หรือนักลงทุนเน้นคุณค่า ผมคิดว่ามันถูกต้องตรงกัน อย่าลงทุนแบบจ้องหา หรือหมกมุ่นกับผลตอบแทนเกินไป มีความสุขกับการลงทุน ทำหรือเลือกลงทุนอย่างถูกต้อง เงินจะมาเอง

2.รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร รู้จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง ที่สำคัญต้องรู้ว่า อะไรคือความสามารถ หรือความเชี่ยวชาญที่สุดของตัวเอง ถ้าคุณคิดว่าต้องไปทำงานทุกวัน นั่นก็ผิดแล้ว งานจะไม่ใช่งานถ้าคุณทำแล้วมีความสุข และเป็นสิ่งที่คุณอยากทำ

วิชาลงทุน

วิชาลงทุน : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


ถ้าถามว่า จะเป็นนักลงทุนที่เยี่ยมยอดจะต้องเรียนอะไร? คำตอบของคนจำนวนมากจะบอกว่า ต้องจบปริญญาบริหารธุรกิจโดยเฉพาะสาขาการเงิน เพราะหลักสูตรนี้ประกอบไปด้วยวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการลงทุนที่จำเป็นทุกด้าน ไล่ตั้งแต่การวิเคราะห์งบการเงินของกิจการ การวิเคราะห์หลักทรัพย์ การบริหารพอร์ตโฟลิโอ นอกจากนั้นยังสอนพื้นฐานของการทำธุรกิจอื่นๆทุกด้าน ตั้งแต่การตลาด การผลิต การบริหารงานบุคคล และกลยุทธ์อื่นๆของธุรกิจ

ถ้าการลงทุนเป็นศาสตร์แบบเดียวกับวิศวกรรมหรือการแพทย์แล้วละก็ คำตอบก็น่าจะถูกต้อง เพราะคงเป็นเรื่องยากที่คนจบวิชาตบแต่งภายในจะมาเป็นผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบโครงสร้างตึก หรือคนจบนิเทศศาสตร์จะกลายเป็นหมอชื่อดัง แต่การลงทุนนั้นเป็นเรื่องของศาสตร์ไม่ถึงครึ่ง และศาสตร์ที่ใช้ก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร ว่าที่จริง ผมคิดว่าคนที่เรียนจบระดับมัธยมถ้าตั้งใจจริง ก็สามารถที่จะเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ส่วนที่สำคัญกว่าและยากกว่าในเรื่องของการลงทุนนั้นเป็นศิลปะ และนี่คือส่วนที่จะสร้างความแตกต่างระหว่างเซียนหุ้นกับนักลงทุนธรรมดา


ปีเตอร์ ลินช์ เรียนจบปริญญาตรี ดูเหมือนจะทางด้านภาษา เช่นเดียวกับปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจ เขาบอกว่า วิชาที่มีประโยชน์จริงๆต่อการลงทุนเป็นวิชาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และปรัชญา ส่วนวิชาการเงินและการลงทุนที่เขาเรียนมาในระดับปริญญาโท นอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้ว เขารู้สึกว่าทำให้เขาหลงทาง เข้าใจผิด ถึงขนาดบอกว่าคนที่เรียนวิชาเหล่านี้จะมีปัญหาที่จะต้องลบล้างสิ่งที่เรียนมา ถ้าต้องการที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุน