วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555

SMEs โมเดลใหม่



SMEs โมเดลใหม่ สู่ยุค "โมบาย ดีไวซ์" ถ้าเข้าใจ ก็ไปต่อ

มีเว็บไซต์ใช้บล็อกขายผ่านอาลีบาบาสำหรับเอสเอ็มอี ดูจะเป็นพื้นฐานที่ผู้ประกอบการต้องรู้อยู่แล้ว ไม่รู้แม้จะไม่ผิดแต่ก็ล้าหลัง ถ้าจะให้อินเทรนด์กว่านี้ การใช้แท็บเลต สมาร์ทโฟน ในการทำธุรกิจ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเริ่มเรียนรู้


สมาร์ทโฟนทำให้ออฟฟิศเล็กลง ทำงานเร็วขึ้น การสื่อสารสั้นกระชับ อาชีพใหม่ ๆ และโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ขณะที่มีการพัฒนาบรรดาสมาร์ทโฟนค่ายต่าง ๆ รวมทั้งบรรดาผู้ที่พัฒนาระบบปฏิบัติการแบบใหม่บนมือถือด้วย

น.ส.ศรัญญา อัศดาชาตรีกุล รองผู้บริหารระดับสูง บริษัท Mobile Technology ในกลุ่มบริษัท I AM Consulting จำกัด แนะนำผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะก้าวสู่การทำธุรกิจผ่านอุปกรณ์โมบายดีไวซ์ เช่น สมาร์ทโฟน หรือแท็บแลต

แองกรีเบิร์ดเข้าใจ "สมาร์ทโฟน"

จะเรียกว่า เข้าใจทั้งไอโฟน แท็บเลต และกลุ่มผู้ใช้เลยก็ว่าได้ เพราะการใช้ระบบทัชสกีน มาเป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจเกม ผู้พัฒนาเกม สามารถที่จะดึงกลุ่มคนที่ไม่ได้เน้นเล่นเกมจริงจัง เข้ามาเล่นเกมได้ ใช้เวลาสั้น แองกรีเบิร์ดมีการขายลิขสิทธิ์ เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย จากการพัฒนาเกม โดยผ่านแอปเปิลสโตร์ของแอปเปิล ซึ่งผู้พัฒนาเกมสามารถที่จะเข้าถึงตลาดของสาวกแอปเปิล ที่มีสมาชิกทั่วโลกภายในเวลาอันรวดเร็ว กว่า 2 ปีที่แองกรีเบิร์ดเริ่มเติบโต จากเกมบนมือถือ ที่ปัจจุบันมีคนดาวน์โหลดแล้วไม่ต่ำกว่า 700 ล้านครั้ง อีกความสำเร็จหนึ่งของคนที่เข้าใจสมาร์ทโฟน

เฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์ พื้น ๆ

สำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ การใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ในการแสดงความมีตัวตน เป็นเรื่องปกติ เช่น การถ่ายรูปสวยของตัวผลิตภัณฑ์ อัพเดตบรรยากาศของรีสอร์ต ส่งขึ้นเฟซบุ๊ก แล้วเกิดการแชร์ต่อไปเรื่อย ๆ ในเครือข่ายของสมาชิกแต่ละคน หมอดูรุ่นใหม่ใช้เฟซบุ๊กให้คำปรึกษากับสมาชิก จากที่เคยใช้สื่อสิ่งพิมพ์ในการสร้างเครือข่ายเป็นเวลาหลายปี แต่เฟซบุ๊กสามารถติดตามผลได้เลย ทวิตเตอร์เองเป็นการพูดคุยอีกช่องทางหนึ่งและบอกข่าวไปสู่เครือข่ายได้ตลอดเวลา

วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

รวม "ที่สุด" ในชีวิตของ "ต๊อบ" วัยรุ่นพันล้าน



ณ เวลานี้ หากใครนึกอยากรับประทาน "สาหร่ายทะเลอบกรอบ" เชื่อว่าหลาย ๆ คนสามารถหลับตาแล้วเห็นภาพ "เถ้าแก่น้อย" ขึ้นมาได้อย่างชัดเจน เพราะนั่นคือยี่ห้อสาหร่ายที่มี "ต๊อบ-อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์" เด็กหนุ่มวัย 20 ต้น ๆ เป็นหัวเรือใหญ่ต่อสู้มาอย่างบากบั่น เริ่มต้นจากธุรกิจเกาลัด ก่อร่างสร้างตัวจนกลายมาเป็นเจ้าของธุรกิจเถ้าแก่น้อยที่ทำยอดขาย 2,000 ล้านบาทในปี 2554 เรียกได้ว่า ติดตลาด และครองใจผู้บริโภคทุกกลุ่มเป้าหมายไปแล้ว
     
       วันนี้ทีมงาน Life & Family ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ชายคนนี้ถึง 5 เรื่องราวความเป็นที่สุดในชีวิตที่ถึงแม้จะใช้เวลาพูดคุยกันเพียงไม่กี่นาที แต่ก็ทำให้เรารู้จัก และเห็นแง่มุมชีวิตของวัยรุ่นพันล้านรายนี้กันได้ดียิ่งขึ้น ส่วน 5 เรื่องความเป็น "ที่สุด" ของเขาจะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามอ่านพร้อม ๆ กันเลยครับ

1. ช้าที่สุด 
       เห็นตี๋ ๆ และดูเรียบร้อยแบบนี้ ลึก ๆ แล้วแสบสันต์ไม่เบาเหมือนกัน ต๊อบเล่าว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากป.6 ขึ้น ม.1 จากเด็กที่เคยใส่แว่น และค่อนข้างใส่ใจการเรียน พอมาเจอเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่ง ทำให้ความคิดของเขาเปลี่ยนไป เขาถอดแว่นออก และไม่สนใจเรียน เพราะรู้สึกว่า เด็กเรียนสาวไม่มอง แต่ถ้าเฮี้ยว ๆ สาวจะมอง และเมื่อมีกลุ่มเพื่อนมากขึ้น ความเฮี้ยวก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย จากที่ไม่เคยโดดเรียน ก็เริ่มโดดเรียน และไปโรงเรียนสายเป็นประจำ ทำให้ผลการเรียนตกลงเรื่อย ๆ และจบม.3 ออกมาด้วยเกรดเฉลี่ย 0.8
     
       นอกจากนี้ เขามักจะให้ความสำคัญกับเพื่อน และผู้หญิงมาก ถ้ามีเงินเขาจะเต็มที่กับเพื่อน และสาว ๆ ของเขา จนคุณครูประจำชั้นเขียนบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรลงในสมุดพกเลยว่า "มนุษยสัมพันธ์ดี พูดเก่ง เถียงเก่ง ไม่ค่อยเรียน ติดผู้หญิง" นับเป็นความซ่าที่อยู่ในใจไม่รู้ลืม
     
       ไม่เพียงเท่านั้น เขาเคยเกือบจะทำให้เพื่อนม. 5 กับรุ่นพี่ม. 6 ยกพวกตีกันด้วยเรื่องผู้หญิงมาแล้ว โดยเรื่องนี้ เขาเล่าย้อนกลับไปว่า ตอนอยู่ม.5 มีสาวคนหนึ่งมาชอบพอกับเขา แต่สาวที่เป็นถึงดาวโรงเรียนคนนั้นกลับมีแฟนอยู่แล้วนั่นก็คือรุ่นพี่ม. 6 จนเรื่องทราบถึงหูรุ่นพี่ และทำให้รุ่นพี่โมโหมาก กระทั่งวันหนึ่งเมื่อเห็นคู่อริ (ต๊อบ) เดินมา รุ่นพี่ไม่รอช้ารีบปรี่เข้าไปหา และกระโดดถีบทันที

วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

การตลาดแบบโดมิโน สร้างข่าวเด่นประหยัดงบโฆษณา


ทรรศนะของผู้บริโภคญี่ปุ่นที่มีต่อพิซซ่านั้น แตกต่างกับของผู้บริโภคอเมริกันที่มองว่าพิซซ่าเป็นของกินที่บริโภคได้บ่อยๆ ได้เรื่อยๆ เหมือนหายใจเข้า-ออก ไม่ต้องรอวาระพิเศษอะไร แต่สำหรับคนญี่ปุ่นที่คุ้นชินกับข้าวและอุด้งมากกว่า พิซซ่านับเป็นของกินเนื่องในโอกาสพิเศษ เช่นวันคริสต์มาสอีฟ ซึ่งสมาชิกครอบครัวนั่งร่วมวงกินอาหารพร้อมหน้ากัน และอาหารพิเศษบนโต๊ะก็คือ พิซซ่าถาดใหญ่ ที่ทุกๆคนในครอบครัวจะได้ร่วมแบ่งปันความอร่อย ในวันพิเศษเช่นนี้ โดมิโน สามารถทำยอดขายได้มากกว่าวันหยุดทั่วไป 3-4 เท่า


เคนจิ อิเคดะ รองประธานฝ่ายการตลาดของโดมิโน พิซซ่า ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ในอดีต คนญี่ปุ่นคุ้นกับไก่ทอดเคเอฟซีมากกว่าพิซซ่า พอถึงวันคริสต์มาสก็จะสั่งไก่เคเอฟซีมากินกับเค้กคริสต์มาส แต่บริษัทก็พยายามทำทุกวิถีทางที่จะให้ผู้บริโภคสั่งพิซซ่ากินกับเค้กคริสต์มาสและไก่เคเอฟซี ซึ่งก็ดูเหมือนสถานการณ์จะเป็นไปในทิศทางบวกสำหรับโดมิโน

นับตั้งแต่ โดมิโน พิซซ่า เชนร้านพิซซ่าสัญชาติอเมริกัน เข้ามาบุกเบิกเปิดสาขาแรกในประเทศญี่ปุ่นในปี 2528 บริษัทสามารถทำส่วนแบ่งตลาดในเซ็กเมนต์พิซซ่าดีลิเวอรี (พิซซ่าส่งนอกสถานที่) ได้ 15% และนับเป็นเชนร้านพิซซ่าอันดับสามในแง่รายได้และจำนวนสาขา รองจากร้านพิซซ่า-แอลเอ (Pizza-LA) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการพิซซ่าดีลิเวอรีของญี่ปุ่นเอง และพิซซ่า ฮัท อย่างไรก็ตาม อัตราเฉลี่ยการบริโภคพิซซ่าของคนญี่ปุ่นยังต่ำมาก คือ 4 ครั้ง/คน/ปี ดังนั้นผู้บริหารของโดมิโนจึงตั้งเป้าบุกหนักกระตุ้นการบริโภคพิซซ่า โดยเฉพาะในปี 2555 นี้ บริษัทตั้งเป้าเอาชนะพิซซ่า ฮัทให้ได้ในแง่รายได้

วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2555

Work 3.0

Work 3.0 รูปแบบการทำงานแห่งโลกอนาคตที่เกิดขึ้นแล้ววันนี้



คำว่า Work 3.0 ผมได้ยินครั้งแรกในเว็บไซต์ Odesk โดย Gary Swart; CEO แห่ง Odesk ได้อธิบายไว้ว่ารูปแบบการทำงานของโลกเราแบ่งออกเป็นสามรูปแบบ คือ Work 1.0, Work 2.0 และ ปัจจุบันคือรูปแบบของ Work 3.0

Work 1.0 เป็นรูปแบบการทำงานสไตล์ดั้งเดิมมีสำนักงาน ทุกคนต้องมาประจำที่ตนเองและทำงานแบบ 9-5 งานหลายอย่างเป็น manual, paper-work และ human base บุคคลากรส่วนใหญ่ต้องอยู่ประจำสำนักงานเพื่อจัดการกับ transaction ต่างๆขององค์กร

Work 2.0 มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขององค์กรกระบวนการทำงานเป็น paperless และมีการพึ่งพาระบบ ITมากขึ้น คนทำงานเริ่มมี dynamic ไม่จำเป็นต้องอยู่ประจำที่ มีการเคลื่อนไหวเดินทางไปพัฒนาธุรกิจนอกสถานที่มากขึ้น การรับส่งข้อมูลข่าวสาร การประมวลผลข้อมูลหรือรายงานสำคัญเชื่อมโยงผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตขององค์กร พนักงานระดับ middle-senior และผู้บริหาร จึงสามารถทำงานสำคัญได้โดยไม่ต้องเข้าสำนักงานใหญ่

Work 3.0 การทำงานแทบจะกลายเป็น no-boundary มีความยืดหยุ่นสูง มีการกระจายงานสู่ professional ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะพนักงานประจำขององค์กร แต่ออกไปสู่ outsource ที่ไม่ต้องอิงกับสถานที่และกาลเวลา งานบางอย่างส่งไปทำยังอีกซีกโลกหนึ่ง งานบางอย่างถูกจัดการผ่านช่วงวันหยุดโดยไม่ขัดต่อกฏหมาย สามารถแชร์ platform การทำงานต่างๆระหว่าง client และ contractor ผ่าน webbase เพื่อ merge ระบบการทำงานเข้าด้วยกัน

การทำงานในรูปแบบของ Work 3.0 จึงถือว่าเป็นโลกแห่งการ outsource/ contract คนทำงานจากภายนอกอาจเรียกอีกอย่างว่า virtual working style เพราะเป็นการทำงานที่ไม่ต้องมาพบปะหน้าค่าตากัน การออเดอร์งาน ตอบรับคำสั่งงาน ส่งมอบชิ้นงาน โอนเงินรับเงิน ฯลฯ กระทำผ่านออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันแม้แต่งานธุรการก็ยังมีรูปแบบ outsource กันแล้วเรียกว่า virtual office administrator โดยอินเดียเป็นประเทศที่รับจ้างเป็น virtual office มากเป็นอันดับต้นๆของโลก

ความสำเร็จของแอปพลิเคชั่น "Draw something"

เมื่อวันเสาร์ที่แล้วเป็นวันเกิดของผู้ชายคนหนึ่งชื่อว่า ชาร์ล ฟอร์แมน


หลายๆคนคงไม่คุ้นเคยกับชื่อนี้ซักเท่าไร

แต่หากบอกว่า เขาเป็นเจ้าของบริษัท OMGPOP เจ้าของแอปพลิเคชั่นชื่อดัง

“draw something” ที่กำลังได้รับความนิยมมากในขณะนี้ หลายๆคนคงจะร้องอ๋อกันเลยทีเดียว....
 
 
ประวัติของชายคนนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากคนหนึ่ง


ฟอร์แมนอายุครบ 32 ปีเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เขาฉลองวันเกิดกับเพื่อนของเขาในนิวยอร์ค

และในวันเดียวกันนั้น แซงก้าได้ตกลงซื้อบริษัทของเขา “OMGPOP”

ด้วยเงินสูงถึง 210 ล้านเหรียญดอลลาร์ ...หรือประมาณห้าพันล้านบาท

หลังจากแอปพลิเคชั่นนี้มียอดการดาว์นโหลดสูงถึง 35 ล้านครั้งภายใน 5 สัปดาห์

แต่...อาทิตย์ที่แล้ว ฟอร์แมนมีเงินในบัญชีเหลือเพียงแค่ 1700 เหรียญดอลลาร์ หรือ ห้าหมื่นกว่าบาทเท่านั้น