วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

คำสาปของผู้ชนะ

"ข่าวดี" ในแวดวงของนักเล่นหุ้นที่พบมากที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือ การที่บริษัท "ชนะ" อะไรบางอย่าง เช่น


 การประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการ ที่ถูกควบคุมโดยหน่วยงานของรัฐ เช่น กิจการโทรคมนาคม การชนะประมูลก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ และการชนะประมูลหรือแข่งขันซื้อกิจการของบริษัทจดทะเบียน เป็นต้น เพราะทุกครั้งที่มี "ข่าวดี" ดังกล่าว นักเล่นหุ้นต่างก็จะเข้าซื้อหุ้นไล่ราคาจนขึ้นไปสูง คนคิดว่าการที่บริษัทชนะการประมูล จะทำให้ผลประกอบการในอนาคตของบริษัทเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

แต่ความเป็นจริง ก็คือ การชนะประมูลนั้น ไม่ได้แปลว่าบริษัทจะต้องมีกำไรเพิ่มในอนาคต การชนะการประมูลนั้น หมายความเพียงว่า บริษัทจะมีโอกาสสร้างรายได้มากขึ้น มีธุรกิจมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า บริษัทจะต้องมีกำไรเพิ่มขึ้น หรือบริษัทจะมีกำไรเพิ่มขึ้นคุ้มค่ากับเงินที่จะต้องลงทุนเพิ่ม

นักวิเคราะห์หุ้นของบริษัทโบรกเกอร์ ก็มักจะมีหลักคิดที่อิงอยู่กับความเชื่อ ที่มี "หลักการอ้างอิง" และเป็น "ประโยชน์" ต่อโบรกเกอร์เองในการกระตุ้นให้คนซื้อขายหุ้น ดังนั้น นักวิเคราะห์ส่วนมาก ก็จะคาดการณ์ผลประกอบการที่จะเพิ่มขึ้นอย่างคนมองโลกในแง่ดี นั่นคือ คาดว่าบริษัทจะมีกำไรเพิ่มขึ้นคุ้มค่า หรือเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตามรายได้ที่จะเพิ่มขึ้น ไม่มีใครบอกว่า การ "ชนะ" การประมูลหรือแข่งขันดังกล่าวเป็นสิ่งที่เลวร้าย และจะทำให้บริษัทขาดทุน หรือจะเป็น "หายนะ" ของบริษัทในอนาคต เหนือสิ่งอื่นใด การที่ "หุ้นวิ่ง" ขึ้นไปทันที จะให้อธิบายได้อย่างไรว่าบริษัทกำลังจะเผชิญกับ "ภัยพิบัติ" จากการชนะประมูล

แต่สำหรับผมเอง การที่บริษัทชนะประมูลหรือชนะในการซื้อกิจการแข่งกับคนอื่น ผมไม่ได้ถือว่ามันเป็นข่าวดีเสมอไป ว่าที่จริงหลายครั้งผมคิดว่ามันเป็น "ข่าวร้าย" ของบริษัท เพราะ "ราคา" ที่บริษัทเสนอที่จะจ่ายให้กับผู้ให้ใบอนุญาต หรือผู้จ้างหรือผู้ขาย "แพงเกินไป" และถ้าเป็นอย่างนั้น การ "ชนะ" และทำให้รายได้ของบริษัทในอนาคตเพิ่มขึ้นก็ไม่เป็นประโยชน์ แต่กลับเป็นโทษเพราะทำให้กำไรต่อหุ้นของบริษัทลดลง หรือในบางครั้งทำให้บริษัทขาดทุน และกลายเป็นหายนะได้ ปรากฏการณ์ที่บริษัท "ชนะ" แต่กลับ "พ่ายแพ้" และเสียหายในภายหลัง เนื่องจากการ "จ่าย" หรือ "ต้นทุน" ที่แพงเกินไปนี้เรียกกันว่า "Winner’s Curse" หรือ "คำสาปของผู้ชนะ"

ผู้ชนะต้อง "คำสาป" ได้อย่างไร สถานการณ์อย่างไรที่มักทำให้ผู้ชนะ "ถูกสาป" ลองมาดูเหตุการณ์สมมติว่ามีกิจการหนึ่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต และมีศักยภาพในการทำกำไรดีแต่การประเมินผลประกอบการในอนาคตก็ไม่แน่นอน ได้ประกาศขายและเปิดให้คนมาประมูลซื้อ ผู้เข้าประมูลมีจำนวนหลายราย แต่ละคนก็ประเมินมูลค่าของกิจการเพื่อเสนอราคาซื้อ และถึงแม้ว่าต่างก็ได้รับข้อมูลเท่าๆ กัน แต่มุมมองและการวิเคราะห์ก็ต่างกัน

ดังนั้น บางคนก็จะให้มูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริง แต่บางคนและน่าจะเป็นส่วนมาก ก็มองโลกในแง่ดีและให้มูลค่าสูงกว่าความเป็นจริง ในที่สุด คนที่เสนอราคาสูงที่สุดก็ชนะ และได้กิจการไปพร้อมกับ "คำสาป" นั่นก็คือ เขาจะเสียหายและประสบกับภัยพิบัติในภายหลังเนื่องจากเขาจ่ายแพงเกินไป ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเขาประเมินรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตสูงเกินไปและ/หรือประมาณการต้นทุนต่ำเกินไป เป็นต้น

ลักษณะของ ผู้ชนะที่จะ "ถูกสาป" นั้น มักเกิดขึ้นกับกิจการที่เปิดขายหรือเปิดประมูลดังนี้ คือ ข้อแรก เป็นกิจการที่มีจำนวนจำกัดแต่มีคนต้องการมาก ข้อสอง กิจการมีความไม่แน่นอนในอนาคตสูงซึ่งทำให้การประเมินผลการดำเนินงานทำได้ยากและไม่แน่นอน ข้อสาม ถ้าการขายเป็นดีลที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวและผู้ขายกับผู้ซื้อไม่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่อง และ สุดท้าย ก็คือ ความ "อยากได้" ของผู้ซื้อหรือผู้เข้าประมูลมีมาก เนื่องจากเหตุผลบางอย่างที่ไม่ใช่เรื่องของธุรกิจล้วนๆ มีสูงกว่าปกติ

ลักษณะทั้งหมดนี้ มักจะทำให้ผู้ชนะ ก็คือ ผู้ที่จ่ายราคาสูงเกินความเป็นจริงไปมาก เพราะเขาอาจจะประเมินราคาผิดพลาด เนื่องจากการมองโลกในแง่ดี หรือมีแรงจูงใจที่อยากจะชนะสูงที่สุด

ข้อสังเกตเพิ่มเติมของผม ก็คือ เนื่องจากการ "ชนะ" ประมูลหรือชนะในการซื้อกิจการ เป็น "ข่าวดี" ที่สำคัญของหุ้นในตลาด ดังนั้น หลายบริษัทโดยเฉพาะที่ผู้บริหาร "เล่น" หุ้นของตนเองด้วย จึงมักมีความโน้มเอียงที่จะเอาชนะในการประมูลหรือซื้อกิจการ เพราะนั่นหมายความว่า หุ้นจะขึ้นและเขาอาจจะได้ประโยชน์ในระยะเวลาอันสั้น และนั่นก็จะนำมาซึ่ง "คำสาป" ที่จะตามมา ซึ่ง Value Investor จะต้องเข้าใจ

ก่อนที่จะจบผมอยากจะย้ำให้เห็นถึงประสบการณ์ Winner’s Curse ว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วมากมายในตลาดหุ้นไทย ทั้งที่ย้อนหลังไปนับสิบๆ ปี และที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ตัวอย่างที่ชัดเจนน่าจะเป็นเรื่องของกิจการโทรคมนาคม ที่บางบริษัทได้ใบอนุญาตทำกิจการซึ่งในช่วงแรกถือเป็นข่าวดี และทำให้หุ้นมีราคาสูงขึ้นไปมาก แต่ในระยะยาวแล้ว กลับมีผลประกอบการที่ย่ำแย่ขาดทุนจนราคาหุ้นตกต่ำลงไปมาก แม้แต่ในเรื่องของการชนะประมูลงานก่อสร้างขนาดใหญ่ของทางราชการเองนั้น หลายครั้งก็ไม่ได้สร้างกำไรให้กับบริษัท

ทั้งๆ ที่ในช่วงประมูลได้นั้น หุ้นก็วิ่งตาม "ข่าวดี" เช่นกัน ประสบการณ์ของการชนะในการซื้อกิจการก็คล้ายๆ กัน ในวันที่บริษัทซื้อกิจการสำเร็จนั้น หุ้นก็วิ่งแรง แต่ภายหลังเมื่อบริหารกิจการนั้นกลับพบว่า กำไรไม่ได้มาตามที่คาด ผลก็คือ หุ้นก็หงอยลง คนที่ซื้อหุ้นในช่วงที่มีข่าวดี และถือยาวในที่สุดก็ขาดทุนย่อยยับ

ดังนั้น สำหรับผมเองที่เน้นการลงทุนระยะยาวแล้ว การที่บริษัท "ชนะ" ในการประมูล หรือการซื้อกิจการนั้น ผมจะต้องวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งว่านั่นเป็นการชนะที่ดี หรือจะเป็นการชนะที่ "ต้องคำสาป" หากว่ามีโอกาสสูงที่จะเป็นอย่างหลัง ผมก็จะไม่ดีใจและอาจจะขายหุ้นโดยเฉพาะถ้าหุ้นขึ้นไปเพราะ "ข่าวดี" ที่เกิดขึ้นในช่วงสั้น




โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR  ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น