วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555

2555 ในเกลียวคลื่น 'E-Book'

เป็นเกลียวคลื่นที่เริ่มถาโถมเข้ามาบ้างแล้วเมื่อปีก่อน สำหรับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์นาม 'e-book' ซึ่งเขย่าวงการหนังสือไทยได้มิใช่น้อย..



..มาถึงปีนี้จะมีอะไรคืบหน้าหรือสร้างความประหลาดใจให้พวกเราได้ประจักษ์กันบ้าง


ณ วันนี้คนในวงการหนังสือคงไม่มีใครกล้าเอ่ยปากว่าไม่เคยได้ยินคำว่า 'e-book' (อีบุ๊ค) เพราะมันได้เข้ามามีบทบาทและแบ่งสัดส่วนตลาดหนังสือทั่วโลกไปมากมายแล้ว โดยเฉพาะฟากฝั่งทวีปอเมริกาและยุโรป e-book แทบกลืนตลาดหนังสือไปทั้งตลาด มิหนำซ้ำยังทวีความนิยมขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

สำหรับประเทศไทยเองกระแส e-book ก็คืบเข้ามาหลายปีแล้ว แม้ช่วงต้นจะแผ่วๆ ทว่าหนึ่งปีที่แล้วกระแส e-book ก็ถูกจุดประกายขึ้นในประเทศไทยและโหมกระพือเยี่ยงไฟลามทุ่งพร้อมๆ กับความนิยมในโทรศัพท์อัจฉริยะ (smart phone) และบรรดาแทบเล็ต (tablet) กระทั่งจบปีกระต่ายด้วยยอดผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ไอทีจำพวกนี้อย่างมหาศาล ที่สำคัญจำนวนสำนักพิมพ์และร้านหนังสือที่กระโดดลงร่วมตลาด e-book ในไทยก็มากขึ้นด้วย อาทิ เจ้าตลาดการ์ตูนไทยอย่างบันลือกรุ๊ป, เอเซียบุ๊คส์, ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ฯลฯ นอกจากนี้แล้วก็ยังมีนิตยสารอีกหลายหัว ที่ขยับปรับตัวไปสู่รูปแบบของ 'e-book'

ปีนี้กระแส e-book จะยังลุกโชนหรือไม่ หรือจะมอดดับเป็นเถ้าธุลี จุดประกายวรรณกรรมยินดีหาคำตอบให้แก่มิตรรักทุกท่าน ผ่านผู้เชี่ยวชาญด้าน e-book อย่าง ดร.พลภัทร์ อุดมผล แห่งบริษัท ไอที เวิร์คส เพื่อคลายความสงสัยและเพื่อความกระจ่างแจ้ง
0 2554 e-book บุกไทย

ดร.พลภัทร์ เปิดเผยว่า กระแส e-book เริ่มต้นจากเมืองฝรั่งโดยเฉพาะแถบอเมริกาเหนือ เมื่อสามปีก่อน (2552) ยอดจำหน่าย e-book เมื่อเทียบกับหนังสือเล่มยังมีเพียง 12 เปอร์เซ็นต์ ทว่าปีถัดมา (2553) ตลาด e-book ก็โตขึ้นหลายเท่า กระทั่งมียอดจำหน่ายแซงเล่มปกแข็ง และเมื่อปีที่แล้ว (2554) e-book ก็ทำเอาวงการหนังสืออเมริกาตะลึงงันด้วยยอดจำหน่ายแซงหนังสือเล่มทั้งปกแข็งและปกอ่อน และแนวโน้มในอนาคตก็ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่

แต่สำหรับเมืองไทย e-book ทำได้เพียงค่อยๆ ซึมซาบเข้ามาในช่วงหลายปีมานี้ จนถึงปีก่อนที่ e-book เติบโตชัดเจน ทั้งนี้ก็ต้องยกความดีให้กับเจ้าพ่อไอที สตีฟ จ็อบส์ ที่ส่ง iPad สู่ตลาดแทบเล็ต

"e-book ไม่ได้เพิ่งมี มีเป็นสิบๆ ปีแล้ว สมัยก่อนเริ่มอ่านกันบนคอมพิวเตอร์ ซึ่งตลาด e-book บนคอมพิวเตอร์เป็นตลาดใหญ่จริงๆ แต่กลายเป็นว่าคนไม่ให้ความนิยมเท่าไรนัก แต่ตลาด e-book ที่โตแบบก้าวกระโดดต้องยกเครดิตให้ iPad จริงๆ iPad เป็นตัวจุดประกายเลยให้คนหันมาให้ความสำคัญเรื่อง digital publishing หรือ e-book มากขึ้น" ดร.พลภัทร์ กล่าว

ด้วยความนิยม iPad ทำให้ตลอดปีกระต่าย ผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีต่างพากันปล่อยของกันยกใหญ่ทั้งโทรศัพท์และแทบเล็ตหวังแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากแอ๊ปเปิ้ล ในแง่ของผู้บริโภคถือเป็นเรื่องดีที่จะมีตัวเลือกเพิ่มขึ้น ทั้งยังช่วยฉุด e-book ให้เป็นที่นิยมพร้อมๆ กันด้วย
 
0 2555 'ช้า' แต่ 'ชัวร์'


และในปีนี้ตลาดอุปกรณ์ไอทีก็ยังเติบโตต่อเนื่อง ดร.พลภัทร์ ถึงกับมองว่าสิ่งที่หวือหวาที่สุดในแวดวง e-book ปีนี้คือบรรดาอุปกรณ์ทั้งหลาย

"ผมว่าคงยังไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นมากมายนัก อาจจะเป็นเรื่องอุปกรณ์อาจจะเปลี่ยน อย่าง iPad 3 เราก็ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร จะมีอะไรเพิ่มขึ้นมาแค่ไหน" เขาคาด "ในปีนี้เองหลายๆ ค่ายมีแผนจะออกอุปกรณ์ อย่างค่ายแอ๊ปเปิ้ลในปีนี้ก็น่าจะมีทั้ง iPhone 5 และ iPad 3 ด้าน Android ก็มีแทบเล็ต Icecream, Sandwich เรียงแถวกันออกมาเลย ไมโครซอฟท์ก็จับมือกับโนเกียออกสมาร์ทโฟนวินโดว์ส จะมีวินโดว์ส 8 ออกมา ปีนี้น่าจะมีการเติบโต การแข่งขันในตลาดแทบเล็ตมาก มันก็จะดึง e-book ขึ้นไปด้วย"

ยิ่งรัฐบาลมีนโยบายแจกแทบเล็ตให้แก่เด็กนักเรียนอีก แง่หนึ่งอาจน่าเป็นห่วง แต่อีกแง่ก็อาจเป็นช่องทางให้เด็กเข้าถึง e-book ง่ายขึ้น...หากได้รับจริงๆ

"ทางภาครัฐก็เห็นความสำคัญ มีนโยบายที่จะแจกแทบเล็ตให้นักเรียน ซึ่งจะทำให้ e-book ได้เผยแพร่ไปอีก"

แม้แต่ผู้มีรายได้น้อยก็มีสิทธิ์อ่าน e-book ได้ เพราะนับวันราคาแทบเล็ตจะถูกลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ไม่กี่พันบาท ด้าน ดร.พลภัทร์ เสริมในฐานะผู้ผลิต e-book ว่าปีนี้จะพัฒนาระบบให้อ่าน e-book ได้บนคอมพิวเตอร์ธรรมดาเพื่อเพิ่มช่องทางเข้าถึง

เมื่อทุกกลุ่มชนชั้นเริ่มเข้าถึงเทคโนโลยีประเภทนี้ได้แล้ว ในไม่ช้าเราอาจเห็นลูกเล็กเด็กแดงจนถึงลุงป้าน้าอาถือแทบเล็ตอ่าน e-book กันจนชินตา แต่คำถามที่ตามมาจากผู้ห่วงใยในวงการหนังสือเล่ม คือ "หนังสือเล่มจะตายหรือไม่ ?"

ดร.พลภัทร์ แสดงทัศนะว่าหนังสือเล่มอาจยังไม่ตายหรือถูกแทนที่ เพราะ e-book จะมาเป็นเพียงตัวเลือกหนึ่งเท่านั้น ที่สำคัญหนังสือกระดาษยังมีเสน่ห์บางอย่างที่ e-book ให้ไม่ได้

"กระดาษก็มีเอกลักษณ์ มีความคลาสสิกของมัน มีคนที่เขายังรักการอ่านหนังสือเล่มกระดาษอยู่ ยอดขายหนังสือเล่มกระดาษคงไม่ลดลง อาจจะเพิ่มขึ้นด้วย แต่คงไม่สูงมาก แต่ e-book จะค่อยๆ โตขึ้นแล้วมันจะโตเร็วกว่าหนังสือเล่ม อัตราการเติบโตมีสิทธิ์แซงหนังสือเล่ม แต่ถามว่าหนังสือเล่มกระดาษจะหายไปไหม ก็คงไม่หายแต่ไม่โตเร็วเท่า e-book"

"ต่อไปมีแนวโน้มว่าหนังสือกระดาษจะกลายเป็นของคลาสสิก ของสะสม มันจะมีบางอย่างที่ e-book มาแทนกระดาษไม่ได้ อย่างรูปถ่าย หนังสือภาพ ซึ่งภาพใหญ่จะเป็นแทบเล็ตไม่ได้ อย่างสีที่แทบเล็ตยังไม่ดีเท่าการพรินท์ offset"

แล้วอะไรที่ทำให้คนส่วนหนึ่งคิดว่า e-book จะเป็นผู้ทำลายหนังสือเล่มกระดาษ ดร.พลภัทร์อธิบายว่าน่าจะเกิดจากความหวาดกลัวไปเองของบรรดาสำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ เพราะเดิมทียอดจำหน่ายหนังสือเล่มคือรายได้หลัก เมื่อเห็นราคาดาวน์โหลด e-book ซึ่งถูกกว่าหนังสือเล่มหลายเท่าตัว จึงขยาดเกรงว่ารายได้ที่เคยมีมากจะลดลง แต่ก็ยังมีหลายสำนักพิมพ์ หลายร้านค้า เริ่มปรับตัวบ้างแล้ว

"ตอนนี้ทุกคนก็ปรับตัวกันหมดแล้ว สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ก็เริ่มผลิตแบบดิจิทัลอย่างจริงจัง และหนังสือกระดาษคงยังไม่ไปไหน แต่ก็ไม่ควรไปกลัวดิจิทัล สำนักพิมพ์ นักเขียน อย่าไปกลัวดิจิทัล มองว่าเป็นช่องทางเพิ่มเติม เป็นโอกาสใหม่ๆ ดีกว่า"

เพราะถ้าหากหยั่งเชิงนานอาจไม่ทันกาลจนต้องพบจุดจบแบบ Borders ร้านหนังสือยักษ์ใหญ่ของอเมริกา...

0 BORDERS : ไม่ปรับ = เจ๊ง

ร้านหนังสือ Borders ซึ่งเป็นร้านหนังสือยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐอเมริกา (ถัดจาก Barnes & Noble) ซึ่งเคยมียอดจำหน่ายถึงหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ที่เมืองแอนอาร์เบอร์ ในรัฐมิชิแกน ต้องประกาศเลิกกิจการและปิดร้านค้าปลีกจำนวน 642 แห่งทั่วสหรัฐฯ และปลดคนงานกว่า 10,000 คน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมปีที่แล้ว

ร้านหนังสือ Borders เริ่มประสบปัญหาด้านยอดจำหน่ายลดลงตั้งแต่ปี 2549 และ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554 ได้ยื่นเรื่องต่อศาลขอรับความคุ้มครอง เพื่อเป็นการฟื้นฟูกิจการ Borders มีหนี้สิน 1,293 ล้านดอลลาร์มีเจ้าหนี้ประมาณ 50 ราย และรายสำคัญๆ ซึ่งส่วนมากเป็นสำนักพิมพ์ ได้แก่ บริษัท Penguin Putman (หนี้สิน 41.2 ล้านดอลลาร์), บริษัท Hachette Book Group (หนี้สิน 36.9 ล้านดอลลาร์), CBS Inc's Simon & Schuster (หนี้สิน 33.8 ล้านดอลลาร์) และ Random House (หนี้สิน 33.5 ล้านดอลลาร์)

Borders พยายามหานักลงทุนเข้ามาช่วยรับภาระหนี้สินโดยเจรจาขายกิจการให้แก่นักลงทุนที่สนใจหลายราย แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ร้านหนังสือ Borders จึงถึงกัลปาวสาน อำลาวงการหนังสือสหรัฐ อย่างถาวร

นักวิเคราะห์ตลาดให้ความเห็นพ้องกันว่า ข้อผิดพลาดของร้าน Borders 3 ประการ คือ

1.การเลิกสัญญาการจำหน่ายหนังสือกับเว็บไซต์ amazon.com ในปี 2550 และ หันไปเปิด e-commerce Website จำหน่ายหนังสือทางออนไลน์ด้วยตนเอง ซึ่งไม่ประสบผลสำเร็จได้เท่าร้าน Barnes & Noble ผู้เริ่มจำหน่ายหนังสือออนไลน์นำร่องมาตั้งแต่ปี 2540

2.ร้านหนังสือ Borders ยังปรับตัวการตลาดตามแนวโน้มตลาดได้เชื่องช้า โดยเฉพาะในเรื่องธุรกิจ e-book ซึ่งได้รับความนิยมมาก ในขณะที่คู่แข่ง Barnes & Noble เปิดตัว electronic device ที่ชื่อ Nook เมื่อปี 2552 และ amazon.com เปิดตัว Kindle ซึ่งทั้งสองรายเป็นผู้นำร่องตลาด e-book

3.ประสบปัญหาการแข่งขันจากร้านค้าผู้นำตลาดค้าปลีก ได้แก่ Wal-Mart, Target และ Costco ซึ่งจำหน่ายหนังสือราคาถูกกว่า หรือให้ส่วนลดมากกว่า

Borders จึงเป็นตัวอย่างอันชัดเจนของร้านหนังสือแบบดั้งเดิมที่ไม่ปรับตัวเข้ากับกระแส e-book ได้ทัน ในขณะที่คู่แข่งอย่าง Barnes & Noble ปรับตัวได้

ประธานกรรมการของ Borders เคยให้สัมภาษณ์ว่า "พยายามเต็มที่แล้ว แต่อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์เปลี่ยนเร็วมาก ประกอบกับกระแสความนิยมใน e-book และวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ ส่งผลให้ธุรกิจ Borders ต้องสิ้นสุดลง"

ด้าน ดร.พลภัทร์ก็เป็นลูกค้าคนหนึ่งของร้านหนังสือดังแห่งนี้ เขาเล่าว่าเมื่อก่อนไปนั่งอ่านหนังสือที่นั่นประจำ การจากไปของ Borders เป็นเรื่องสะเทือนใจสำหรับเขามาก และเขาก็ไม่อยากให้มีสำนักพิมพ์หรือร้านหนังสือแห่งใดต้องปิดตัวลงเช่นนั้นอีก

"ถึงเวลาแล้วครับ มันไม่ใช่เวลากลัวแล้ว โลกมันต้องหมุนไปของมัน เราก็ต้องก้าวให้ทัน มันก็เหมือนยุคฟิล์มกับยุคกล้องดิจิทัล นี่เพิ่งมีข่าวว่าโกดักกำลังจะยื่นคุ้มครองจะล้มละลาย คิดดูว่าโกดักแต่ก่อนเขาใหญ่ขนาดไหน"

ยิ่งในยุคที่พิบัติภัยกลายเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะอุทกภัยที่กลืนหนังสือจากวงการหนังสือไทยไปมหาศาล e-book อาจแก้ปัญหานี้ได้ส่วนหนึ่ง

ดร.พลภัทร์เล่าว่า "มีลูกค้าหลายๆ ที่บ่นว่าเหนื่อยเพราะโกดังถูกน้ำท่วม เขาก็บอกว่าต่อไปทำเป็น e-book ก็ไม่เปียกแล้ว e-book ไม่ต้องมีโกดัง ในแง่คนที่สร้างสรรค์เนื้องาน สำนักพิมพ์ เขามีต้นฉบับอยู่หนึ่งฉบับเท่านั้นแหละบนระบบ ใครจะซื้อก็ดึงจากต้นฉบับนั้น"

ในแง่ผู้อ่านชาวไทย ปีนี้คงถึงเวลาแล้วที่จะหันมาสนใจ e-book อย่างจริงจังสักนิด เพราะปัจจุบันคนทั่วโลกรวมทั้งคนไทยล้วนมีอุปนิสัยอย่างหนึ่งคล้ายคลึงกัน คือ รักสะดวก รักสบาย ซึ่ง e-book ตอบโจทย์นั้นได้

"จริงๆ e-book มีข้อดีอีกอย่างหนึ่ง คือ มันขายความสะดวก มันง่าย อย่างผมถือ iPad มา เท่ากับผมถือหนังสือมาสักพันเล่มสองพันเล่ม ปกติถือสองเล่มก็จะตายแล้ว อาจต้องเลือกสักเล่มที่จะอ่าน หนังสือออกใหม่ก็ซื้ออ่านได้ทันที ไม่ต้องเดินไปร้านหนังสือหรือรอส่งไปรษณีย์"

แม้พฤติกรรมผู้อ่านจะเปลี่ยนแปลงกันไม่ได้ง่ายๆ แต่หากมองว่าเรากำลังอยู่ในยุคที่เด็กไม่กี่ขวบใช้แทบเล็ต แล้วอีก 10-20 ปีละ e-book จะสำคัญขนาดไหน
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น