วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555

“ควิกเฟรม” ธุรกิจของคนช่างคิด

เวที ตู้โชว์ โต๊ะ เก้าอี้ บันได และสารพัดของใช้ “พับได้”กระทั่ง เวทียกรถหนีน้ำ ผลงานของควิกเฟรม ผู้ผลิตสินค้านวัตกรรม ไม่เล่นในตลาด Me too



“เราจะมีสินค้าใหม่ออกมาอยู่เรื่อยๆ เรียกว่าออกแบบใหม่แทบทุกปี โดยอาศัยประสบการณ์และมองลึกเข้าไปถึงปัญหาของลูกค้า และโอกาสที่เขาจะได้รับจากสินค้าที่เราคิดขึ้น สำหรับผมการออกแบบจะคิดแค่เรื่องความสวยงามไม่ได้ แต่ต้องแก้ปัญหา และสร้างโอกาสให้กับลูกค้าได้ด้วย”

เสียงสะท้อนจาก "วัชรสิทธิ์ ทรงวัฒนโยธิน" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ควิกเฟรม ซิสเต็มส์ จำกัด หรือที่คน ควิกเฟรมเรียกกันติดปากว่า “เฮีย”

เขาไม่ได้เป็นผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ หรือของแต่งบ้านมีดีไซน์ ที่ต้องขยันพัฒนา “ของใหม่” เพื่อป้อนตลาด แต่ คือผู้ผลิตสินค้าสนองการจัดงานอีเวนท์ ผู้สร้างสรรค์ เพื่อแก้ปัญหาให้ลูกค้าและหาจุดยืนที่แตกต่างให้กับธุรกิจพันธุ์เล็กของเขา

"เวทีพับได้" มาพร้อมกับบันได โต๊ะ เก้าอี้ ตู้โชว์ เคาน์เตอร์ และหลากหลายของจัดกิจกรรมที่สามารถพับเก็บได้ง่ายดาย เบาแรงเมื่อขนย้าย และสะดวกสบายเมื่อจัดเก็บ นี่เป็นเพียงผลงานบางส่วนของผู้ประกอบการนักคิด และไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาเลือกใช้พลังสมองขับเคลื่อนธุรกิจ

สำหรับ "วัชรสิทธิ์” ตั้งแต่วันแรกของการเริ่มต้นธุรกิจ เขาก็คิดไม่เหมือนคนอื่นแล้ว

“ตั้งแต่เกิดมาผมไม่เคยเป็นลูกจ้างใคร ผมเริ่มจากศูนย์ และทำทุกอย่างขึ้นมาด้วยตัวเอง”
เขาย้อนเล่าถึงวันเริ่มต้นเดินเข้าสู่ถนนผู้ประกอบการ เมื่อ 32 ปีที่ผ่านมา วัชรสิทธิ์ไม่ใช่นักออกแบบ ไม่ใช่วิศวกร ไม่ได้เรียนจบมาจากเมืองนอกเมืองนา ภูมิรู้ที่ติดตัวเขาจากรั้วการศึกษา คือ โรงเรียนสารพัดช่าง จบมาทางสายพาณิชย์ และชอบเครื่องเสียง จึงเริ่มจากทำเครื่องเสียงขนาดเล็กขาย ในยุคที่ตลาดมีแต่ของใหญ่ๆ โดยอาศัย “ก๊อบปี้” คนอื่นเขา นั่นดูจะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต ที่เขาบอกกับตัวเองว่า ต้องทำเหมือนคนอื่น

พัฒนาเครื่องเสียงมาได้ แต่ติดปัญหาหม้อแปลงในเครื่องเสียงยังคุณภาพ “ไม่ได้ดั่งใจ” ทำให้คุณภาพเสียงที่ออกมาไม่ดีตามไปด้วย เป้าหมายต่อไปของเขาคือต้องเรียนรู้ เพื่อพัฒนาและแก้ปัญหา เริ่มจากรื้อหม้อแปลงมาศึกษาดู จนสามารถซ่อมและแก้ไขหม้อแปลงได้ด้วยตัวเอง

เด็ดไปกว่านั้นสำหรับคนไม่มีทุนความรู้ คือ "การศึกษาด้วยตัวเอง" จนสามารถทำหม้อแปลงคำนวณได้สำเร็จ

“สมัยก่อนไม่มีช่องทางให้เรียนรู้เลย ผมจึงไปซื้อหนังสือคำนวณหม้อแปลงซึ่งเป็นภาษาอังกฤษทั้งเล่มมาศึกษา ซึ่งความรู้ภาษาก็มีแค่หางอึ่ง เลยอ่านอยู่ตั้ง 2 ปี ติดก็เปิดศัพท์ จนในที่สุดก็ตีโจทย์แตก สามารถทำหม้อแปลงคำนวณได้ และทำเครื่องเสียงคุณภาพค่อนข้างดีออกมาได้สำเร็จ”

ผลผลิตของความพยายาม ทำให้เวลาสองปีไม่สูญเปล่า แต่นักคิดอย่างเขาหรือจะหยุดเพียงแค่นั้น เมื่อตลาดเริ่มมีผู้เล่นมากขึ้น ใครก็ทำเหมือนเขาได้ จะอยู่ที่เดิมไปก็เสียเวลา เสียโอกาส เลยถอยมาทำอย่างอื่นสบายใจกว่า

ความช่างสังเกตทำให้วัชรสิทธิ์พบกับกล่องใส่เครื่องดนตรี ที่จะเซฟเครื่องดนตรีราคาแพงให้ปลอดภัยจากการถูกกระแทกขณะขนย้าย สมัยก่อนเมืองไทยไม่มีผลิต เมืองนอกก็ขายกันหลักหมื่นบาท เขาเลยลงทุนสั่งจากนอกมาศึกษาดู

“ตอนนั้นยังหนุ่มอยู่ เรียกว่า "หมูไม่กลัวน้ำร้อน" เห็นโอกาสก็ตัดสินใจทำทันที เงินก็ไม่ค่อยมี แต่ก็เอาล่ะ ลองผิดลองถูก ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา จนกระทั่งทำได้สำเร็จ ซึ่งเราเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย ณ เวลานั้น ที่ทำของพวกนี้”

แต่ที่น่าเศร้าและดูจะเป็นบทเรียนให้กับเขาในตอนนั้นคือ การทำของใหม่มาก่อนความต้องการตลาดอาจต้องออกแรงกันมาก ต้องเหนื่อยกับการง้อขอให้คนอื่นมาซื้อ

“สมัยนั้นเมืองไทยยังใช้ไม่เป็น เอาไปให้ร้านค้าที่ขายเครื่องดนตรีเขาก็ไม่รู้จัก เรียกว่าง้อให้ซื้อก็ยังไม่ซื้อเลย จนวันหนึ่งวงรอยัล สไปรท์ส ไปเล่นดนตรีที่เมืองนอก พอกลับมาไทยก็หิ้วกล่องพวกนี้กลับมาด้วย ตลาดเริ่มเห็น เกิดความต้องการขึ้นทันที และพอรู้ว่าเราทำแบบนี้ที่เมืองไทยได้ ก็กลับมาซื้อ เราจึงเป็นที่รู้จักขึ้นมาตั้งแต่ตอนนั้น”

พอกระพือตลาดให้เกิด ผลที่ตามมาคือ รายใหญ่เห็นโอกาสก็เข้ามาเล่นบ้าง “งานเข้า” ล่ะทีนี้ แม้ธุรกิจจะยังได้รับการตอบรับดี ในฐานะเจ้าแรกและตัวจริง แต่จะมารอ “กินบุญเก่า” ธุรกิจก็คงไปได้ไม่ถึงไหน ที่มาของการคิดขยายไปหาสิ่งใหม่ๆ อีกครั้ง

ของใหม่มาจากการช่างสังเกต เวลาที่ต้องไปออกงานแสดงสินค้า เขาพบว่า คนที่จัดอีเวนท์ จัดคอนเสิร์ต งานแสดงสินค้า และสารพัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ต้องชาชินกับการแบกของวุ่นวาย เรียกว่าจัดบูธ จัดงานแต่ละครั้งรถ 10 ล้อก็เอาไม่อยู่ เลยมาคิดการทำอุปกรณ์ต่างๆ ให้พับเก็บได้ เพื่อช่วยเบาแรง ประหยัดค่าขนส่ง และช่วยให้คนทำงานมีความสุขเพิ่มขึ้น

ก่อนขยายมารับทำงานพิมพ์ และออกแบบดีไซน์ตามใจสั่ง เพื่อให้บริการครอบคลุม เรียกว่ามาที่เดียวก็ “เอาอยู่”

และดูจะ “เอาอยู่” จริงๆ เมื่อช่วงน้ำท่วม เพราะเขาปิ๊งไอเดีย ทำ “เวทียกรถหนีน้ำ” ที่พัฒนามาจากเวทีโชว์รถซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีของลูกค้ามอเตอร์โชว์ในประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย มีการอัดโฟมรองฐานเวที เพื่อที่เมื่อน้ำมาเกินส่วนสูงของเวที รถจะถูกยกตัวขึ้นและปลอดภัยจากน้องน้ำ แม้ไม่ได้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

แต่งานนี้ก็ทำให้ทุกคนรู้จัก “ควิกเฟรม” มากขึ้น

ทุกครั้งที่คิดของใหม่ และเป็นไอเดียซึ่งกลั่นจากมันสมอง “วัชรสิทธิ์” จะไปจดสิทธิบัตรไว้ทุกครั้ง เขาพูดออกแนวขำๆ ว่าสำหรับเมืองไทยมักไม่แคร์เรื่องมันสมองคนทำงาน จดไปก็ใช่ว่าจะห้ามไม่ให้ใครลอกเลียนแบบได้ และจะฟ้องได้หรือเปล่าก็ยังไม่รู้ แต่ที่จดก็แค่ “เพื่อไม่ให้คนก๊อบปี้เรา มาห้ามเราทำ"

“วัชรสิทธิ์” บอกว่าการจดสิทธิบัตรสำหรับเขาก็คือ “การให้เกียรติตัวเอง” เพราะต้องยอมรับว่าบ้านเราความสำนึกในเรื่องนี้ยังไม่มากพอ ยังไม่คิดว่าการออกแบบทุกชิ้น จากพลังสมองของใครสักคน มันมีต้นทุน และเป็นต้นทุนที่ไม่ถูกด้วย แต่บ่อยครั้งที่พบว่าการลงทุนทางความคิด ที่สูญเสียเงินและเวลาไปมหาศาลกลับต้องมาเซ็งจิตเพราะถูกก๊อบปี้ ตั้งแต่วันที่ยังไม่เริ่มขาย

“เราเป็นประเทศเล็ก จะมาแข่งด้วยการลอกเลียนแบบ ก็สู้ประเทศอื่นไม่ได้ อีกหน่อยจีนเข้ามา อินเดียเข้ามา ประเทศที่ต้นทุนถูกกว่าเข้ามา แล้วเราจะเอาอะไรไปสู้กับเขา สิ่งที่เราต้องทำคือพยายามพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ อย่าอยู่เฉย อย่าวิ่งตามคนอื่น อย่างน้อยเราจะยังมีโอกาส และมีอนาคต ถ้าเราไม่ลอกเลียนแบบเขา”

สำหรับนักคิด คนที่เลือกวิถีเดียวกันบอกเราว่า ให้มุ่งมั่นใช้จินตนาการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ต่อไป การมีคู่แข่งไม่ใช่เรื่องน่าเกลียด พูดกันตามตรง “คู่แข่ง” คือสิ่งที่ดีสำหรับธุรกิจด้วยซ้ำ เพราะจะทำให้ทุกคนได้พัฒนาตัวเอง แต่ขอเพียงให้ต่อสู้กันด้วยปัญญา แข่งกันที่ความสามารถ ไม่ใช่การลอกเลียนแบบ แล้ววันนั้นความสำเร็จก็จะเดินทางมาสู่ธุรกิจของทุกคนได้เอง

ผู้บริหารที่ยังดูหนุ่มแน่น แต่ขับเคลื่อนธุรกิจมานานกว่า 3 ทศวรรษ ในวันนี้เขาเตรียมส่งมอบกิจการให้ทายาทมาสานต่อ โดยขยับออกมาเป็นคนออกแบบสินค้าใหม่ๆ งานที่เขาชอบ ส่วนการบริหารและคุมเกมธุรกิจก็เริ่มส่งมอบให้กับลูกชาย โจลิน-พิษณุวัชร์ ทรงวัฒนโยธิน ที่หลายคนอาจคุ้นตากับบทบาท นายแบบและพิธีกรหนุ่ม ขณะที่ลูกสาวก็เข้ามาช่วยงานบริษัทแล้วก่อนหน้านี้

“ความสำเร็จในชีวิตผม คือ เมื่อถึงอายุ 60 และเริ่มปล่อยมือจากทุกอย่าง แล้วผมมีความสุขกับชีวิตไหม สิ่งที่สร้างมากับมือ เมื่อมองกลับไปแล้วภูมิใจไหม ถ้าภูมิใจ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว คิดเท่านี้ก็พอ เส้นทางของแต่ละคนเป็นเหมือนบันไดพาด มันจะยาวไกลแค่ไหนเราคงบอกไม่ได้ แต่ก็ต้องเดินไปเรื่อยๆ เพียงแต่ขอให้เดินขึ้น อย่าเดินลงเท่านั้น”

ผู้บริหารนักคิด จบเรื่องเล่าแห่งความสำเร็จ ด้วยวิธีคิด “เดินหน้า” แล้วต้องไม่ “ถอยหลัง”
.............................................................

Key to success

สูตรสำเร็จธุรกิจนักคิด “ควิกเฟรม”

๐ ช่างสังเกต หาช่องว่างตลาด

๐ ไม่เล่นตลาด Me too

๐ คิดของใหม่แก้ไขปัญหาให้ลูกค้า

๐ ความรู้เกิดจากการลองผิด ลองถูก

๐ ไม่กลัวคู่แข่ง ขยับหนีด้วยนวัตกรรม

๐ จดสิทธิบัตรในสิ่งที่คิด เพื่อให้เกียรติตัวเอง

๐ ชีวิตเหมือนบันได ก้าวขึ้นได้แต่อย่าก้าวลง

..............................................

จาก กรุงเทพธุรกิจ 25 มค. 2555 http://bit.ly/zgFIbQ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น