วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555

พลังใหม่ "โซเชียลเน็ตเวิร์ก" สร้างแบรนด์สร้างโอกาสธุรกิจ

องค์กรปัจจุบันตื่นตัวนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารการตลาดมากขึ้นมาก ปรากฏการณ์หลายต่อหลายครั้งในสังคมออนไลน์ "โซเชียลเน็ตเวิร์ก" ทำให้หลายองค์กรเห็นความสำคัญของ "สื่อสังคมออนไลน์" มากขึ้นด้วย


จำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละวัน ทำให้โอกาสทางธุรกิจสูงขึ้นเช่นกัน อีกเหตุผลสำคัญคือ "ฟรี" ทำให้ "การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กกับการบริหารงานยุคใหม่" อยู่ในความสนใจ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ "ประชาชาติธุรกิจ" ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการสัมมนาในหัวข้อดังกล่าว


"ดร.ศิริกุล เลากัยกุล" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท Brandbeing Consultant จำกัด พูดถึงการสร้างแบรนด์ในยุคที่ "โซเชียลเน็ตเวิร์ก" มีอิทธิพลขับเคลื่อนการตลาดว่า ควรนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อส่งเสริมการตลาด อย่างแรกคือ Co-Creation มีจุดมุ่งหมายให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการสร้างแบรนด์ เพราะการทำให้ฝ่ายวิจัยและพัฒนาขององค์กรแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริโภคโดยตรง ทำให้สินค้าหรือบริการของบริษัทพัฒนาไปในทางที่ลูกค้าต้องการ

ขั้นตอนนี้ทำผ่านโซเซียลเน็ตเวิร์กได้ เช่น จัดกิจกรรมในเฟซบุ๊กให้ลูกค้าร่วมออกแบบเสื้อแลกรางวัล โดยดูจากคนในแฟนเพจที่กดไลก์ ซึ่งบริษัทพอที่จะการันตี ได้ว่าคนที่กดไลก์น่าจะซื้อผลิตภัณฑ์

ถัดมาคือ Gamification เพราะเกมส่งผลถึงจิตวิทยาของผู้บริโภคได้ โดยอาจสอดแทรกข้อมูลผลิตภัณฑ์ขององค์กร เพื่อให้ลูกค้ารับรู้ผ่านเกม แต่ตัวเกมต้องไม่ยากหรือง่ายเกินไป เพื่อให้ผู้เล่นติดและสนุก รวมถึงต้องอัพเดตให้เกมมีฟังก์ชั่นใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นตลอดเวลา นอกจากการให้ข้อมูลสินค้าแล้ว ยังประยุกต์ใช้เพื่อ CSR ขององค์กรได้ด้วย เช่น การปลูกต้นไม้ในเกม

"หลังทำทั้งสองส่วนนี้สำเร็จแล้วจะได้กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นปากเป็นเสียงให้องค์กรได้ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าแฟนหรือสาวก กลุ่มนี้นอกจากจะใช้ผลิตภัณฑ์เราแล้วยังช่วยปกป้อง รวมทั้งส่งเสริมแบรนด์ให้ด้วย"

ด้านนักการตลาดและผู้เชี่ยวชาญกลยุทธ์ธุรกิจ "ธันยวัชร์ ไชยตระกูลไชย" กล่าวว่า การตลาดผ่าน "โซเชียลเน็ตเวิร์ก" จะไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่ทุกองค์กรทั้งเล็กและใหญ่จำเป็นต้องทำ เพราะผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โอกาสทางการตลาดจึงเพิ่มขึ้นตาม แต่ "ซีอีโอ" ส่วนใหญ่เกิดในยุค Baby Boomer อาจไม่สะดวกที่จะวางแผนเอง ดังนั้นต้องใช้เด็กรุ่นใหม่ (Generation Y) ช่วยวางแผน

"ผู้บริหารทั้งหลายเป็นคนยุคเก่า อาจไม่คุ้นเคยกับการใช้อินเทอร์เน็ต ดังนั้นเหล่า Gen Y จึงมีส่วนร่วมในการทำตลาดมาก เพราะคุ้นเคยกับการใช้

อินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทำให้เมื่อต้องการคำปรึกษาเรื่องนี้ Gen Y คือคำตอบที่ดีที่สุด เช่น กรณีของ

ผู้ปกครองที่เกิดในยุค Baby Boomer ถามลูกที่เกิดในยุค Gen Y ว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กคืออะไร จะได้คำตอบชัดเจน แต่ทั้งนี้อยู่ที่ผู้ปกครองพร้อมจะเรียนรู้และเข้าใจหรือไม่"

ทั้งโซเชียลเน็ตเวิร์กยังมีพลังในการสนับสนุนด้าน CSR ค่อนข้างมาก เช่น หากทำความดี แต่ไม่มีใครเห็น องค์กรของเราก็จะไม่เป็นที่จดจำ แต่หากทำดี แล้วนำไปแชร์ในเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ขององค์กร การรับรู้ของประชาชนจะมีมากขึ้น ส่งผลต่อภาพลักษณ์เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้โซเชียลเน็ตเวิร์กจะมีอิทธิพลต่อการทำตลาดให้องค์กร แต่สื่อโฆษณาทางโทรทัศน์จะไม่มีทางหายไปอย่างแน่นอน เพราะยังเข้าถึงผู้บริโภคที่ไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตได้ และกลุ่มนี้ยังมีอยู่มากในประเทศไทย

"ธันยวัชร์" ย้ำว่า การเรียนรู้เรื่องการตลาดผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก จำเป็นต่อการทำธุรกิจในปัจจุบันและในอนาคตอย่างแน่นอน

สำหรับ "ชีพธรรม คำวิเศษณ์"

ผู้อำนวยการหลักสูตร Social Media for PR กล่าวว่า การรับสมัครงานในองค์กรต่าง ๆ ควรคัดเลือกบุคลากรจากความสามารถด้านโซเชียลเน็ตเวิร์กด้วย ซึ่งขั้นตอนนี้ทำได้ผ่าน www.klout.com เว็บไซต์นี้จะช่วยประเมินความสามารถด้านโซเชียลเน็ตเวิร์กผ่านคะแนน หากจะรับสมัครบุคลากรด้านทวิตเตอร์ ควรมีคะแนนตั้งแต่ 250 ขึ้นไป การได้คนที่มีความสามารถด้านนี้ ทำให้ประสิทธิภาพด้านการประชาสัมพันธ์เพิ่มขึ้นเท่าตัว

"การทำประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียล เน็ตเวิร์กนั้น ทำให้องค์กรเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศหรือทั่วโลก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของเราว่าจะทำให้สำเร็จถึงขั้นนั้นได้หรือไม่ เพราะจำนวนผู้ใช้

โซเชียลเน็ตเวิร์กตอนนี้มีเยอะมาก หากประชาสัมพันธ์ดี อาจสร้างภาพลักษณ์ รวมถึงทำให้องค์กรเป็นที่รู้จักมากขึ้นอีกด้วย"

ตัวอย่างเช่น การใช้ทวิตเตอร์เพื่อให้ตลาดรู้จักองค์กรของเราทำได้ง่าย โดยอาศัยการไปเป็นผู้ติดตาม (Following) ดารา หรือนักข่าวที่มีผู้ติดตาม (Follower) เยอะ เช่น คุณสุทธิชัย หยุ่น หรือคุณวู้ดดี้ ทั้งคู่มีผู้ติดตามเป็นแสนคน ยิ่งเยอะเท่าไร โอกาสทางการประชาสัมพันธ์ขององค์กรจะมากขึ้นเท่านั้น

หากเราส่งข้อความประชาสัมพันธ์ให้คนที่มีผู้ติดตามเยอะ แล้วเขาส่งข้อความอีกครั้ง (Retweet) คนเป็นหมื่นเป็นแสนจะเห็นข้อความที่เราส่งไป แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการเขียน หรือการใช้ไหวพริบในการส่งข้อความ เพราะบุคคลเหล่านั้นจะเลือกส่งข้อความเฉพาะสิ่งที่น่าสนใจเท่านั้น

ฟังผู้ปฏิบัติจริงบ้าง "ศีลวัต สันติวิสัฎฐ์" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจลูกค้าบุคคล และเครือข่ายบริการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า หลังนำโซเชียลเน็ตเวิร์กมาใช้สร้างแบรนด์จริงจัง โดยใช้บุคลากรภายในบริษัท ส่งผลให้องค์กรมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงการวิเคราะห์ผู้บริโภคทำได้ง่ายและประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย เพราะสามารถรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไรผ่านหน้าแฟนเพจบนเฟซบุ๊ก

"ตัวแฟนเพจบนเฟซบุ๊ก KBank Live ประสบความสำเร็จอย่างดี ทั้งที่ตอนแรกแค่จะสร้างเพื่อติดต่อกับลูกค้า แต่ตอนนี้พัฒนาไปมาก ทั้งการตอบคำถามด้านการเงิน, การจัดกิจกรรมร่วมสนุก รวมถึงเกมบนเว็บไซต์ สาเหตุที่พัฒนาไปไกลขนาดนี้ เพราะเล็งเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจในโซเชียลเน็ตเวิร์กที่มีช่องว่างอยู่มาก หากเข้าไปเติมเต็ม และลูกค้าใช้ประโยชน์ได้ นอกจากจะเพิ่มภาพลักษณ์ทางธุรกิจแล้ว ยังได้ประโยชน์ด้านการตลาดด้วย"

แต่สิ่งที่จะลืมไม่ได้ คือต้องมั่นใจด้วยว่า ผลิตภัณฑ์ของเรามีคุณภาพ เพราะพลังในโซเชียลเน็ตเวิร์กมีมหาศาล หากทำอะไรไม่ดี เช่น โฆษณาเกินจริง หรือไม่ปฏิบัติตามสัญญา จะส่งผลลบมากไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะในโลกจริง หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก

"ดร.ณัฐวุฒิ ศาสตราวาหะ" ผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ โทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เพื่อให้ความสามารถในการสร้างแบรนด์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กดีขึ้น ทีโอทีเตรียมจะพัฒนาระบบให้ดีขึ้น โดยระบบสื่อสารไร้สายต่าง ๆ จะก้าวไปสู่ยุค 4G LTE เพื่อเพิ่มความเร็วมากขึ้น ขณะที่ฟิกซ์ไลน์จะพัฒนาให้เป็นระบบ "Fiber to Home" ทำให้ความเร็วเพิ่มขึ้นจากไฮสปีดเดิมหลายเท่า

"ความเร็วเป็นจุดสำคัญที่จะเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ทำให้ผู้ใช้งานเยอะขึ้น ทั้งผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือจากบ้าน ทำให้การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กมีประสิทธิภาพมากขึ้นตาม"

"โซเชียลเน็ตเวิร์ก" จึงเป็นเครื่องมือสร้างแบรนด์และสื่อสารการตลาด ที่แต่ละองค์กรไม่สมควรมองข้าม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น