วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

โลกยุค 3.0 ปลุกกระแส Faith Marketing



โลกเปลี่ยนเร็ว แข่งขันสูง ทุกข์มาก ต้องการที่พึ่ง ส่งให้ "การตลาดความศรัทธา"เกิดขึ้นหลากอีเวนท์ สนองจริตของผู้คน นี่คือปรากฎการณ์ วันนี้

พุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นผ่านกาลเวลานับพันปี ในหลากหลายนิกายและลัทธิความเชื่อของผู้ถ่ายทอด บนเป้าหมายเดียวกันคือ การมุ่งหาหนทางแห่งการดับทุกข์


ทว่าภายใต้บริบทของโลก (สังคม เศรษฐกิจ ธุรกิจ ภัยธรรมชาติ ฯลฯ) ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ในโลกยุค 3.0 การหา "ที่ยืน" ในสังคมเป็นเรื่องยากกว่าเดิม จากการแข่งขัน (แก่งแย่ง) ที่มีมากขึ้น ภายใต้ทรัพยากรที่มีจำกัด   สิ่งเหล่านี้ทำให้ "คนทุกข์มากขึ้น" !!!

สิ่งที่เห็นในไทย "ธรรมะ" กลายเป็นหนทางเยียวยาจิตใจยอดฮิต สังเกตจากผู้คนในปัจจุบัน ที่หันหน้าเข้าหาวัด หรือ สถานปฏิบัติธรรม กันมากขึ้น ผ่านการส่งสารอธิบายหรือแปลความธรรมะในหลากหลายกิจกรรม (อีเวนท์) ขึ้นอยู่กับจริตของผู้คนในระดับปัจเจก ที่มักจะล้อไปกับความก้าวล้ำของเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนในสังคม (บางส่วน) ให้ "อดทนต่ำ" ลง

นักการตลาดเรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า "การตลาดบนความศรัทธา" (Faith Marketing)

กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฉายภาพความศรัทธาที่ถูกสื่อสารผ่าน "กิจกรรม" ด้วยหลากวิธีการนำเสนอ (Presentation) "แบบไม่มีผิด ไม่มีถูก" เหมือนอาหารที่ใครชอบแบบไหนก็เสพแบบนั้น ภายใต้ผลลัพธ์เดียวกัน คือ การเยียวยาจิตใจผู้คน (รู้สึกอิ่ม มีความสุขที่ได้เสพ)


ถือเป็นการปรับรูปแบบการนำเสนอธรรมะ ให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้คนในสังคมที่เปลี่ยนไป !

จริตของผู้คนที่ชอบ "ความเร็ว" ในแบบฉบับไฮสปีด ธรรมะต้อง"เข้าถึงง่าย"เมื่อคิดว่าตัวเองมีทุกข์ และแปลงความทุกข์เป็นเรื่องของกรรมเก่า ก็ต้อง "ตัดกรรม แก้กรรม สแกนกรรม ดีลีทกรรม" ในทางการตลาดนี่คือหนึ่งในโปรดักท์ที่ถูกนำเสนอให้เข้ากับจริตผู้คน แถมกระแสยังแรง สังเกตจากหนังสือที่มีเนื้อหาเหล่านั้น มักจะติดเบสท์เซลเลอร์

“สตีฟ จ็อบส์ ตายแล้วไปไหน ?" กิจกรรมของสำนักปฏิบัติธรรมสำนักหนึ่ง ที่ใช้เทคโนโลยีแอนิเมชันเสมือนจริง จำลองให้เห็นภาพชีวิตหลังความตายของสตีฟ จ็อบส์ ซีอีโอ Apple ว่าไปเกิดเป็น "ภุมมะเทวาสายวิทยาธรกึ่งยักษ์” สร้างความตื่นตะลึงบนโลกไซเบอร์ไม่น้อย ถือเป็นกระบวนการสร้าง "กิมมิก" ผ่านเซเลบคนดังระดับโลก ที่เป็นไอดอลของคนหลายสิบล้านคนทั่วโลก

นักการตลาดรายหนึ่งวิเคราะห์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่อาจวิจารณ์ได้ว่า "ถูกหรือผิด" เพราะศาสนาและความเชื่อเป็นคำตอบทางจิตใจของมนุษย์ ที่แตกต่างกัน ต้องการค้นหาคำตอบให้กับชีวิตแตกต่างกัน คำตอบนั้นไม่จำเป็นต้องถูกเสมอไป แต่ขอให้ทำแล้วรู้สึกมีความสุข มีจิตใจที่สงบลงได้นั่นคือเป้าหมาย

ด้าน ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า กระแสสังคมในปัจจุบันเริ่มหันกลับมาสนใจศาสนาและความเชื่อเพิ่มขึ้น เป็นปรากฏการณ์สะท้อนให้เห็นว่า สังคมสับสนวุ่นวาย เกิดภาวะแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ

เมื่อเป็นเช่นนี้ "คนแพ้ หรือคนผิดหวัง ก็ย่อมมากขึ้นเป็นธรรมดา"

กลุ่มคนกลุ่มนี้ อีกภาคหนึ่งจึงต้องการแสวงหาคำตอบทางจิตใจ ให้พ้นจากทุกข์ (เพราะแพ้ เพราะผิดหวัง)

"สินค้าตอบสนองความสุขได้เฉพาะร่างกายภายนอก แต่ทางจิตใจคนยังต้องการโปรดักท์ที่ใช่ให้กับตัวเอง" เขาวิเคราะห์

โดยฟันธงลงไปว่า การตลาดบนความศรัทธาและความเชื่อ เป็นการตอบโจทย์ทางจิตวิญญาณของมนุษย์ (Human Spirit) ซึ่งแสวงหาความต้องการนอกเหนือจากปัจจัยสี่

“คนยังต้องการหาคำตอบ อธิบายความสงสัยในตัวเองในความต้องการที่แตกต่างกันออกไป หากพบแนวทางที่ใช่สำหรับตัวเอง ก็จะเกิดเป็นความศรัทธา ความเชื่อ จน "ผูกติดกับแบรนด์" เช่น เราตั้งคำถามว่าทำไมฉันเกิดมาไม่สวย หากไปพบวิถีทางหนึ่งบอกว่าเป็นเพราะกรรมเก่าก็จบ เขาก็จะมีความสุขที่หาเหตุผลให้กับตัวเองได้ คำตอบนั้นไม่มีถูกหรือผิด แต่ถูกใจเจ้าตัวเป็นพอ” เขาอธิบาย

ดร.วิเลิศ ยังบอกด้วยว่า ศาสนาและความเชื่อบางครั้งเป็นอารมณ์และความต้องการที่แตกต่างกัน จึงได้เกิดเป็นสำนักปฏิบัติธรรมและองค์กรศาสนาเกิดขึ้นมากมายเพื่อเป็น "ทางเลือก" ให้กับผู้คน รองรับความต่างในแต่ละเซ็กเมนท์ของความต้องการทางจิตใจ

"บางคนชอบแอร์เมส ก็ชอบเฉพาะแบรนด์นี้ เหมือนกับการปฏิบัติธรรมที่รู้สึกดีกับสำนักฯนี้ ปฏิบัติแล้วมีความสุข สงบตอบโจทย์ชีวิตของตัวเองได้ เขาก็เลือกแบรนด์นั้น ศรัทธาแบรนด์นั้น" เขาเล่า

รสนิยมความศรัทธาที่แตกต่างกัน จึงไม่ต่างจากการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือเป็นสาวกของแบรนด์ใดสักแบรนด์ !

เขายังเชื่อว่า "มูลค่าตลาดความเชื่อ" จัดเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงมากโดยเฉพาะในสังคมไทย เพียงแต่ไม่มีใครเคยรวบรวมตัวเลขไว้จริงจัง เพราะผู้ที่บริจาคทรัพย์จากความศรัทธาไปแล้ว มักจะไม่ต้องการถามหาคำตอบว่ายอดเงินนั้นไปอยู่ไหน

ที่ผ่านมามีเพียงข้อมูลที่จัดทำโดยศูนย์วิจัยกสิกร ที่ระบุถึงตัวเลขการทำบุญของคนไทยเฉลี่ยปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท ขณะที่ตลาดพระเครื่องมีมูลค่าอยู่ที่ปีละ 20,000 ล้านบาท นั่นเป็นเพียงสาขาที่เกี่ยวข้องกับความศรัทธา ยังมีอีกหลายโปรดักท์ความศรัทธาที่ไม่ได้ประเมินออกมาเป็นตัวเลขชัดๆ

พระอาจารย์อนิล ธมมสากิโย (ศากยะ) ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช รองคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหามกุฎราชวิทยาลัย พระนักวิชาการมองศาสนายุค 2012 ในเชิงกรณีศึกษาว่า พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ถูกพัฒนาการตีความไปตามยุคตามสมัย

“พระพุทธศาสนาในมุมมองใหม่ในกระแสทุนนิยม เช่น ธุรกิจล้มเหลว ทำให้เชื่อเรื่องกรรมมากขึ้น จึงมีเรื่องของการสแกนกรรม ตัดกรรม เป็นธรรมะแบบรวดเร็ว เรียกว่า มาม่า ยำยำ หรือธรรมะสำเร็จรูปตามความต้องการของตลาด” พระอาจารย์อุปมา

ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจเคลื่อนไปเร็วเต็มไปด้วยการบริโภคนิยม วัตถุนิยม และทุนนิยม เงื่อนไขหลายด้านที่มากระทบกับการใช้ชีวิต เหล่านี้ทำให้ชีวิตผู้คนซับซ้อนขึ้น ทุกข์และเครียดมากขึ้น

เขายังบอกด้วยว่า การที่ศาสนาจะดำรงอยู่และเข้าถึงคนได้ ส่วนหนึ่งต้องเกิดจากการปรับเปลี่ยน "แนวทางการนำเสนอ" ให้เข้ากับการรับรู้ของผู้คนแต่ละยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การนำเสนอธรรมะผ่านความบันเทิง (Entertainment) ในรูปของเพลง เพื่อให้ศาสนาเข้าถึงง่ายขึ้น หรือแม้แต่บทสวดหากยังสวดเช่นเดิม จะสวนทางกับยุคโลกไร้สายที่ผู้รับสารมีความอดทนต่ำ

"ศาสนาและเอ็นเตอร์เทนเมนท์ต่อไปจะแยกกันไม่ออก เพราะต่างเป็นเรื่องของการผ่อนคลาย บทสวดมนต์ของไทยเป็นเพลงน้อย ต่อไปอาจจะต้องปรับปรุงใหม่ให้คนหันมาสนใจมากขึ้น"

พระอาจารย์ยังพูดถึงการไหลบ่าของความเชื่อ ที่มีไม่แพ้การไหลบ่าของเคลื่อนเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ว่า ปัจจุบันมีลัทธิความเชื่อต่างๆ เข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นพุทธสายจีน แบบมหายาน เข้ามาในรูปสมาคมมูลนิธิ ที่มาพร้อมกับกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อและค่านิยมในอัตลักษณ์แบบจีน

"ความเชื่อแบบจีนเป็นอีกแบบที่ต่างกับแนวทางของพุทธศาสนา เพราะมุ่งสู่สุขาวดี หรือ สวรรค์ มองความสุข คือสวรรค์ แทนการนิพพาน ซึ่งแท้จริงนิพพานไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นสภาวะทางจิตใจที่เข้าใจทุกอย่างไม่สร้างเงื่อนไข ไม่มีผลทางบวกหรือลบ อาตมาไม่ชอบพิพากษาสังคมว่าดีหรือไม่ดี ไม่อยากให้มองมุมเดียว เพราะมีหลายมิติซ้อนกันอยู่ ขึ้นอยู่กับว่าคนที่เข้าไปแล้วทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นหรือไม่ มีทุกข์หรือสุขมากขึ้น"

พระอาจารย์อนิล ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความเชื่อเรื่องศาสนากำลังเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงตามโลกาภิวัตน์ที่มาพร้อมกับกระแสทุนนิยม โดยเฉพาะในอาเซียน จีนเริ่มรุกเข้ามาเผยแพร่ทางศาสนามากขึ้น ไม่ต่างจากการเข้ามาของมิสชันนารีในยุคล่าอาณานิคม

"สิ่งที่เห็นตอนนี้ ความเชื่อ อัตลักษณ์ทางศาสนา มาพร้อมกับทุน โดยเฉพาะพุทธศาสนาในแต่ละประเทศก็มีอัตลักษณ์แตกต่างกัน ซึ่งกำลังแย่งชิงมาร์เก็ตแชร์อย่างหนักในอาเซียน ที่มีมหาอำนาจอย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นผู้เล่น"

จีนประกาศตัวเองเป็นศูนย์กลางทางศาสนาโลก ด้วยการจัดงานประชุมพระพุทธศาสนา "World Buddhist Forum"

"จีนไม่ได้ต้องการก้าวไปเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ แต่การเผยแผ่ศาสนาก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งออก ซึ่งเกาหลีกับญี่ปุ่นก็ไม่ยอม แต่ไม่แรงเท่าจีน"

ดนัย จันทร์เจ้าฉาย นักบริหารการตลาดและประชาสัมพันธ์ผู้มีแนวคิดธุรกิจสีขาว ให้มุมมองว่า สังคมไทยเต็มไปด้วยความเชื่อมากกว่าจะหาเหตุผล เป็นจังหวะเวลาเดียวกับที่โลกอยู่ในภาวะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วทั้งทางกายภาพและสังคม ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้คนที่เกิดภาวะทุกข์ในใจ เข้าหาพระธรรม เพื่อคลายทุกข์

"พระพุทธเจ้าตรัสว่าทุกอย่างไม่เที่ยงไม่ทน โลกเปลี่ยนสังคมก็เริ่มเปลี่ยน หลายกลุ่มคนไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารหรือประชาชนทั่วไปหันกลับมาสนใจศาสนามากขึ้น เมื่อมีทุกข์ เหมือนกำลังลอยคอและกำลังจะจมอยู่กลางน้ำ เมื่อมีอะไรมาให้เกาะก็รีบเกาะ เพราะต้องการหาที่พึ่งหรือแนวทางพ้นทุกข์"

โปรดักท์ทางศาสนาเรียงกันออกมารองรับความต้องการทางจิตใจของคน สิ่งเหล่านี้จะเข้าถึงกลุ่มคนได้ ก็ต้องใช้การตลาดบนความศรัทธา (Faith Marketing) ซึ่งเป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นกลับไปกลับมาในสังคมไทยอยู่บ่อยครั้ง

ทว่า หากการตลาดบนความศรัทธานั้นคุณภาพไม่ดีพอก็จะกลายเป็นกระแสที่จางหายไปตลาดอายุขัยในที่สุด เช่น กระแสจตุคามรามเทพ

นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ อธิบายเรื่องนี้ว่า ความทุกข์เป็นวัฏจักรเดิมที่กลับมาใหม่ เพราะมนุษย์เชื่อว่าเมื่อมีมากแล้วจะพ้นทุกข์ เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ค้นพบว่า "ไม่ใช่"

“โลกอยู่กับวัตถุนิยม บริโภคนิยม มีบ้านหลังที่หนึ่ง มีบ้านหลังที่สอง มีรถคันที่หนึ่ง มีรถคันที่สอง มีโทรศัพท์เครื่องหนึ่ง มีโทรศัพท์เครื่องที่สอง สุดท้าย ก็ค้นพบว่า มันไม่ใช่ ผู้บริหารนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจึงมักนำเรื่องธรรมะมาช่วยปรับสมดุลของชีวิตให้พอดี มีสติปัญญาเข้าใจชีวิต และธุรกิจ จัดการธุรกิจได้” เขายกตัวอย่าง

สมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม มองแนวคิดทางศาสนาจะเป็นช่วยเพิ่มช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และปกป้องการถูกครอบงำทางความเชื่อและวัฒนธรรมว่า ไทยเป็นเมืองพุทธและเป็นต้นแบบการบริการผ่อนคลาย อาทิ สปา ซึ่งเป็นตัวรุกในธุรกิจท่องเที่ยว

ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ยังแสดงความเห็นว่า การจะเป็นผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จได้ ควรแบ่งสัดส่วนวงจรชีวิตใน 24 ชม.ต่อวัน ไว้ 3 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงที่ 1 ถูกใช้ไปกับการนอนหลับพักผ่อน ดูแลกายภาพของเรา ช่วงที่ 2 คือช่วงเวลาทำงาน เพื่อหาเลี้ยงชีพ หากเป็นเด็กก็เรียนหนังสือ และช่วงที่ 3 เจียดเวลาไปให้กับนันทนาการ มีหลากหลายทางเลือก แต่หากเลือกที่จะบริโภคนิยมบันเทิงกันสุดโต่งก็จะไปกดทับสติสัมปชัญญะ

"หากปล่อยเวลาไปกับบริโภคนิยมแบบสุดโต่งก็จะดูเหมือนเป็นอิสระ แต่มันจะไปกดทับสติสัมปชัญญะ ที่จะคอนโทรลตัวเองให้หันกลับมาตระหนักถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์"

----------------------------------------------

ตะวันตก ตื่นตัว สมาธิเพื่อธุรกิจ

พระอาจารย์อนิล ธมมสากิโย (ศากยะ) ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กล่าวว่า กระแสที่กำลังการขึ้นในคนและองค์กรซีกโลกตะวันตก คือ การหันมาสนใจพุทธศาสนามากขึ้น โดยมองว่าจะเป็นหนทางสร้างความสำเร็จให้กับตนเองและองค์กร ตามที่ปรากฏชัดทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา มีรายงานการทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อการวิจัยถึงประโยชน์ของพุทธศาสนา โดยเฉพาะรายงานของวิจัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่พบว่า โรคร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นมากในปี 2020 คือโรคเครียด



"ผลการวิจัยระบุถึงการพยายามรักษาโรคเครียดด้วยยากล่อมประสาทแล้วไม่หาย อาการกลับมาใหม่ถึง 80% ตามผลแล็บ จึงหันไปทุ่มงบประมาณมหาศาลไปที่การป้องกันโรคด้วยการเจริญสติ (Mindfulness Base Therapy) นำการฝึกสติไปแก้แล้วหาย ทำให้มีการทุ่มเงินวิจัยต่อในเรื่องนี้"

ดนัย จันทร์เจ้าฉาย เล่าถึงความสนใจของคนตะวันตกในพระพุทธศาสนาสอดคล้องกันว่า ในหนังสือ Financial Times ยังเขียนถึงการนำวิถีการทำสมาธิแบบพุทธมาใช้พัฒนาธุรกิจ โดยปัจจุบันมีบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งในตะวันตกที่ใช้แนวทางนี้ อาทิ ฮาเก้น ดาซส์ (Haagen Dazs) ที่นำพนักงานไปเรียนรู้การทำสมาธิ ตามตำราพระพุทธศาสนา


"ตะวันตกถึงจุดอิ่มตัวในความเจริญทางเทคโนโลยีและวัตถุ จึงหันกลับมามองจิตใจ ขณะที่โลกตะวันออก เป็นผู้ริเริ่มทางด้านจิตวิญญาณ แต่กำลังเดินตามการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจตามโลกตะวันออก"

พระอาจารย์อนิล เสริมว่า พระพุทธศาสนาสำหรับชาวตะวันตกถือเป็นหนึ่งในบริการทางจิตใจ เป็นธุรกิจให้คำปรึกษา (Consultant) ในขณะที่พระอาจารย์เดินทางไปเผยแผ่ศาสนา ด้วยการเป็นอาจารย์สอนพิเศษในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศหลายแห่ง อาทิ อ็อกซ์ฟอร์ด, ซานตา คลาร่า แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา รวมถึงมหาวิทยาลัยในยุโรป มีชาวตะวันตกต้องการมาศึกษาพระพุทธศาสนา กลับมีการถามเรื่องค่าสอน


“ฝรั่งมีปัญหาความสุขอยู่ที่ไหน เพราะแม้มีทุกอย่าง แต่ทำไมยังทุกข์อยู่ จึงมีคนอยากมาศึกษา เขาถามว่าคิดชั่วโมงเท่าไหร่ เพราะเขามองเป็นเรื่องของการให้คำปรึกษา เราบอกไม่คิด เขาก็ไม่เชื่อ”

โจทย์ใหญ่ของโลก ของการคลายทุกข์กับความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในโลก จึงไม่ใช่การดิ้นรนเพื่อความสุขสบายทางเทคโนโลยีเท่านั้น แต่กำลังหาแนวทางที่การันตีความสุขที่แท้จริง

--------------------------------------------

"ศรัทธา" ฮาวทู

ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังนำหลักการตลาดมาอธิบาย "ฮาวทู" ในการสร้างศรัทธาของแต่ละสถานปฏิบัติธรรมที่มีหลักการเดียวกัน คือ การเข้าถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ผ่าน 3 โปรเซส ได้แก่

1.สร้างความศรัทธา (Faith Build) จะเกิดขึ้นได้ด้วยการจับจุดภายในใจของกลุ่มเป้าหมาย ก่อนจะเสนอทางออกให้ตรงกับโจทย์ความต้องการ

“เพราะมนุษย์หลายคนมีภายนอกและภายในที่ขัดแย้งกันอยู่ เช่น คนแต่งตัวเปรี้ยว อาจจะไม่ได้แปลว่าเป็นสาวมั่น บางคนภายนอกดูสมบูรณ์แบบแต่อาจจะมีบางอย่างซ่อนอยู่ หากเข้าถึงภายในและสามารถหาคำตอบให้เขาได้ เขาก็จะกลายเป็นสาวก”

2.ช่วงรักษาความสัมพันธ์ (Maintain) เมื่อศรัทธาเกิดแล้วก็รักษาและสานต่อความสัมพันธ์ด้วยกิจกรรมต่อเนื่อง (อีเวนท์ มาร์เก็ตติ้ง)

3.ค้นหาสาวก (Evangelist Marketing) กลุ่มคนที่จงรักภักดีในแบรนด์ โดยกลุ่มคนที่มีชื่อเสียง (เซเลบ) มักจะถูกหยิบยกมากล่าวถึง ให้เกิดความเลื่อมใส จนบอกต่อ เพื่อขยายกลุ่มคนใหม่ๆ


บทความจาก กรุงเทฑธุรกิจ 10 กย 55
http://bit.ly/Ph8V8P


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น