วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555

ธุรกิจกับ "โมบายแอป"



มีบทความชิ้นหนึ่งในนิตยสารฟอร์บส ที่ยีน มาร์คส เขียนเอาไว้อย่างน่าสนใจสำหรับคนทำธุรกิจ ซึ่งน่าจะรวมไปถึงองค์กรต่าง ๆ ด้วย เขาขึ้นต้นบทความด้วยคำถามว่าธุรกิจของคุณจำเป็นต้องใช้โมบายแอป โลกเขาโมบายกันหมดแล้ว และตัวเลขยอดสมาร์ทโฟนและไอแพดก็เป็นสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าทั้งโลกกำลังเข้าสู่ยุคโมบายกันหมดแล้ว


แต่ทำไมธุรกิจของพวกเราถึงไม่สามารถใช้โมบายเทคโนโลยีให้ได้ดีกว่านี้ ทั้ง ๆ ที่พนักงานก็ใช้สมาร์ทโฟนกันทั้งที่บริษัทซื้อให้ ทั้งที่ซื้อใช้กันเอง แต่รู้สึกไหมว่าใช้ของพวกนี้ต่ำกว่าศักยภาพจริง ๆ ที่มันทำได้ ดูเหมือนบริษัทจะไม่สามารถทำให้พนักงานมีผลิตภาพมากขึ้นได้

มาร์คสว่าไม่ต้องห่วงหรอก ปัญหานี้เกิดกับทุก ๆ คน มีคนที่รู้สึกแบบนี้เช่นเดียวกันกับคุณ เขายกตัวอย่างว่าบริษัทของเขาขายแอปพลิเคชั่นสำหรับการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า มีลูกค้าอยู่ 600 ราย เป็นโมบายโซลูชั่นที่ทำงานกับแอปพลิเคชั่นที่เขาขาย แต่สิ่งที่เขาพบก็คือไม่มีรายไหนทำได้ดีมากจริง ๆ เอาเสียเลย

มาร์คสบอกว่าการก้าวมาใช้โมบายแอปปลิเคชั่นไม่ได้เป็นเรื่องผิดพลาด แต่ปัญหาอาจจะอยู่ที่ไม่ได้นำมาใช้จริง ๆ ด้วยเหตุผลหลายอย่าง กล่าวคืออาจจะไม่ได้ตัดสินใจถึงวัตถุประสงค์ของเทคโนโลยีที่เอามาใช้เช่น จะร่นระยะเวลาการทำงานลง จะเพิ่มคำความเร็วระหว่างการรับคำสั่งซื้อ

สินค้ากับการนำของไปส่งและการเก็บเงิน จะลดงานเอกสารลงโดยไม่ต้องย้อนกลับเข้าในที่ทำงานอีก หรือนัยหนึ่งทำงานเอกสารโดยไม่ได้มีกระดาษ ซึ่งมีหลายวิธีที่จะใช้เทคโนโลยีโมบาย ทั้งหมดนี้คือเรื่องการ data entry (การป้อนข้อมูลเข้ามาเก็บในระบบ) และ data retrieval (การเรียกคืนข้อมูลในป้อนเก็บไว้ขึ้นมา) แต่ปัญหาคือไม่ได้ตัดสินใจถึงวัตถุประสงค์ของมัน

ที่จริงบทความนี้สาธยายยาวไปกว่าที่ดึงบางส่วนออกมาในที่นี้ แต่แค่นี้ก็พอมองเห็นอะไรได้บางอย่าง เพราะที่จริงแล้ว ในกรณีอย่างบ้านเรานั้น ธุรกิจมีระดับการพัฒนาแตกต่างกัน บางบริษัทพร้อมแล้วที่จะก้าวสู่โลกโมบายโดยการนำโมบายแอปพลิเคชั่นมาใช้ และหลายบริษัทหรือหลายองค์กรก็นำมาใช้กันแล้วอย่างได้ผล

แต่บางบริษัทก็ยังไม่พร้อม เพราะทั้งเรื่อง data entry และ data retrieval ที่ยังไม่ต้องไปโมบายอะไรกันก็ยังไปไม่ถึงไหน หลายกรณีมีข้อมูลที่เก็บไว้มากมาย แต่ขาดโซลูชั่นที่จะเพิ่มขีดความสามารถให้องค์กรเพราะขาด data retrieval หรือถึงจะเรียกขึ้นมาดูได้ ก็ดูกันไปแบบข้อมูลดิบ ๆ ซึ่งโดยมากจะออกมารูปของสเปรดชีต ซึ่งในยุคปัจจุบันถือว่าเป็นข้อมูลดิบที่โบราณมาก

ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้แปรรูปให้ออกมาเป็นประโยชน์ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร

ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวมาไกลมาก ที่จริงระบบสามารถพัฒนาไปถึงระดับการแสดงผลการวิเคราะห์เชิงสถิติในแบบเรียลไทม์ หรือเกือบเรียลไทม์กันได้แล้วด้วยซ้ำปัญหาอาจจะเหมือนกับที่ยีน มาร์คส ว่าไว้ คือเรายังไม่รู้วัตถุประสงค์ของเทคโนโลยีที่เอามาใช้นั่นเอง

บทความจากประชาชาติ 31 สค 2555

http://bit.ly/PzjlB9

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น