วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554

การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค

จากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค และนวัตกรรมของโทรศัพท์มือถือที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีผลโดยตรงกับการทำตลาดของทั้งตัวโทรศัพท์มือถือเอง และสินค้าต่างๆ ที่ต้องใช้มือถือ เป็นเครื่องมือหนึ่งในการทำตลาด และการเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก
 ล่าสุด ทีเอ็นเอส ได้เปิดตัว ทีเอ็นเอส โมบายไลฟ์ 2011 ซึ่งเป็นงานศึกษาทั่วโลกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดด้านการใช้โทรศัพท์มือถือของผู้บริโภค ทีเอ็นเอส โมบายไลฟ์ 2011 เป็นผลจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างกว่า 34,000 ตัวอย่างใน 43 ประเทศและใช้เวลากว่า 25,000 ชั่วโมงและเข้าสู่ปีที่ 6 ของการศึกษานี้ จึงเอื้อให้สามารถเข้าใจประสบการณ์ของผู้บริโภคที่มีต่อความคล่องตัวอันเกิดจากการใช้โทรศัพท์มือถือ รวมทั้งได้ทราบถึงแง่มุมเชิงลึกเกี่ยวกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงการใช้โทรศัพท์มือถือในวันข้างหน้า

 ผลวิจัยทีเอ็นเอสเผยข้อด้อย ของการตกกระแสความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบนมือถือ พบว่า
 -  กลุ่มผู้บริโภคที่พอใจได้ยาก ยังคงเป็นแรงผลักดันให้ตลาดมือถือที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้ามีการเติบโต โดยสิ่งสำคัญคือการพัฒนาฟังก์ชันต่างๆ เกี่ยวกับวิดีโอทั้งการโทรศัพท์แบบเห็นหน้า การดูคลิปวิดีโอทางอินเตอร์เน็ตผ่านมือถือโดยไม่ได้โหลดมาเก็บไว้ดูภายหลัง และการดาวน์โหลดวิดีโอ
 -  ยี่ห้อโทรศัพท์มือถือยังคงมีความสำคัญแต่ก็กำลังเปิดทางให้แบรนด์ด้านคอนเทนต์ อีกทั้งการร่วมมือกันระหว่างแบรนต่างๆก็เริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้นสำหรับการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค
 -  ความสามารถของแอปเปิลและกูเกิล ด้านการมอบประสบการณ์ด้านสื่ออย่างเต็มประสิทธิภาพให้แก่ผู้บริโภคเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งให้สองแบรนด์นี้กลายเป็นแบรนด์ระดับแนวหน้า

 ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า เนื่องจากฟังก์ชันบางอย่างในโทรศัพท์มือถือ เช่น การส่งข้อความและภาพนิ่งได้กลายเป็นฟังก์ชันพื้นฐานไปแล้ว การเติบโตของมือถือ จึงมาจากความต้องการด้านฟังก์ชันที่เกี่ยวกับสังคม รวมถึงการใช้โทรศัพท์แบบเห็นหน้า การดูคลิปวิดีโอทางอินเตอร์เน็ตผ่านมือถือโดยไม่ได้โหลดมาเก็บไว้ดูภายหลัง และบริการด้านการแชร์ต่างๆ 
 -  จำนวนของผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กกิ้งผ่านเว็บบนมือถือ มีการเติบโตจาก 30% เป็น 46% ทั่วโลก และจาก 26% เป็น 50% ในประเทศตลาดเกิดใหม่ (*) ซึ่งเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดล้ำหน้าประเทศที่พัฒนาแล้ว
 -  มีเพียง 18% ของผู้บริโภคทั่วโลกที่อัพโหลดภาพหรือวิดีโอขึ้นอินเตอร์เน็ต ผ่านทางมือถือ แต่ก็มีผู้บริโภคอีก 44% ที่สนใจจะอัพโหลดภาพหรือวิดีโอขึ้นอินเตอร์เน็ตผ่านทางมือถือในอนาคต
 -  ผู้บริโภคในประเทศตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มที่จะต้องการอัพโหลดคอนเทนต์ (49%) แต่กว่าครึ่ง (55%) ยังไม่สามารถทำได้เนื่องจากยังไม่มีบริการรองรับ

++บทบาทการเข้าถึงผู้บริโภค
 "โทรศัพท์มือถือได้มีบทบาทมากขึ้น ในฐานะเครื่องมือสำหรับใช้งานอินเตอร์เน็ตและการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งฟีเจอร์ด้านความบันเทิงและมัลติมีเดียเป็นปัจจัยสำคัญ ในการดึงดูดและสร้างความผูกพันกับผู้บริโภค" เจมส์ เฟอร์กูสัน กรรมการผู้จัดการภาคธุรกิจเทคโนโลยีทั่วโลก กลุ่มบริษัททีเอ็นเอสฯ กล่าว
 พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ ต้องให้แน่ใจว่ามีการนำเสนอฟังก์ชันสำหรับความบันเทิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลง เกม ภาพ วิดีโอ และโซเชียลเน็ตเวิร์กกิ้ง ที่สำคัญคอนเทนต์เหล่านั้น ต้องง่ายต่อการเข้าถึง ผู้ผลิตหลายรายทำพลาดไป ด้วยการไม่นำสมาร์ทโฟนจำนวนมากพอต่อความต้องการของผู้บริโภค เข้าสู่ตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูง

 นอกจากนี้ ฟังก์ชันกล้องในโทรศัพท์มือถือ ดูจะถึงจุดอิ่มตัวแล้ว เนื่องจากมีอัตราเติบโตเพียง 1% ในระหว่างปี 2553 และ 2554  แต่เกือบ 1 ใน 4 ของผู้บริโภคทั่วโลก (24%) กล่าวว่าความสามารถในการถ่ายภาพ พร้อมทั้งแชร์ภาพและวิดีโอ จะมีบทบาทสำคัญต่อการเลือกซื้อมือถือเครื่องต่อไป การศึกษาเรื่อง ทีเอ็นเอส โมบายไลฟ์ แสดงให้เห็นว่าบริการใหม่ๆ ที่มีอัตราเติบโตมากที่สุดในช่วง 12  เดือนที่ผ่านมา เป็นการเติบโตของโซเชียลวิดีโอ (จาก 10% เป็น 15%) และไลฟ์ทีวี (จาก 9% เป็น 12%) กว่าครึ่งของผู้บริโภค (54%) ให้ความสนใจกับการโทรศัพท์แบบเห็นหน้า แม้ว่าตนจะยังไม่ได้ใช้บริการนี้ก็ตาม และอีกครึ่งของกลุ่มตัวอย่างให้ความสนใจกับการดูโทรทัศน์แบบสด (50%) หรือดาวน์โหลดวิดีโอมาดู ทั้งแบบที่ดูทันทีและแบบโหลดเก็บไว้ดูภายหลัง (48%)

 จากการสำรวจ ยังพบว่าความต้องการของผู้บริโภคในประเทศตลาดเกิดใหม่ แซงหน้าผู้บริโภคในประเทศตะวันตก ในแง่ความต้องการใช้เทคโนโลยีมือถือล่าสุด โดยในเอเชีย ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ รวมถึงแอฟริกาใต้ ความต้องการด้านไลฟ์ทีวีนั้นสูงถึง 70% เฟอร์กูสันกล่าวว่า คอนเทนต์ที่เป็นมัลติมีเดีย เปิดโอกาสให้เกิดความเท่าเทียมด้านศักยภาพการเติบโตในเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ ข้อจำกัดด้านรายได้ในหลายประเทศมีส่วนทำให้บริการด้านการถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอผ่านทางมือถือมีความสำคัญยิ่งขึ้น

++ความร่วมมือระหว่างแบรนด์
 จากการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด ในแง่ของความร่วมมือระหว่างแบรนด์ และความต้องการของแท็บเลต รวมทั้งความท้าทายในการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดในสภาพแวดล้อมที่แข่งขัน ทำให้ทั่วทั้งตลาดที่พัฒนาแล้ว (44%) และตลาดเกิดใหม่ (77%) ยี่ห้อของโทรศัพท์มือถือยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อ อย่างไรก็ตาม แบรนด์ด้านคอนเทนต์ต่างๆ ก็กำลังมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นทุกทีในตลาดมือถือ โดยมีผู้บริโภคทั่วโลกกว่า 1 ใน 4 ที่กล่าวว่าคอนเทนต์และแอพพลิเคชันต่างๆ เป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาเลือกซื้อ ผลจากการสำรวจ ทีเอ็นเอส โมบายไลฟ์ ชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่ตลาดมีการเติบโต ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อมือถือ ได้เปลี่ยนจากยี่ห้อโทรศัพท์ ไปเป็นข้อเสนอด้านคอนเทนต์และแอพพลิเคชันต่างๆ รวมไปถึงระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์ การมีคอนเทนต์ที่ผู้บริโภคต้องการและการมีหุ้นส่วนในท้องถิ่นที่เหมาะสมจึงเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างสมดุลในตลาดที่ยังมีผู้ให้บริการคอนเทนต์น้อยรายแต่ก็กำลังเพิ่มจำนวนขึ้น

 การร่วมมือกันระหว่างแบรนด์จะเริ่มมีบทบาทและความสำคัญมากยิ่งขึ้นสำหรับผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือที่ต้องการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเนื่องจากแท็บเลต (เช่น ไอแพด หรือ กาแล็กซี่) กำลังมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะนี้กระแสแท็บเลตกำลังมาแรงและมีอัตราผู้สนใจใช้แท็บเลตสูงถึง 31% ในเอเชียและ 28% ในยุโรป แต่ก็นับว่าโชคดีสำหรับผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะมองว่าแท็บเลตเป็นอุปกรณ์เสริมสำหรับมือถือหรือไม่ก็เป็นอุปกรณ์ทดแทนสำหรับคอมพิวเตอร์ไม่ใช่ทดแทนมือถือ
 แอปเปิลและกูเกิลยังคงเป็นผู้นำด้านระบบปฏิบัติการ เข้าถึงสื่อผสมผสานได้ดีกว่า

++ความสำคัญของคอนเทนต์และบริการ
 ผลการสำรวจ ทีเอ็นเอส โมบายไลฟ์ ยังเผยให้เห็นอีกด้วยว่าข้อเสนอด้านคอนเทนต์และบริการมีบทบาทความสำคัญมากขึ้นในแง่ของระบบปฏิบัติการ เห็นได้จากการที่ผู้บริโภคที่ภักดีให้การสนับสนุนการเติบโตของแอนดรอยด์และระบบปฏิบัติการของแอปเปิลอย่างต่อเนื่อง ระบบปฏิบัติการของกูเกิลอันได้แก่ แอนดรอยด์และ โอเอ็มเอส และ ทาปาส มีส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มขึ้น 24% ใน 12 เดือนที่ผ่านมาคือเติบโตจากเดิม 9% เป็น 33% (**) ความภักดีนี้ ส่วนหนึ่งมาการที่แอปเปิลและกูเกิล สามารถตอบสนองความต้องการอย่างต่อเนื่องของผู้โภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านโซเชียลเน็ตเวิร์กกิ้งและฟังก์ชันสื่อผสมผสาน อาทิ
 -  กว่าครึ่งของผู้ใช้แอปเปิล (56%) และแอนดรอยด์ (52%) ใช้โซเชียลมีเดียผ่านมือถือของตนทุกวัน แต่จำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียผ่านมือถือที่มีระบบปฏิบัติการวินโดว์สและซิมเบียนนั้นลดลงเป็น 44% และ 41% ตามลำดับ
 - 51% ของผู้ใช้แอปเปิลและ 49% ของผู้ใช้แอนดรอยด์มีแนวโน้มอย่างมากที่จะใช้ระบบปฏิบัติการนี้ต่อไป ในขณะที่ 30% ของผู้ใช้วินโดว์ส และ 31% ของผู้ใช้ซิมเบียนกล่าวว่าตนจะใช้ระบบปฏิบัติการนี้ต่อไป

หมายเหตุ :
 * ประเทศที่จัดอยู่ใน "กลุ่มตลาดใหม่" ในการศึกษา ทีเอ็นเอส โมบายไลฟ์ ได้แก่
 กลุ่มตลาดใหม่ขั้นที่หนึ่ง - อาระเบียใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เม็กซิโก บราซิล อาร์เจนตินา จีน อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ ชิลี โมร็อกโก
 กลุ่มตลาดใหม่ขั้นที่สอง - อินเดีย ปากีสถาน เวียดนาม ไทย ไนจีเรีย เคนยา ฟิลิปปินส์ เบนิน แคเมอรูน กานา กัวเตมาลา และ คอสตาริกา เซเนกัล แทนซาเนีย อูกันดา
 **ที่มา: การประเมินโดยคานาลิส ปี 2554


จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,630  28-30 เมษายน พ.ศ. 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น