วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

งานวิจัยบน Social Network

กระแสของสื่อและสังคมออนไลน์ หรือ Social Network ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายสิ่งหลายอย่างทั้งในชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ในเชิงวิชาการนั้นกระแสของ Facebook / Twitter ก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน


โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการทำวิจัยและการเก็บข้อมูลต่างๆ ครับ พบว่าในปัจจุบัน Facebook กลายเป็นทั้งแหล่งสำหรับนิสิต นักศึกษา ในระดับต่างๆ ในการเก็บข้อมูล ทำวิจัย มากขึ้น โดยพบเห็นผู้ที่กำลังเรียนหนังสือและต้องเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัย มีการโพสต์ลิงค์ หรือ การขอร้องให้บรรดาพรรคพวกเพื่อนฝูงได้เข้ามาทำแบบสอบถามต่างๆ ผ่านทาง Facebook มากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ไม่แน่ใจเหมือนกันนะครับว่าในเชิงสถิติแล้วการเก็บข้อมูลผ่านทางเพื่อนบน Facebook นั้นมีความน่าเชื่อถือได้เพียงใด

นอกเหนือจากการเก็บข้อมูลผ่านทาง Facebook แล้ว งานวิจัยอีกประเภทที่เกี่ยวกับ Facebook ที่เริ่มพบเห็นกันมากขึ้นก็คือการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมในการใช้ Facebook และเชื่อมโยงกับเรื่องต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการใช้ Facebook ที่เชื่อมกับความภักดีในตราสินค้า หรือ เชื่อมกับความภาคภูมิใจในตนเอง ฯลฯ ดังนั้นสัปดาห์นี้เราลองมาดูผลวิจัยต่างๆ ที่เขาพยายามศึกษาเชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมในการใช้ Facebook กับเรื่องต่างๆ กันนะครับ

เรื่องแรกเป็นการวิจัยในเรื่องของ Brand Engagement บน Facebook ครับ โดยเรื่องของ Brand Engagement นั้นเปรียบเสมือนเป็นการสร้างความผูกพันระหว่างผู้บริโภคกับตราสินค้าแต่ละยี่ห้อ ซึ่งในเชิงรายละเอียดนั้นก็มีการศึกษากันในเรื่องนี้อยู่มากมาย แต่เพิ่งมีรายงานวิจัยล่าสุดจาก FanGager ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำการสำรวจ Brand Engagement ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ บน Facebook จากนั้นก็จะมีการนำเสนอ (หรือขาย) Application ต่างๆ ที่ช่วยสร้างกิจกรรมและความผูกพันระหว่างผู้บริโภคกับตราสินค้าบนสังคมออนไลน์

ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยนะครับว่าเขาวัด Brand Engagement บน Facebook ได้อย่างไร? จริงๆ แล้วก็ไม่ยากนะครับ โดยเขาจะใช้ระบบ Data Mining บน Facebook เพื่อดูว่าในหน้าที่เป็น Fanpage ของศิลปินหรือสินค้าต่างๆ นั้นผู้ที่เป็น “แฟน” นั้นได้เข้ามามีกิจกรรม มีการโพสต์ข้อความ หรือ แสดงความคิดเห็นต่างๆ มากน้อยเพียงใด ซึ่งการมี “แฟน” ใน Fanpage เยอะก็ไม่ได้หมายความว่าจะมี Engagement เยอะ แต่ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มแฟนเหล่านั้นได้เข้ามาพูดคุย มีปฏิสัมพันธ์กันมากน้อยเพียงใด สิ่งที่เขาวัดก็คือ จากจำนวน แฟนทั้งหมดที่มีนั้น มีแฟนที่มีกิจกรรมหรือ Active ทั้งหมดกี่เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นผลิตภัณฑ์ ตราสินค้า หรือ บุคคลที่มีเปอร์เซ็นต์ของแฟนที่ Active มากที่สุดก็จะมี Engagement Score สูงสุด

ท่านผู้อ่านคงอยากจะทราบแล้วนะครับว่าตัวเลขล่าสุดที่มี Engagement สูงสุดนั้นคือใคร อันดับหนึ่งคือ สโมสรฟุตบอล Manchester United ครับ โดยมีแฟนทั้งหมด 9,915,504 และ Active อยู่ 2.6% ส่วนอันดับสองคือศิลปินวัยรุ่นชื่อดัง Justin Bieber ที่มีแฟนทั้งหมด 20,379,964 และ Active อยู่ 1.8% ครับ จะสังเกตได้นะครับว่าแม้ Justin Bieber จะมี แฟนมากว่า Man Utd. (Barcelona ก็มีแฟนมากกว่า Man Utd. ครับ) แต่ดูเหมือนว่าการ Active ของแฟน Man Utd. เมื่อเทียบกับรายอื่นๆ แล้วจะสูงกว่า อันดับสามคือซีรี่ส์ชื่อดังของสหรัฐ Glee อันดับสี่ คือสโมสร Real Madrid อันดับห้าคือ Reality Show ของ MTV ที่ถ่ายทำการใช้ชีวิตร่วมกันของหนุ่มสาวในสหรัฐในชื่อ Jersey Shore

จากห้าอันดับข้างต้น ท่านผู้อ่านคงพอจะเห็นนะครับว่าพวกที่มี Brand Engagement สูงๆ นั้นส่วนใหญ่เป็นสโมสรฟุตบอลหรือศิลปินที่มีแฟนอยู่ทั่วโลก ส่วนพวกสินค้าต่างๆ ที่เป็นสินค้าจริงๆ กลับไม่ติดหนึ่งในห้า ทำให้เกิดข้อสงสัยนะครับว่า Brand Engagement บน Facebook นั้นจะสามารถนำมาใช้ได้จริงกับโลกจริงๆ หรือ ไม่?

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจเช่นเดียวกันพบว่าการที่เราเข้าไปดู Facebook Profile ของตนเองนั้น จะมี Self-Esteem สูงกว่าปกติ โดยในงานวิจัยชิ้นนี้เขาให้นักศึกษาจำนวนหนึ่งเข้าไปนั่งในห้องทดลองเป็นเวลาสามนาที กลุ่มหนึ่งอนุญาติให้เข้าเฉพาะหน้า Profile ของตนเอง อีกกลุ่มให้นั่งมองหน้าตนเองในกระจก และอีกกลุ่มให้ดูแต่จอคอมพิวเตอร์เปล่าๆ หลังจากสามนาทีผ่านพ้นไป ก็ให้ผู้ทดลองแต่ละกลุ่ม ทำแบบทดสอบเกี่ยวกับ Self-Esteem (มีผู้แปลว่า การรู้ถึงคุณค่าของตนเอง ความมั่นใจ ความเคารพในตนเอง การรู้สึกว่าตนเองมีค่า) ผลจะพบว่ากลุ่มที่เข้าไปแก้ไข หรือ ดูข้อมูลของตนเองใน Profile บน Facebook นั้น จะเป็นกลุ่มที่มี Self-Esteem สูงที่สุด

โดยนักวิจัยเขามองว่าการมองกระจกเพียงอย่างเดียวนั้น เป็นเหมือนกับการมองตนเอง แต่การเข้าไปดู และแก้ไขข้อมูลใน Profile นั้น อาจจะเขียนหรือใส่ในสิ่งที่ตนเองอยากจะเป็นมากกว่าในสิ่งที่ตนเองเป็นก็ได้ อย่างไรก็ดีงานวิจัยชิ้นนี้ก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่เยอะพอสมควรครับ เนื่องจากการเข้าไปดูเว็บอื่นที่ไม่ใช่ Facebook ก็อาจจะส่งผลทำให้ Self-Esteem เพิ่มขึ้นได้เช่นเดียวกันครับ

สัปดาห์นี้ถือเป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ก็การใช้สังคมออนไลน์เป็นเวที หรือเป็นเครื่องมือสำหรับการทำวิจัย เชื่อว่างานวิจัยในลักษณะนี้คงจะออกมาอีกมากมายในอนาคตครับ




บทความจาก  WiseKnow.Com
http://www.wiseknow.com/งานวิจัยบน-Social-Network.html








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น