วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ทำเงินอย่าง 'สมาร์ท' บน สมาร์ทโฟน

วิถีชีวิตคนยุค 3G มีโซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นโลกใบใหม่ อยู่กับสมาร์ทโฟน อย่าเมินเฉยต่อพฤติกรรมที่เห็น เพราะนี่อาจจะเป็นโอกาสทำเงินที่คาดไม่


แอพพลิเคชั่นมากหน้าหลายตา ต่างทยอยลงสนามสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต เพื่อเป็นตัวเลือกให้คอไอที ได้หยิบใช้รับไลฟ์สไตล์คูลๆ ของพวกเขา ขณะที่ผู้ประกอบการ แบรนด์สินค้า ธุรกิจสื่อ สำนักพิมพ์ ตลอดจนเอเยนซีโฆษณา ต่างก็ปรับตัวกันยกใหญ่ เพื่อใช้ช่องทางเดียวกันนี้ สร้างอนาคตที่เชื่อว่า “มีอนาคต” ให้กับธุรกิจ


แต่จะมีสักกี่คนที่ประสบความสำเร็จแบบจริงๆ จังๆ กับช่องทางนี้ เรียกว่า..ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ ที่สำคัญ “ทำเงิน” ได้ ไม่ใช่แค่ปรับตัว “เท่ๆ” เพื่อไม่ให้ตกกระแส เท่านั้น

“แอพพลิเคชั่น หลายๆ ตัวในโลกตอนนี้ “ทำเงินไม่ได้” ทั้งๆ ที่มีคนเล่นเยอะมาก อย่าง Line มีผู้เล่นถึง 17 ล้านคนทั่วโลก แต่เราไม่เคยต้องจ่ายเงินกับ Line ขณะที่แอพพลิเคชั่นบางตัว คนเบื่อก็หายไป ทำเงินได้ชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งๆ ที่สำหรับธุรกิจการหารายได้จากสิ่งที่ทำสำคัญมาก”


นี่คือเสียงของหนึ่งในผู้เล่นตลาดโซเชียลเน็ตเวิร์ค "จิรัฐ บวรวัฒนะ" ประธานกรรมการบริษัท อิกไนท์ เอเชีย จำกัด (iGnite Asia) ผู้ประกาศตัวเป็น Social Network Agency & Interactive Content Provider เขาเลือกทำธุรกิจแบบ “บูรณาการ” ตั้งแต่ ทีวีคอมเมอร์เชียล จัดกิจกรรม ทำเว็บไซต์ นิตยสาร และปีนี้ก็ยังสนุกกับการขยายมาสู่ เกม และโมบายแอพพลิเคชั่นอย่างต่อเนื่อง 2 ปี ของการอยู่ในสนามนี้ ฉายภาพความจริงให้เห็น

“การจะพัฒนาอะไรออกมา เราต้องคิดตั้งแต่เริ่มว่ารายได้จะมาจากไหน บางคนอาจไปจมอยู่กับความคิดแค่ว่า ทำอย่างไรให้คนเข้ามาเล่นเยอะๆ ใช้เยอะๆ เพราะจะได้มีโฆษณาเข้ามา สำหรับเรานี่เป็นการคิดแบบชั้นเดียว”

คิดสั้น คิดชั้นเดียว ไม่ใช่ทางของพวกเขา... “อิกไนท์ เอเชีย” เลือกคิดหลายชั้น ตั้งแต่ต้นทางก่อนพัฒนาแอพสู่ตลาด โดยแอพพลิเคชั่นที่ออกมาต้องตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้ ทำในสิ่งที่คนสนใจ และสำคัญคือ “ยังไม่มีอะไรในตลาดไปตอบสนองเขาได้” จากนั้นก็ "หาพันธมิตร" มาร่วมด้วยช่วยกันลงขัน

เขายกตัวอย่างแอพพลิเคชั่นล่าสุด ที่เตรียมเปิดตัวปลายเดือนนี้ อย่าง “Trading Tycoon” แจ้งเกิด...เซียนพันล้าน แอพพลิเคชั่นที่จะทำให้ทุกคนได้สนุกกับการเล่นหุ้นโดยที่ไม่ต้องใช้เงินจริง โดยมีผู้สนับสนุนคือ หลักทรัพย์กสิกรไทย

พวกเขาไม่ได้กำลังเจาะตลาดกลุ่มคนเล่นหุ้น แต่กำลังจุดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาเรียนรู้โลกของตลาดหุ้นกันมากขึ้น ด้วยรูปแบบการเล่นที่เหมือนเกม...เล่นง่าย เข้าใจง่าย ได้ความสนุกและเรียนรู้ไปกับมัน

ตอบโจทย์แอพน่าเล่นได้ ที่สำคัญ มีคนลงเงินให้ด้วย

“นี่เป็นหนึ่งในวิธีคิด แทนที่เราจะต้องไปหาเงินจากลูกค้าที่ใช้แอพตัวนี้ ผมก็ไปหาคนที่มีความคิดเหมือนกันมาร่วมกันทำ พอมีผู้สนับสนุนแทนที่แอพอย่างนี้ในเมืองนอกผู้เล่นต้องเสียเงินซื้อ อย่างต่ำๆ ก็ 5-10 เหรียญ แต่เราก็สามารถให้คนมาเล่นฟรีๆ เลย ซึ่งอนาคตยังพัฒนาเป็นกิจกรรมสร้างรายได้เข้ามาได้อีก มีหลายๆ ตัวที่เราใช้วิธีคิดแบบเดียวกันนี้”

แอพพลิเคชั่นชิ้นโบแดง ที่ถูกพูดถึงมากในช่วงที่ผ่านมา ต้องยกใช้ “Eatarie” แอพพลิเคชั่นของคนชอบทาน ที่เปิดมาเพียง 4-5 เดือน แต่มียอดดาวน์โหลดสูงถึง 15,000 ดาวน์โหลด

“Eatarie” เป็นการตอบโจทย์ทั้งคนชอบกินและธุรกิจร้านอาหาร โดยที่สามารถเข้าไปแนะนำร้านที่ชอบได้ ซึ่งไม่จำกัดว่าจะร้านข้างทางหรือภัตตาคารหรูที่ไหน ใครโปรโมทก็จะได้แต้ม สามารถนำไปใช้เป็นส่วนลดในร้านอาหารที่ร่วมรายการ หรือไปแลกสิทธิประโยชน์จากแคมเปญต่างๆ รวมถึงใช้เป็นแต้มสำหรับเล่นหุ้นใน Trading Tycoon ได้อีกด้วย

“คนเข้ามาใช้เขารู้สึกได้ประโยชน์ และสนุกเหมือนการเล่นเกม รวมถึงยังใช้งานง่ายมาก คนป้อนข้อมูลคือผู้ใช้ ร่วมกันแชร์เนื้อหา เพราะคนยุคนี้ ชอบแบ่งปันเรื่องราวกันอยู่แล้ว”

Eatarie ไปได้สวย โดยเฉพาะช่วงปีใหม่ที่เขาบอกว่ามีผู้เข้ามาแนะนำร้านอาหารต่อวัน นับร้อยๆ ร้าน แต่นั่นไม่ใช่จะมัวใจชื้นชื่นชมขนมหวาน เพราะแอพพลิเคชั่นที่ดีต้องพัฒนาต่อไป หยุดนิ่งก็คือ...ตาย

“แอพพลิเคชั่น วงจรชีวิตมันสั้นมาก มองว่าแอพพลิเคชั่นที่ดีต้องถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผ่านไป 3-4 เดือน ต้องพัฒนาเพิ่มเติมแล้ว อย่างมีฟีเจอร์ใหม่ หรือสร้างอะไรใหม่ๆ สังเกตจากเกมที่เราเล่น สักพักก็เบื่อ ต่อให้เป็น WhatsApp หรือ Line ก็เถอะ อย่างอื่นมาคนก็ไปเล่นของใหม่หมด โลกอินเทอร์เน็ตรวดเร็วมาก ไม่เหมือนซอฟต์แวร์สมัยก่อนที่พัฒนาขึ้นมาก็อยู่ได้เป็นปีๆ นี่เขาว่ากันเป็นเดือนเลยนะ ถ้ายังไม่มีอะไรใหม่ ก็ไปเล่นที่อื่นแล้วนะ”

เริ่มต้นจากเงินผู้สนับสนุน แต่รายได้ของแอพพลิเคชั่นยังมาจากช่องทางอื่นได้ เขาบอกว่า งานนี้ไม่มีสูตรสำเร็จอยู่ที่ใครจะคิดได้ โดยทั่วไปมีตั้งแต่การขายแอพพลิเคชั่น คือ จ่ายเงินซื้อถึงเล่นได้ ซึ่งปัจจุบันทำได้ยากขึ้นเนื่องจากมีแอพฟรีให้เล่นอยู่เยอะมาก

แบบที่สองคือ In app purchase คือโหลดแอพมาฟรี แต่เมื่อต้องการเพิ่มฟังก์ชัน ได้พลังพิเศษ ผ่านด่านใหม่ๆ ก็ต้องจ่ายเงินซื้อ หรือจะใช้วิธี In app advertising หาสปอนเซอร์ แบรนด์สินค้าไป Tie-in อยู่ในแอพนั้น กระทั่งวิธีขายฐานข้อมูลผู้ใช้แอพ

“มันสามารถทำได้หลายๆ วิธี แต่เรา “บูรณาการ” ใช้หลายๆ วิธี ยกเว้นขายฐานข้อมูลผู้ใช้ แต่จะเลือกหาสิทธิประโยชน์พิเศษให้สมาชิก เช่น ทำกิจกรรมร่วมกับเจ้าของสินค้า เพื่อหาส่วนลด หรือสิทธิประโยชน์มาให้สมาชิกของเรา โดยตอนนี้มีสมาชิกอยู่ 8 หมื่นราย ก็ต้องดูว่าแต่ละกลุ่มต้องการอะไร แล้วก็มอบแพ็คเกจที่เหมาะสมให้กับเขา”

ขณะที่ผู้ประกอบการทั่วไป ที่ไม่ใช่นักพัฒนาแอพพลิเคชั่น ก็สามารถเข้ามาใช้ช่องทางเดียวกัน สร้างประโยชน์ให้กับกิจการของตัวเองได้ จิรัฏ บอกเราว่า เป็นได้ตั้งแต่เครื่องมือในการลดต้นทุน และเพิ่มความพึงพอใจให้ลูกค้า

“ยกตัวอย่างร้านอาหารสมัยใหม่คุณไม่สามารถ มีเมนูเดียวได้ ต้องมีเมนูใหม่ๆ มาเรื่อยๆ คุณก็ไม่จำเป็นต้องพริ้นต์เมนูใหม่ตลอดเลย แต่อาจมี E-Menu ที่ลูกค้าสามารถเรียกดู แล้วสั่งล่วงหน้าได้ ไปถึงก็ทานได้ทันทีไม่ต้องรอ นี่เป็นแอพพลิเคชั่นที่คิดว่าได้ประโยชน์ กับเจ้าของธุรกิจและลูกค้า”

ต่อมาคือช่วยในการหาลูกค้าใหม่แบบประหยัด จากปัจจุบันที่มีผู้ใช้สมาร์ทโฟนและแทบเล็ตอยู่หลายล้านคนซึ่งต่างก็มีกำลังซื้อ มีช่องทางเข้าถึงชัดเจน โจทย์ข้อเดียวที่ธุรกิจต้องตอบให้ได้ คือ “จะหาความพึงพอใจไปให้เขาได้อย่างไร”

“กลุ่มผู้ใช้มีมหาศาล กลายเป็นสิ่งที่เขาขาดไม่ได้ และจะขาดไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ชีวิตของผู้คนจะผูกพันกับสิ่งนี้ในทุกๆ เรื่องราว ไม่ว่าจะเป็น สุขภาพ อาหารการกิน ชีวิต ความรัก ครอบครัว การเรียน การงาน ทุกอย่าง อยู่ที่ว่าคุณจะมองเห็นและใช้โอกาสจากมันอย่างไรเท่านั้น”

“อิกไนท์ เอเชีย” เข้าตลาดเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา กับเงินทุนที่ทุ่มชนิดเกือบ 100 ล้านบาท แต่ใช้เวลาคืนทุนเพียง 2 ปี โดยอาศัยมีพันธมิตรไม่เดินเดี่ยว เดินเกมอย่างมีกลยุทธ์ ทุกจุดธุรกิจต้องเชื่อมถึงกันได้ คิดเร็ว ตัดสินใจเร็ว ตัวไหนไม่มั่นใจก็ยอมตัดทิ้งเช่นเคยมีความคิดเปิดค่ายดนตรีก็ปิดไปเพราะไม่ใช่ความถนัด ขยับจากธุรกิจเล็กๆ มามีบริษัทลูก 3 บริษัท ฐานสมาชิกจาก 2 หมื่นรายในวันเริ่มต้น เพิ่มเป็น 8 หมื่นรายในวันนี้ โดยตั้งเป้าว่าปีนี้จะขยายฐานสมาชิกได้สูงถึง 2 แสนราย ซึ่งเขามั่นใจว่าทำได้จากเครื่องมือที่ทยอยออกมาในปีนี้

"ผมยอมรับว่า ผมสนใจนิวมีเดียมากๆ คำว่ามีเดีย มันขยายขอบเขตความหมายไปมากมาย สามารถไปปรากฏที่ไหนก็ได้ ช่วงหลังเวลาคนถามผมว่าทำอะไร ผมไม่ได้บอกว่า ทำหนังสือ แต่ผมเป็น Content Provider เป็นผู้สร้างสรรค์คอนเทนท์ ซึ่ง จะออกมาเป็นได้ทั้งสิ่งพิมพ์ นิตยสาร พอคเก็ตบุ๊ค รายการโทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งเป็นแอพพลิเคชั่น"

นี่คือ คำสัมภาษณ์ของ “โหน่ง-วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์” เจ้าพ่อเด็กแนวแห่ง a day หลังเปิดตัว อี-แมกกาซีน เล่มแรก “มันเดย์ (MONDAY)” เพื่อต่อยอดฐานนักอ่านไอที ที่สามารถดาวน์โหลดนิตยสารของพวกเขา ผ่านทาง เอไอเอสบุ๊คสโตร์, บีทูเอสอีบุ๊คสโตร์ และเว็บไซต์ www.ookbee.com

เขาเชื่อในไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนไป เมื่อเครื่องมือราคาถูกลง หาซื้อง่ายขึ้น เป็นเทรนด์ไปแล้วที่ทุกคนต้องมีไอโฟน มีแอนดรอยด์ เขาเชื่อว่า หนังสือดิจิทัล จะมาแน่ๆ ซึ่งที่ผ่านมาหนังสือในเครืออะบุ๊ค ก็ถูกทำเป็นอี-บุ๊คมาจำนวนหนึ่งแล้ว เพื่อกลายร่างกระดาษให้เป็นหนังสือที่อ่านได้ในสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต

ไม่ใช่แค่สำนักพิมพ์ที่เชื่อในพลังช่องทางนี้ แม้แต่ธุรกิจร้านหนังสือก็ปรับตัวสู่วิถีเดียวกันอย่างครึกครื้น และเริ่มเห็นสัญญาณว่า ไม่ใช่แค่ฝันแต่ “ทำเงินได้จริง”

“เราเริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ สังเกตได้จากการที่ลูกค้าเริ่มเข้ามาใช้บุ๊คสโตร์มากขึ้น และเห็นชัดว่าเขากล้าที่จะซื้อขึ้นโดยดูจากมูลค่าบิลที่สูงขึ้น จากช่วงแรกเคยซื้อเล่มถูกๆ เดี๋ยวนี้เพิ่มเป็นหลักพันบาทแล้ว...นี่ไม่ใช่การทดลองใช้ แต่เป็นการใช้งานจริงแล้ว"

“สิโรตม์ จิระประยูร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเซียบุ๊คส จำกัด (Asia Books) รายแรกๆ ที่กระโดดเข้าสู่ตลาดอี-บุ๊คสโตร์ เมื่อปีที่ผ่านมา และเริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของผู้ใช้ ตอกย้ำความน่าสนใจของช่องทางนี้

โดยพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าคอดาวน์โหลด ส่วนใหญ่ยังเป็นพวก นวนิยาย และ หนังสือขายดี สอดคล้องกับความนิยมในร้านหนังสือ สำหรับรูปแบบการจ่ายเงิน จากการเปิดให้ชำระเงินได้ถึง 5 ช่องทาง คือ เครดิตการ์ด ระบบเพย์พาล จ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส โอนเงินผ่านธนาคาร หรือเดินมาจ่ายที่ร้านเอเซียบุ๊คส

เขาบอกว่า ช่องทางที่ถูกใช้มากสุด ยังขึ้นกับประเภทหนังสือ คือ ถ้าเป็นหนังสือของเด็กวัยรุ่น ซึ่งยังไม่มีบัตรเครดิต ช่องทางเพย์พาล และ เคาน์เตอร์เซอร์วิสจะสูง แต่ถ้าเป็นหนังสือธุรกิจ ของคนทำงานและผู้บริหาร ช่องทางบัตรเครดิตยังถูกใช้สูงสุด โดยผู้ใช้อี-บุ๊ค ยังหลากหลายคละกันไปทั้งคนทำงาน นักศึกษา

การสร้างมูลค่าเพิ่มจากช่องทางอี-บุ๊คสโตร์ ให้ทำเงินได้ เขาบอกว่าต้องเชื่อมกันให้ได้ทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์ อย่างเมื่อซื้อหนังสือผ่านอี-บุ๊คสโตร์ ก็รับโปรโมชั่นใช้เป็นส่วนลดในร้านหนังสือได้ เช่นเดียวกับซื้อหนังสือจากร้านก็มีโปรโมชั่นให้ไปใช้ที่อี-บุ๊คสโตร์ได้เช่นกัน แม้แต่ในร้านหนังสือก็มีมุมอี-บุ๊ค เพื่อให้ลูกค้าได้มารู้จักโลกอี-บุ๊คสโตร์ และทดลองใช้ได้ ส่วนเว็บไซต์ก็ไม่ได้มีขายเพียงหนังสือ แต่ยังรวมถึงสารพัด Gadget และบรรดาแท็บเล็ตค่ายต่างๆ เรียกว่าอยากได้ก็สามารถซื้อ พร้อมแถมอี-บุ๊ค ให้ลองใช้ด้วย

ทุกวันนี้พวกเขามีฐานสมาชิก เอเซียบุ๊คส อยู่ที่ 1.8 แสนคน มีสาขา 70 สาขา มีลูกค้าเข้าร้านปีละนับล้านคน ขณะที่ลูกค้า อี-บุ๊ค ยังอยู่ที่ประมาณหลักพันคน เพราะยังเริ่มมาได้เพียงไม่ถึง 1 ปี ส่วนลูกค้าที่เข้าใช้เว็บไซต์ เฉลี่ยเดือนละ 5-6 หมื่นคน รายได้จากอี-บุ๊ค ปัจจุบันยังอยู่ที่ประมาณ 1% ของยอดขายรวม

โดยธุรกิจ เอเซียบุ๊คส ปีที่ผ่านมามียอดขายอยู่ที่ 950 ล้านบาท และตั้งเป้าว่าใน 3 ปี หลังจากนี้ยอดขาย อี-บุ๊ค จะเพิ่มเป็น 10% ของยอดขายรวมทั้งธุรกิจ ด้วยการเพิ่มความหลากหลายของหนังสือ การโปรโมทให้ความรู้ลูกค้า และจับมือกับพาร์ทเนอร์ โดยยังมองความร่วมมือของพันธมิตรทั้งร้านหนังสือและสำนักพิมพ์ ที่จะมาร่วมกันพัฒนาอี-บุ๊คสโตร์ ในรูปแบบเดียวกัน เพื่อปลุกตลาดนี้ ให้เติบโตยิ่งขึ้น

ในมุมของนักพัฒนาแอพพลิเคชั่น "จิรัฐ บวรวัฒนะ" ยังแสดงความเห็นว่า การจะพัฒนา อี-บุ๊ค ต้องไม่มองเป็นแค่หนังสือ แต่คือ “สื่อผสม” ที่สามารถสร้างความน่าสนใจให้คนอ่านได้มากกว่าตัวหนังสือ เช่น ในอนาคต อาจสามารถคลิกเข้าไปชมวีดิโอได้ คลิกดูตัวอย่างสินค้าได้ พัฒนาในเชิงลึกมากขึ้น ก็จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและอยู่ได้ระยะยาวขึ้น

กับหลากวิธีคิดของการทำเงินอย่าง “สมาร์ท” บน “สมาร์ทโฟน”

----------------------------------------------------

“Online Influencer” บนโลกออนไลน์

ถามคนยุคนี้ว่าจะตัดสินใจซื้อของสักชิ้น พวกเขาต้องทำอย่างไรบ้าง ที่น่าสนใจคือคนถึง 45% บอกว่า จะเข้าไปค้นหาข้อมูลสินค้าในอินเทอร์เน็ต น่าสนใจกว่านั้นคือเมื่อคิดจะซื้อกลุ่มตัวอย่างถึง 56% บอกว่า เลือกที่จะเชื่อกูรู เว็บบอร์ด และบล็อกเกอร์ !

นี่คือพลังของ “Online Influencer” นักชูประเด็นในโลกออนไลน์ ที่กำลังเขย่าเก้าอี้ผู้ทรงอิทธิพลในสื่อดั้งเดิมให้สั่นคลอน เครื่องมือใหม่ทางการตลาดที่จะมองข้ามไม่ได้ ตามผลการศึกษาของนักศึกษาปริญญาโทสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ในหัวข้อ “Online Influencer” สื่อใหม่การตลาด..กลเม็ดพิชิตใจลูกค้าคน Gen Y

Online Influencer ถูกให้ความสำคัญมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา หลังสื่อดั้งเดิมถูกมองว่าราคาแพง มีพื้นที่จำกัด และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายตัวจริงได้น้อยลง ขณะที่ผู้เล่นสังคมออนไลน์กลับเติบโตต่อเนื่อง

โดยจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยวันนี้มีสูงถึง 25 ล้านคน โซเชียลเน็ตเวิร์คยอดฮิตอย่าง เฟซบุ๊ค มีจำนวนสมาชิกในปีที่ผ่านมา ถึง 13 ล้านคน สูงเป็นอันดับ 16 ของโลก ส่วนทวิตเตอร์มีสมาชิกถึง 9 แสนคน ! และในกลุ่มคนเหล่านี้ก็ทวีความเชื่อมั่นใน Online Influencer มากขึ้นเรื่อยๆ จากการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงในการใช้สินค้าหรือบริการ มีการเปรียบเทียบข้อมูลสินค้า ได้อย่างชัดเจนทุกแง่มุม น่าเชื่อถือกว่าข้อมูลด้านเดียวจากเจ้าของแบรนด์สินค้า

ที่เรียกได้ว่าสุดฮ็อต โดยเฉพาะใน 5 กลุ่มสินค้ายอดนิยม ต้องยกให้เขาเหล่านี้ เริ่มจากสินค้าไอที ชื่อของ “แบไต๋ ไฮเทค” หรือ หนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทโชว์ไร้ขีดจำกัด ถูกนึกถึงเป็นลำดับต้นๆ ด้วยช่องทางทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ โดยในยูทูบมีจำนวนการดูสูงถึงกว่า 4 ล้านครั้ง

ขณะที่ “กาฝาก” ผู้ไม่ได้จบทางด้านเทคโนโลยีแต่สนใจเรื่องไอทีอย่างมาก รีวิวสินค้าไอทีทุกประเภท ช่องทางติดต่อกับ มีทั้ง เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ และเว็บไซต์ ซึ่งมีคนเข้าดูเว็บถึงกว่า 1.5 ล้านครั้ง

ด้าน โรงแรม รีสอร์ท ที่พัก ต้องยกให้ “ชานไม้ชายเขา” ที่โด่งดังมาจากห้องบลูแพลเน็ตของพันทิป เขามีเว็บบล็อกเป็นของตัวเอง พร้อมช่องทางเข้าถึง ทั้ง ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค และพันทิป โดยเว็บไซต์ มีจำนวนคนเข้าดูกว่า 2 แสนครั้ง

ส่วนสินค้าเครื่องสำอางที่ติดใจใครหลายคนคือ “โมเมพาเพลิน” การลุกขึ้นมาของ “โมเม” นภัสสร บุรณศิริ อดีตนักร้อง นักเต้น ดารา นักแสดง มาเป็น Online Influencer ด้านเครื่องสำอาง ชื่อดัง เริ่มต้นจากทำคลิปในทีวีออนไลน์ จนโด่งดัง และมีช่องทางติดต่อ ทั้ง เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เว็บไซต์ โดยยูทูบมีคนติดตามมากถึงกว่า 1.7 ล้านคน และ “ปูเป้” “ศักรัช เปี่ยมวรนันท์” บิวตี้บล็อกเกอร์ จาก www.pupesosweet.com ที่พบเจอเขาได้ทั้ง เฟชบุ้ค ยูทูป ทวิตเตอร์ และเว็บไซต์ ซึ่งมีจำนวนการดูเว็บกว่า 2 ล้านครั้ง

กลุ่ม ร้านอาหาร ต้องยกให้ “เมเม่พาชิม” ที่พาไปชิมอาหารร้านต่างๆ ทั่วประเทศ และทุกประเภท มีช่องทางทั้ง เฟซบุ๊ค ยูทูบ และเว็บไซต์ กับจำนวนการเข้าดูผ่านเว็บมากถึงกว่า 1.7 หมื่นครั้ง กับ “ป้อมูนู” ที่เริ่มจากทีวีออนไลน์ ซึ่งช่องทางที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากสุด คือ ยูทูบ ที่มีคนเข้าชมถึงกว่า 5 แสนครั้ง

ขณะที่รถยนต์ ก็ต้องยกให้ “จิมมี่” จากเว็บพันทิป ที่มีเฟซบุ๊ค และเว็บไซต์ของตัวเอง ซึ่งมีการเข้าดูกว่า 2 หมื่นครั้งต่อวัน ขณะ “กล้วย-ตอย” ที่ยูทูบของพวกเขามีคนเข้าชมถึงกว่า 4 แสนครั้ง

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของ Online Influencer ที่ได้รับการติดตามจากเหล่าแฟนคลับอย่างเหนียวแน่น แต่การจะเลือก Online Influencer เกรด A ต้องมีคุณสมบัติ 5 ด้าน สำคัญคือเป็นนักกิจกรรม มีความสามารถโดดเด่นโลดแล่นอยู่ในแวดวงที่ลูกค้าเราอยู่ ต้องมีเครือข่ายที่กว้างขวาง ต้องสามารถสร้างผลกระทบกับคนหมู่มากได้ ต้องมีจิตใจที่ไขว่คว้าหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ สุดท้ายคือเป็นผู้นำสมัย กล้าลอง กล้าใช้อะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ

การใช้ Online Influencer มีทั้งแบบจ่ายเงินและฟรี อย่างอาจใช้วิธีส่งบัตรเชิญให้ไปชิมที่ร้าน ส่งสินค้าให้ทดลองใช้ ส่วนแบบจ่าย ก็อย่างการเชิญร่วมกิจกรรมของแบรนด์ รวมถึงการฝากข่าวประชาสัมพันธ์บนหน้าเว็บไซต์ หรือ สื่อโซเชียลมีเดีย ของ Online Influencer

นี่เป็นอีกหนึ่งสีสันใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์ ถ้าเพียงตามให้ทัน ปรับตัวให้ได้ ก็มีโอกาสรุ่งทั้งเจ้าของสินค้าและ Online Influencer



บทความจาก กรุงเทพธุรกิจ 27 กพ. 2555
http://bit.ly/xfP2lg

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น