วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555

SMEs โมเดลใหม่



SMEs โมเดลใหม่ สู่ยุค "โมบาย ดีไวซ์" ถ้าเข้าใจ ก็ไปต่อ

มีเว็บไซต์ใช้บล็อกขายผ่านอาลีบาบาสำหรับเอสเอ็มอี ดูจะเป็นพื้นฐานที่ผู้ประกอบการต้องรู้อยู่แล้ว ไม่รู้แม้จะไม่ผิดแต่ก็ล้าหลัง ถ้าจะให้อินเทรนด์กว่านี้ การใช้แท็บเลต สมาร์ทโฟน ในการทำธุรกิจ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเริ่มเรียนรู้


สมาร์ทโฟนทำให้ออฟฟิศเล็กลง ทำงานเร็วขึ้น การสื่อสารสั้นกระชับ อาชีพใหม่ ๆ และโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ขณะที่มีการพัฒนาบรรดาสมาร์ทโฟนค่ายต่าง ๆ รวมทั้งบรรดาผู้ที่พัฒนาระบบปฏิบัติการแบบใหม่บนมือถือด้วย

น.ส.ศรัญญา อัศดาชาตรีกุล รองผู้บริหารระดับสูง บริษัท Mobile Technology ในกลุ่มบริษัท I AM Consulting จำกัด แนะนำผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะก้าวสู่การทำธุรกิจผ่านอุปกรณ์โมบายดีไวซ์ เช่น สมาร์ทโฟน หรือแท็บแลต

แองกรีเบิร์ดเข้าใจ "สมาร์ทโฟน"

จะเรียกว่า เข้าใจทั้งไอโฟน แท็บเลต และกลุ่มผู้ใช้เลยก็ว่าได้ เพราะการใช้ระบบทัชสกีน มาเป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจเกม ผู้พัฒนาเกม สามารถที่จะดึงกลุ่มคนที่ไม่ได้เน้นเล่นเกมจริงจัง เข้ามาเล่นเกมได้ ใช้เวลาสั้น แองกรีเบิร์ดมีการขายลิขสิทธิ์ เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย จากการพัฒนาเกม โดยผ่านแอปเปิลสโตร์ของแอปเปิล ซึ่งผู้พัฒนาเกมสามารถที่จะเข้าถึงตลาดของสาวกแอปเปิล ที่มีสมาชิกทั่วโลกภายในเวลาอันรวดเร็ว กว่า 2 ปีที่แองกรีเบิร์ดเริ่มเติบโต จากเกมบนมือถือ ที่ปัจจุบันมีคนดาวน์โหลดแล้วไม่ต่ำกว่า 700 ล้านครั้ง อีกความสำเร็จหนึ่งของคนที่เข้าใจสมาร์ทโฟน

เฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์ พื้น ๆ

สำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ การใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ในการแสดงความมีตัวตน เป็นเรื่องปกติ เช่น การถ่ายรูปสวยของตัวผลิตภัณฑ์ อัพเดตบรรยากาศของรีสอร์ต ส่งขึ้นเฟซบุ๊ก แล้วเกิดการแชร์ต่อไปเรื่อย ๆ ในเครือข่ายของสมาชิกแต่ละคน หมอดูรุ่นใหม่ใช้เฟซบุ๊กให้คำปรึกษากับสมาชิก จากที่เคยใช้สื่อสิ่งพิมพ์ในการสร้างเครือข่ายเป็นเวลาหลายปี แต่เฟซบุ๊กสามารถติดตามผลได้เลย ทวิตเตอร์เองเป็นการพูดคุยอีกช่องทางหนึ่งและบอกข่าวไปสู่เครือข่ายได้ตลอดเวลา

ทั้ง 2 แบบต้องใช้เวลา ไม่สามารถที่จะสร้างเครือข่ายในข้ามคืนได้ แต่หากเทียบกับการตลาดแบบเก่า ก็ยังเร็วกว่าอยู่ดี และสามารถที่จะกระจายไปอย่างรวดเร็ว ประหยัด ที่สำคัญเป็นช่องทางหนึ่งในการจะสร้างแบรนด์ลอยัลตี้อีกด้วย

ปิดการขายด้วย "แท็บเลต"

สำหรับเอสเอ็มอี ส่วนที่ควรจะเริ่มทำอย่างด่วนจี๋ก็คือการเพิ่มยอดขาย หรือสร้างเครื่องมือที่ฝ่ายขายทำงานได้เร็วขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือ การใช้โปรแกรม Foursquare "เช็กอิน" สมาร์ทโฟน ที่เราจะเห็นในเฟซบุ๊กของร้านอาหารหลายร้านใช้โปรแกรมนี้ เพื่อลดราคาให้กับลูกค้าที่ช่วยประชาสัมพันธ์ด้วย หรือแม้แต่งานของพนักงานขายเครื่องสำอาง ที่ต้องมีรูปแบบผลิตภัณฑ์หลากหลาย มีตัวอย่างทดลองใช้

"ตอนนี้เราสามารถที่จะทำแอปพลิเคชั่นสำหรับฝ่ายขายขึ้นมาเลย เช่นมีรูปผลิตภัณฑ์แบบต่าง ๆ มีผลิตภัณฑ์ให้ทดลองใช้ แต่บางครั้งผลิตภัณฑ์ทดลองใช้อาจจะไม่ครบตามที่ลูกค้าต้องการ หรือเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุด แอปพลิเคชั่นของฝ่ายขายสามารถที่จะจำลองภาพใบหน้าลูกค้าและ ทดลองแต่งหน้าโดยเลือกสีที่เหมาะสม และสั่งซื้อได้ทันที อีกด้าน พนักงานขายสามารถเชื่อมกับระบบสต๊อกเพื่อที่จะทราบว่ามีสินค้าเท่าไหร่ ถึงมือลูกค้าภายในเวลากี่วัน"

อีกบริการหนึ่ง อาจจะยกออกมาจากเว็บไซต์ ก็คือ การทำแอปพลิเคชั่น หลังการขายและตอบปัญหาให้กับลูกค้า "การรักษาฐานลูกค้าเก่าไว้ ลงทุนน้อยกว่าการหาลูกค้าใหม่"

ตรงนี้เองที่ทางบริษัทหลายแห่ง ตั้งแผนกนี้ขึ้นมา เพื่อตอบปัญหาให้กับลูกค้าโดยเฉพาะ

"ผู้ประกอบการจะต้องมีความพร้อม ในเรื่องข้อมูลด้วย เพราะโมบายดีไวซ์เป็นเพียงด่านหน้าเท่านั้น แต่ระบบฐานข้อมูลทั้งหมดจะต้องพร้อม ไม่งั้นจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี" น.ส.ศรัญญากล่าว

หลังบ้านลดต้นทุน

การจัดการหลังบ้านด้วยเทคโนโลยี จะช่วยให้การจัดการเอกสารที่ต้องการการอนุมัติ มีความสั้นกระชับ ผลก็คือ งานที่อาจจะต้องใช้เวลา เช่นแผนกเลขาฯ ฝ่ายบุคคล จำนวนคนในส่วนนี้สามารถที่จะจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

"กรณีที่เห็นได้ชัด เช่น การอนุมัติ การลาต่าง ๆ เราสามารถที่จะส่งฟอร์มใบลาไปยังคนอนุมัติได้โดยตรง จากแอปพลิเคชั่นที่เราทำขึ้นมา ฝ่ายบุคคลและผู้ที่เกี่ยวข้องก็จะทราบว่าวันนี้มีใครลาบ้าง ขณะที่ผู้ลาสามารถตรวจสอบได้เลยว่า เคยลามาแล้วกี่ครั้ง ยังเหลือวันลาอะไรบ้าง หรือประวัติส่วนตัวต่าง ๆ ประหยัดเวลาในการจัดทำเอกสาร"

สำหรับประตูสู่ AEC ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นโอกาสของเอสเอ็มอีก็จริง แต่หากเราไม่เตรียมตัวให้ดี เราก็อาจจะเสียโอกาสได้เช่นกัน โดยเฉพาะลาว กัมพูชา เวียดนาม ระบบ 3G รุดหน้าไปไกลกว่าเรามากแล้ว
......................................................

สมาร์ทโฟน แท็บเลต ดันรายได้พุ่ง

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPURC) สำรวจการใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเลตมาช่วยในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาคการท่องเที่ยว ภาคการค้า และภาคบริการจำนวน 422 ราย ใน 18 จังหวัด ระหว่างวันที่ 4-10 เมษายน พ.ศ. 2555

พบว่า ภาคการท่องเที่ยวมีการใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเลตมาช่วยในการทำธุรกิจมากที่สุดคิดเป็น 62.1% ภาคการค้า 59.3% และภาคบริการ 48.6%

กลุ่มตัวอย่างของผู้ประกอบการที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี เป็นกลุ่มที่ใช้อุปกรณ์ทั้ง 2 ชนิดนี้มาช่วยในการทำธุรกิจมากที่สุดคิดเป็น 65.4% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดในช่วงอายุนี้คือ ช่วงอายุ 26-30 ปี 61.7% ช่วงอายุ 31-35 ปี 52.3% ช่วงอายุ 36-40 ปี 38.3% และ 41 ปีขึ้นไป 30.5%

เมื่อสอบถามถึงเหตุผลสำคัญที่สุดในการเลือกใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเลตมาช่วย กลุ่มตัวอย่าง 27.7% ระบุว่า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการติดต่อทำธุรกิจ 26.9% เพื่อลดต้นทุนในการทำธุรกิจ 25.4% เพื่อการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย 17.7% เพื่อความสะดวกในการค้นหาข้อมูล และอีก 2.3% เพื่อความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงิน

ในด้านรายได้และการประหยัดเวลา การใช้อุปกรณ์ทั้ง 2 ชนิดนี้เข้ามาช่วยในการทำธุรกิจ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมโดยเฉลี่ยประมาณ 18.3% สามารถประหยัดเวลาในการติดต่อประสานงานและการเดินทางได้โดยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 7.1 ชั่วโมงสำหรับผู้ประกอบการในกรุงเทพฯ และ 4.3 ชั่วโมงสำหรับผู้ประกอบการในต่างจังหวัด

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเลตมาช่วย เป็นการเอาชนะข้อจำกัดทางด้านต้นทุนและการหาทำเลที่เหมาะสม ทำให้ต้นทุนไม่สูงจนเกินไปนัก โดยเฉพาะกับธุรกิจในระยะเริ่มต้น หมายถึงโอกาสในการอยู่รอดที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้แล้วการแข่งขันกันในโลกออนไลน์นั้น ขนาดไม่ใช่ปัจจัยสำคัญของผู้ที่รู้จักใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์ได้อย่างเหมาะสม ก็มีสิทธิ์แจ้งเกิดได้เหมือนกัน


ประชาชาติธุรกิจ 26 เมย 2555
http://bit.ly/JI7srv

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น