แม้ว่า FIF ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 80%ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ จะเริ่มมีมาเมื่อ 5 ปีก่อนหน้านี้ แต่ปัจจุบันกองทุน FIF เป็นที่รู้จักและมีอัตราการเติบโตมากขึ้น หลังจากได้รับแรงหนุนจากการผ่อนคลายวงเงินลงทุนต่างประเทศจากธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อลดแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า ขณะเดียวกัน ช่วงที่ผ่านมา กองทุน FIF เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้ลงทุนมากขึ้น ทั้งจากการที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม หรือ บลจ. ต่าง ๆ มีการประชาสัมพันธ์จากการเสนอขายกองทุน FIF อย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ การสร้างแรงจูงใจด้วยความเชื่อที่ว่าการไปลงทุนยังต่างประเทศ นอกจากมีโอกาสจะทำให้อัตราผลตอบแทนการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนส่งผลให้กองทุน FIF มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับกองทุนประเภทอื่น
การเปิดตัวของกองทุน FIF ในช่วงที่ผ่านมา เฉพาะที่เสนอขายในช่วงปลายเดือนกันยายน ถึงต้นเดือนพฤศจิกายน มีมูลค่ารวมกันเกือบ 32,000 ล้านบาท แต่ละกองมีการชูจุดเด่นในเรื่องของนโยบายการลงทุนที่หลากหลายมากกว่าในอดีต ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้มูลค่ากองทุน FIF เติบโตขึ้น แต่ด้วยนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ และตราสารทุนที่มีการแบ่งเฉพาะเจาะจงไปในบางประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง หรือลงทุนผ่านกองทุนระดับโลกที่มีนโยบายลงทุนในบางธุรกิจตามที่ บลจ.แต่ละแห่งมองว่าเป็นธุรกิจที่ศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็น น้ำ พลังงานทางเลือก หรือแม้กระทั่งสินค้าแบรนด์เนม ยังสร้างสีสันให้กับวงการกองทุนรวมด้วย
“พอเราเห็นแนวคิดของเขา ถามว่าจะซื้อสินค้าพรีเมี่ยมเขาทุกแบรนด์หรือเปล่า ผมบอกว่าไม่ใช่ สิ่งที่อ่านดู ศึกษาดู และให้คะแนนแล้ว เราเชื่อว่าเขามีวิธีการคัดเลือกน้ำหนักที่ใช้ในการลงทุน และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงของการลงทุน อย่าลืมว่าสินค้ากลุ่มนี้มองดูแล้วอาจจะมีความเสี่ยงสูงกว่าสินค้าหรือหุ้นทั่วไป แต่พอเราดูว่าเขามีวิธีการป้องกันความเสี่ยงอย่างไรเราก็ค่อนข้างที่จะพอใจ เราก็เลยร่วมลงทุนในกองทุนนี้” ดร.ศุภกร สุนทรกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ. MFC กล่าว
ด้าน บลจ. แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) ที่ถือเป็นอีกหนึ่ง บลจ. ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารกองทุน FIF ล่าสุด เสนอขาย FIF กองที่ 5 ของปี กองทุนเปิด แมนูไลฟ์ สเตร็งค์ อิเมอร์จิ้ง อิสเทอร์น ยุโรป ที่เน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนและซื้อขายของภูมิภาคยุโรปตอนกลางและตะวันออกในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศรัสเซีย โปแลนด์ ตุรกี ฮังการี และสาธารณรัฐเชค
นายอลัน แคม กรรมการผู้จัดการ บลจ. แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) บอกว่า ถ้าดูจากการเติบโตของยุโรปตะวันออก เร็วที่สุดก็คือ รัสเซีย รองลงมาคือ เชค โปแลนด์ และตุรกี ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติของประเทศเหล่านั้นก็เติบโตเร็วมาก เพราะฉะนั้นจึงน่าสนใจมาก และทางแมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) ไม่จำเป็นต้องใช้ผู้จัดการกองทุนของแต่จะมีผู้จัดการกองทุนซึ่งอยู่ที่ประเทศอังกฤษบริหารให้
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาหลาย บลจ. อาจจะมีการออกกอง FIF กันไปบ้างแล้ว แต่บลจ.ฟิลลิป เริ่มเดินเครื่องคลอด FIF กองแรก ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว.. ภายใต้ชื่อ กองทุนปิดฟิลลิป เอเชีย แปซิฟิค ซึ่งเป็นการลงทุนแบบ ฟันด์ ออฟ ฟันด์ ผ่าน ฟิลลิป เอเชีย แปซิฟิค โกรธ ฟันด์ ที่เป็นกองทุนแม่ โดยมีนโยบายลงทุนแบบยืดหยุ่นทั้งในตราสารทุนและตราสารหนี้ของบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะกลางถึงยาว
นายวรรธนะ วงศ์สีนิล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ฟิลลิป บอกถึงจุดเด่นของกองทุนนี้ว่า “ทาง Fund Manager สิงคโปร์ของเรา เป็นคนที่มีความกังวลในด้านความเสี่ยงเป็นหลักไม่ใช่จะเร่งแต่ทำผลตอบแทน ซึ่งที่ผ่านมาก็เลือกลงทุน และเป็นทีมที่กล้าซื้อเวลาที่มีข่าวไม่ดีและกล้าขายในช่วงเวลาที่ตลาดดี ๆ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ซื้อที่ราคาต่ำสุด หรือขายที่ราคาสูงสุด แต่เราดูแล้ว จังหวะของเขาค่อนข้างดี เวลาที่ตัดสินใจส่วนใหญ่ค่อนข้างถูก”
ส่วนบลจ.ที่เสนอขาย FIF เจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่มก็มีเช่นกัน เมื่อ บลจ.พรีม่าเวสท์ ได้จับมือธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด(ไทย) เปิดตัว FIF กองใหม่ ภายใต้ชื่อ กองทุนเปิดพรีมาเวสท์ (ไทยแลนด์)ไดนามิก วอเตอร์ ฟันด์ ที่มีนโยบายลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำทั้งด้านการผลิตน้ำและบำบัดน้ำ รวมถึงกิจการที่เกี่ยวเนื่องในเรื่องการจัดการ หลังเห็นแนวโน้มว่ากลุ่มอุตสาหกรรมน้ำในตลาดทุนโลกจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้อย่างแน่นอนเพราะต้องมีการลงทุนในรอบ 10 ปีข้างหน้าอีกไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
“กองทุนนี้จริง ๆ แล้วเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใกล้ตัวมากที่สุดและคิดว่านักลงทุนทุกคนรู้จักอุตสหากรรมประเภทนี้ ตอนนี้เราอาจจะยังไม่ได้ดูลึกลงไปซึ่งถ้าดูภาพรวมทั่วโลกคิดว่ามีโอกาสที่ผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้น เพราะยังต้องมีการลงทุนในอุตสาหกรรมพวกนี้ได้อีกเยอะ” นายเพิ่มพล ประเสริฐล้ำ กรรมการผู้จัดการ บลจ.พรีมาเวสท์กล่าว
และในภาวะที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียมีการเติบโตค่อนข้างสูง บลจ.แอสเซทพลัส ก็ได้ เปิดกองทุนเปิดแอสเซทพลัส เอเชี่ยน สเปเชียล ซิททูเอชั่นส์ โดย FIF กองนี้จะจัดสรรเงินลงทุนในสัดส่วน 80% เพื่อลงทุนผ่านหน่วยลงทุนหลักที่มีชื่อว่า Fidelity Advisor World-Asian Special Situations Fund ที่เน้นลงทุนในหุ้นประเทศแถบเอเชีย ยกเว้น ญี่ปุ่น ที่มีสภาพคล่องสูง ครอบคลุมถึงหุ้นที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวทางธุรกิจ โดยเงินทุนส่วนที่เหลือจะลงทุนใน เงินฝาก และ ตราสารระยะสั้นของสถาบันการเงินในต่างประเทศ
นางลดาวรรณ เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.แอสเซท พลัส มั่นใจว่า ตลาดหุ้นเอเชียเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่จะเติบโตขึ้นได้อีก แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการชะลอตัวลง เพราแนวโน้มการเติบโตของตลาดเอเชียก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงกว่าตลาดหุ้นอื่นๆทั่วโลก
นอกจากนี้การตื่นตัวเรื่องภาวะโลกร้อนก็เป็นโอกาสทางธุรกิจเช่นกัน เมื่อบลจ. ธนชาตเสนอขาย “กองทุนเปิดธนชาตนิวเอ็นเนอร์จีฟันด์” ซึ่งมีนโยบายลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนทั่วโลก โดยกองทุนดังกล่าวอยู่ภายใต้การบริหารของ Blackrock Merrill Lynch Investment Managers ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารมากที่สุดติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก และกองทุนอ้างอิงนี้มีผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปีเฉลี่ยที่ 30-40% ต่อปี
“เป็นกองทุนที่ลงทุนในพลังงานทางเลือก ถามว่าน่าสนใจยังไง เราเห็นว่ามีความไม่แน่นอนของราคาพลังงานอยู่ตลอดเวลา ก็เป็นความเสี่ยง ซึ่งขณะนี้ผู้ใช้พลังงานทางเลือกก็เป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ลงทุน และในยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น ก็เห็นความเสี่ยงเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นมันมีโอกาส” นายบุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ธนชาต
ในภาพรวมแล้วแม้ว่าการลงทุนผ่านกองทุน FIF จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในประเทศ แต่ความเสี่ยงก็สูงกว่าเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ความเสี่ยงจากปัจจัยพื้นฐานภายในประเทศนั้นๆ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ตลอดจนอุตสาหกรรมและสภาพแวดล้อมของตลาดเงินตลาดทุนที่มีความแตกต่างกัน และ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนที่ได้รับมีความไม่แน่นอน รวมทั้งนักลงทุนบางส่วนยังคงมองว่าการลงทุนในต่างประเทศเป็นเรื่องยาก เนื่องมาจากลักษณะของกองทุน FIF จะเหมาะกับผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนในต่างประเทศในระดับหนึ่ง สามารถรับความเสี่ยงได้ค่อนข้างมาก และมีความต้องการลงทุนในระยะยาว จึงทำให้กลุ่มผู้ลงทุนยังจำกัดอยู่ในบางกลุ่มเพียงเท่านั้น
ปัจจุบันกองทุน FIF เริ่มเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างมากขึ้น เห็นได้จากการเติบโตแบบก้าวกระโดดของมูลค่าของกองทุนจาก 900 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 30,600 ล้านบาท มาเป็น 2,700 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 91,800 ล้านบาทในขณะนี้
แม้ว่ากองทุน FIF จะเติบโตขึ้น และมีการเสนอขายกองใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ ล่าสุดทาง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพยฺและตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต. เตรียมที่จะออกกฎเกณฑ์บังคับให้ บลจ.ต่างๆที่ขออนุมัติจัดตั้งกองทุน FIF ให้เสนอขายหน่วยลงทุนภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับการอนุมัติจาก ก.ล.ต. หลังจากพบว่ามีหลาย บลจ.ที่ยังไม่ได้เสนอขายหน่วยลงทุน ทั้งที่ได้รับอนุมัติจาก ก.ล.ต.แล้วมูลค่ารวม 1,500 ล้านบาท หรือประมาณ 51,000 ล้านบาท
จาก Money Channel
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น