วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

งานประจำของ VI

การที่จะเป็น Value Investor ที่ดีนั้นเราจะต้องทำอะไร? ถ้า VI ไม่ค่อยซื้อขายหุ้นหรือตามราคาหุ้นแล้ว วัน ๆ เขาจะทำอะไร?


คำตอบของผมก็คือ งานของ VI ก็คือ การค้นหาหุ้นที่จะลงทุนและการเพิ่มความสามารถในการเลือกหุ้นและการจัดการการลงทุนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะทำให้เราได้ผลตอบแทนที่ดีโดยที่มีความเสี่ยงไม่มาก และต่อไปนี้ก็คือ งานบางอย่างที่ผมคิดว่า VI ที่มุ่งมั่นควรทำเป็นประจำ

เรื่องแรกคือ การหาความรู้เรื่องการลงทุนโดยเฉพาะที่เป็นแนว Value Investment และวิธีที่ดีที่สุดก็คือ การอ่านหนังสือการลงทุนที่เขียนโดยนักวิชาการหรือนักลงทุนที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จในสายงานของตน หนังสือการลงทุนนั้นมีมากมายมหาศาลยากที่จะอ่านได้หมด ดังนั้น อย่างน้อยเราควรอ่านเดือนละเล่มโดยเฉลี่ย และเนื้อหาของหนังสือนั้นควรจะครอบคลุมกว้างขวางในทุกด้านของทฤษฎีและปรัชญาการลงทุน ข้อแนะนำเพิ่มเติมของผมก็คือ นอกจากหลักการของ Value Investment แล้ว อย่างน้อยเราควรจะต้องอ่านและเข้าใจทฤษฎี “ตลาดที่มีประสิทธิภาพ” หรือ Efficient Market ของนักวิชาการที่บอกว่าการลงทุนให้ได้กำไรมากกว่าปกติในระยะยาวนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ไม่ว่าคุณจะใช้หลักการอะไร เหตุผลก็เพราะมันจะเป็นเครื่องเตือนใจเราตลอดเวลาว่า การลงทุนเป็นเรื่องที่ “ไม่ง่าย” อย่าประมาท

งานประจำอย่างที่สองก็ยังเป็นการอ่านหนังสือ แต่ไม่ใช่หนังสือเกี่ยวกับการลงทุน เหตุผลก็คือ การลงทุนนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่น ๆ อีกมาก ว่าที่จริงควรจะพูดกลับกันนั่นก็คือ สิ่งต่าง ๆ นั้นมีผลกระทบต่อการลงทุน ดังนั้น เราควรจะมีความรอบรู้ในเรื่องต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ซึ่งผมก็บอกไม่ได้เหมือนกันว่ามันคืออะไร วิธีของผมก็คือ ผมจะพยายามเรียนรู้เรื่องหรือทฤษฎีหรือปรัชญาสำคัญ ๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ เช่น ทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ล ดาร์วิน ประวัติศาสตร์ของโลกตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์ สงครามและการปฏิวัติครั้งใหญ่ ๆ ของโลก จิตวิทยาและสังคมวิทยาของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลกในยุคต่าง ๆ ทฤษฎีการจัดการต่าง ๆ ทั้งการตลาดการบริหารและการเงินที่เป็น “Break Through” หรือเป็นหนังสือที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการ เป็นต้น ผมพบว่ายิ่งอ่านผมก็ยิ่งสนุก แม้จะไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่ามันช่วยในการตัดสินใจลงทุนตรงไหน ลองอ่านดู อย่างน้อยเดือนละเล่มเช่นกัน
งานประจำอย่างที่สามก็คือการพบปะพูดคุยกับนักลงทุนที่เป็น VI ด้วยกันอย่างน้อยซักสองสามเดือนต่อครั้ง นี่ก็เป็นการช่วยให้เราได้ข้อมูลหรือตัวหุ้นที่น่าสนใจที่เราจะกลับไป “ทำการบ้านต่อ” นั่นก็คือ ศึกษาเพิ่มเติมเพื่อที่จะหาหุ้นที่ดีที่เราจะลงทุน ประเด็นสำคัญก็คือ อย่า “ลอกการบ้าน” คือซื้อหุ้นตามเพื่อนโดยที่เราไม่ได้ศึกษาเอง การพบปะกับเพื่อน VI นั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องของการ “มีสังคม” ด้วยโดยเฉพาะคนที่เป็น VI อาชีพที่ไม่ได้ทำงานประจำแล้ว

งานประจำอย่างที่สี่นั้นคล้าย ๆ และบ่อยครั้งปน ๆ กับงานอย่างที่สามนั่นคือ การพบปะผู้บริหารหรือเยี่ยมเยือนบริษัทจดทะเบียน นี่คือการเรียนรู้บริษัทและหุ้นที่เราสนใจลงทุนอย่างลึกซึ้งขึ้น สำหรับนักลงทุนที่ไม่มีโอกาสพบกับผู้บริหารเป็นการส่วนตัวหรือเยี่ยมบริษัท งาน Opportunity Day หรืองานผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน ซึ่งจัดโดยตลาดหลักทรัพย์เป็นประจำนั้น เป็นช่องทางที่ง่ายและสะดวกในการทำงานนี้ โดยส่วนตัวผมคิดว่านักลงทุนควรใช้เวลากับเรื่องนี้อย่างน้อยสัก 2-3 เดือนต่อครั้ง

งานประจำอย่างที่ห้าก็คือ การติดตามผลการดำเนินงานประจำไตรมาศของบริษัทจดทะเบียน งานนี้เราต้องทำปีละ 4 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาวันละหลาย ๆ ชั่วโมงในช่วงเวลาประมาณ 1 สัปดาห์หลังวันประกาศผลประกอบการ บ่อยครั้งที่ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่ผมตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้น เพราะตัวเลขผลประกอบการเป็นสิ่งที่ “บอกอะไรบางอย่าง” เกี่ยวกับความเชื่อของเราต่อตัวบริษัท

งานประจำอย่างที่หกนั้นเป็นงานที่ต้องทำทุกวัน นั่นก็คือ การอ่านหนังสือพิมพ์แนวธุรกิจ นี่คือการติดตามข่าวสารทางเศรษฐกิจ ธุรกิจและบริษัทจดทะเบียนทั่ว ๆ ไปและบางครั้งก็เกี่ยวกับหุ้นที่เราลงทุนอยู่หรือกำลังพิจารณาลงทุน ถ้าเราไม่อ่านเราจะไม่เห็นภาพว่าอะไรเกิดขึ้นในวงการธุรกิจและภาพใหญ่ของเศรษฐกิจ ดังนั้น ถ้าเราจะเป็น VI ผมคิดว่าเราควรอ่านหนังสือพิมพ์แนวธุรกิจอย่างน้อยวันละหนึ่งฉบับ

งานประจำอย่างที่เจ็ดที่ผมจะพูดถึงก็คือ การสังเกตและคิดถึงเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนหรือหุ้นเมื่อเราทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหลาย นี่คือสิ่งที่เราควรทำให้เป็นนิสัย ทุกครั้งที่เราไปจ่ายตลาดเราควรสังเกตว่าสินค้าอะไรเป็นที่นิยม ทุกครั้งที่เราใช้สินค้าหรือบริการเราควรคิดว่ามันดีไหมเราชอบไหม บริษัทไหนเป็นเจ้าของ เราควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหรือเลวลงของสินค้าหรือบริการที่อยู่ในตลาด เช่นเดียวกันเราควรสังเกตสิ่งใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมและคิดไปถึงผลกระทบของมันต่อบริษัทและหุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ทุกอย่างนี้ถ้าเราทำจนติดเป็นนิสัยแล้วเราจะไม่รู้สึกว่ามันเป็นงาน แต่มันเป็นเรื่องสนุกและจะทำให้เราเป็นนักลงทุนที่ดีขึ้น

งานประจำอย่างสุดท้ายที่จะต้องพูดถึงก็คือ การวิเคราะห์ การตัดสินใจและสั่งซื้อขายหุ้น และการทำรายงานพอร์ตการลงทุน นี่ถือเป็นงานการลงทุนโดยตรง แต่จริง ๆ แล้วสำหรับผมก็ไม่ได้ใช้เวลามากมายอะไรนักถ้าเราไม่ได้ซื้อขายบ่อย การวิเคราะห์หุ้นนั้นเป็นเรื่องที่บอกเป็นจำนวนครั้งที่ต้องทำยากขึ้นอยู่กับพอร์ตของแต่ละคนและการวิเคราะห์ว่าทำละเอียดแค่ไหน ส่วนการติดตามความเคลื่อนไหวของการลงทุนนั้น ผมทำเกือบทุกวันแต่เป็นเรื่องของการเปิดดูจอคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้ขณะทำงานอื่นเช่นการอ่านหนังสือ ส่วนการทำรายงานการลงทุนนั้นผมทำสัปดาห์ละครั้งเพื่อดูสถานะของพอร์ต งานนี้ใช้เวลา Update ข้อมูลเพียงไม่กี่นาทีต่อสัปดาห์ ประเด็นสำคัญของการ “ดูราคาหุ้น” นั้นก็คือ การมองหา “โอกาส” ที่อาจจะเกิดขึ้นมากกว่าที่จะเพื่อการซื้อขายเก็งกำไรในระยะเวลาสั้น ๆ

งานทั้งหมดที่กล่าวถึงนั้นดูเหมือนว่าจะมากเกินกว่าที่คนที่ยังทำงานประจำจะสามารถจัดการได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ดีมากในปัจจุบัน VI ที่ยังทำงานประจำก็สามารถทำงานการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงพอสมควร และถ้าเขาทำงานหนักหลังเวลางาน เขาก็อาจจะทำได้ดีไม่แพ้ VI อาชีพเช่นเดียวกัน

 
 
โลกในมุมมองของ Value Investor 17 สิงหาคม 2553

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น