วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

แนะเคล็ดให้เงินทำงาน

แนะเคล็ดให้เงินทำงาน กับ ธนพ เอี่ยมอมรพันธ์



ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนตัวจริง เผยเคยบริหารเงินกลายเป็นศูนย์ ก่อนฮึดประสบความสำเร็จกับการ "ให้เงินทำงาน" ในปัจจุบัน

ธนพ เอี่ยมอมรพันธ์ ผู้เขียนหนังสือให้เงินทำงาน ซึ่งปัจจุบันพิมพ์ครั้งที่ 9 แล้ว เปิดเผยในเวที โพสต์ทูเดย์ อินเวสเม้นท์ เอ็กซโป 2010 หัวข้อ "ให้เงินทำงาน" ว่า ตนเองนั้นทดลองบริหารเงินและให้เงินทำงานจากเงินจำนวนน้อยให้กลายเป็นจำนวนมาก และจากเงินจำนวนมากกลายเป็นศูนย์มาแล้ว เรียกว่าผ่านประสบการณ์มาหลายรูปแบบ โดยเริ่มเล่นหุ้นครั้งแรกเมื่ออายุ 19 ปี ครั้งเมื่อศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1997 ในขณะทิ่เกิดวิฤกตต้มยำกุ้งในประเทศไทย พ่อซึ่งส่งเงินให้เรียนในต่างประเทศส่งเงินมาให้จำนวนหนึ่งแล้วบอกว่า นี่เป็นก้อนสุดท้ายแล้วที่เหลือให้หาเอาเอง

นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ธนพ จึงลุกขึ้นมาหาทางให้เงินทำงานจากแบบอย่างที่เห็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินที่เล่นหุ้นในตลาดหุ้นภายในเวลาไม่กี่วันก็มีเงินจำนวนมาก แต่ด้วยประสบการณ์ที่ยังน้อยทำให้ต้องสูญเสียเงินไปจำนวนมากเช่นกัน แต่ความสูญเสียก็ไม่ได้นำมาซึ่งความสูญเปล่า กลายเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เขามีความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจการเงินในปัจจุบันนั้นเอง

ธนพ กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจในขณะนี้จะว่าฟื้นตัวอย่างชัดเจนก็ไม่เชิง เพราะหากมองลงไปในเชิงลึกแล้วจะเห็นได้ว่า หลายบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐแม้จะมีตัวเลขทางบัญชีที่สวยงามเป็นบวกไม่ขาดทุน เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนหันมาลงทุนในหุ้นของตน แต่จริงๆ แล้ว ก่อนที่บริษัทเล่านั้นจะมีบัญชีทางด้านการเงินที่สวยงาม พวกเขาได้ปลดลดพนักงานลงเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่มีหนี้ค้าง หรือมีกำไรมากขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันมีจำนวนผู้ว่างงานในสหรัฐอเมริกามากถึง 4.8 แสนคน คนว่างงานมากแสดงว่าเศรษฐกิจไม่ดี

ทั้งนี้ หากจะมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวจริงหรือไม่ต้องไปดูที่ค่าเศรษฐกิจที่แท้จริงว่าผู้ประกอบการร้านค้าขนาดเล็กจะอยู่รอดได้หรือไม่ เมื่อมีจำนวนคนว่างงานมากขนาดนี้ ประกอบกับช่วงก่อนหน้านี้บริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทประกาศล้มละลายไปแล้ว ดังนั้นร้านค้าที่เป็นค้าของเศรษฐกิจที่แท้จริง หรือเรียลเซกเตอร์ จะไม่มีรายได้ แล้วเศรษฐกิจจะฟื้นอย่างไร ต้องดูต้องไปว่า โอบามาจะแก้ป้ญหาเศรษฐกิจนับต่อจากนี้ไปอย่างไร

ไปดูตลาดอื่นๆ บ้าง อย่างตลาดยุโรป ซึ่งถือว่าเป็นตลาดใหญ่ก็ได้รับผลกระทบเหมือนกันก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร แต่ตลาดที่น่าสนใจจริงๆ คือ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ถือได้ว่าเป็นโอกาส ของตลาดเอเชีย เนื่อง จีน เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกมีราคาจ้างงานราคาต่ำที่สุด ซึ่งถือเป็นโอกาส เป็นประเทศที่มีการบริโภคมากที่สุดที่เหมาะแกการลงทุนด้านอาหาร

ส่วนญี่ปุ่น เป็นประเทศที่อนุรักษ์นิยมทำให้มีเงินออมมากที่สุด ไม่น่าเป็นห่วง ประเทศอินเดียในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเป็นศูนย์กลางทางด้านไอที และซอฟต์แวร์ของโลก เพราะคนอินเดียมีความรู้ความสามารถด้านไอที ประกอบกับค่าแรงถูก ต่อไปเจ้าของบริษัทในประเทศสหรัฐฯ และยุโรปจะมาจ้างคนอินเดียเป็นคอลเซ็นเตอร์ ดังนั้นประเทศอินเดียจะเป็นประเทศแห่งอุตสาหกรรมไอที คอลเซ็นเตอร์ แหล่งผลิตซอฟต์แวร์

สำหรับประเทศไทย ไม่ว่าจะมีปัญหาทางด้านการเมืองที่รุนแรงอย่างไร และมีปัญหาเศรษฐกิจโลกก็ตามแต่จีดีพีของประเทศก็ไม่ต่ำมากนัก แสดงว่าโครงสร้างพื้นฐานประเทศไทยยังดีอยู่มาก อย่างไรก็ตามถ้าประเทศไทยไม่มีปัญหาทางด้านการเมืองก็นับเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะเจริญก้าวหน้าต่อไปอย่างดี

อย่างไรก็ตาม อีกไม่นานนับต่อจากนี้คาดว่าประเทศไทยจะเกิดภาวะเงินเฟ้อ คือ สินค้าจะมีราคาแพงขึ้น แต่เงินเดือนของคนทำงานจะเท่าเดิม อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินก็จะมีการเปลี่ยนมากขึ้น ดังนั้นวิธีการออมเงินนอกจากนำเงินไปฝากธนาคารแล้วควรจะเก็บไว้ในรูปเงินตราต่างประเทศ 7 สกุล เพื่อประกันความเสี่ยงว่าเมื่อเวลาผ่านไป 6 – 9 เดือน เมื่อค่าเงินเปลี่ยนแปลงเงินจำนวนเดิมจะมีค่าเท่าเดิม โดยเงิน 7 สกุล ที่ควรจะแลกไว้ คือ ดอลล่าร์สหรัฐฯ, ปอนด์อังกฤษ, ยุโร, หยวน, สวิสฟรังซ์, เยน, ดอลล่าร์ออสเตรเลีย

นอกจากนี้ยังควรเก็บเงินสดไว้เป็นเงินฉุกเฉินสัก 30 – 40% ซึ่งเป็นเงินที่เก็บไว้เผื่อหากมีเหตุการณ์คอขาดบาดตายแล้วค่อยนำมาใช้ เป็นต้น

ธนพ กล่าวว่า “สำหรับการเล่นหุ้นนั้น ควรซื้อหุ้นที่มีคนซื้อเป็นจำนวนมาก หากหุ้นลงแล้ว 15% ก็ควรรีบขายเลย ไม่ควรรอหรือเสียแล้วไปนำเงินไปซื้อหุ้นอื่นแทน ที่อาจจะขึ้นถึง 50 – 70% จำไว้ว่าไม่ควรเสียดาย หากลงแล้วควรจะขายทันที”

สุดท้ายนี้ การลงทุนไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามจะต้องใช้วิจารณญาณให้รอบครอบและไตร่ตรองให้ดี ควรจะอ่านข่าวสารความเปลี่ยนแปลงของโลก และประเทศเป็นประจำเพื่อคาดการณ์เหตุการณ์ล่วงหน้าว่า เวลานี้เหมาะสมจะลงทุน อะไร หรือไม่อย่างไร


บทความจาก โพสต์ทูเดย์ 07 กุมภาพันธ์ 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น