วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ออมอย่างไรให้ชนะเงินเฟ้อ


เงินเฟ้อของไทยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา (ล่าสุดอยู่ที่ 4.1% ในเดือนมกราคม) นอกจากจะทำให้รายจ่ายของทุกคนในแต่ละเดือนเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นศัตรูสำคัญตัวฉกาจของผู้ที่เก็บออม

เพราะเงินเฟ้อจะคอยกัดเซาะเงินออมที่เราหามาด้วยน้ำพักน้ำแรงให้มีค่าลดน้อยลงไป เล็กลงไป

ในเรื่องนี้ สิ่งที่คนต้องการทราบก็คือ แล้วการออม/ลงทุนที่จะช่วยรักษาผลกระโยชน์ที่เราควรได้รับ ปกป้องเงินออมที่หามาอย่างลำบากไม่ให้สูญเสียไป ทำให้สามารถชนะเงินเฟ้อได้คืออะไร มีหลักคิดอย่างไร

หลังจากลองตรึกตรองดูแล้วหลายๆ รอบ คิดว่า หลักคิดสำคัญคือ “การลงทุนไปกับเงินเฟ้อ”

ลงทุนไปกับเงินเฟ้อคืออะไร ก็คือ ลงทุนกับสิ่งที่ผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ ทำนองว่า “ถ้าน้ำจะขึ้น ก็ขอขึ้นตามน้ำ” เพื่อให้สามารถลอยคอขึ้นตามน้ำ รักษาค่าของเงินที่เราเก็บออมไว้ได้

การฝากเงินไว้ที่แบงก์หรือซื้อพันธบัตร (ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรออมทรัพย์ หุ้นกู้เอกชน โดยเฉพาะที่มีระยะเวลายาว) เป็นทางออกที่ไม่น่าสนใจอย่างยิ่งช่วงที่เงินเฟ้อพุ่งเช่นนี้ ถ้าไปดูจะพบว่า ดอกเบี้ยเงินฝากแบงก์ในปัจจุบันที่คนไทยมากกว่า 70 ล้านบัญชีได้รับ ก็เพียงแค่ 0.5-1.6% เท่านั้น

เรียกได้ว่า ถ้าเราหลงไปฝากแบงก์ เงินออมของเราที่เก็บออมมาได้อย่างแสนลำบาก แทนที่จะทำงานออกลูกออกหลานมารับใช้เราอย่างเข้มแข็งเพื่ออนาคตของเรายามเกษียณ แต่ด้วยเงินเฟ้อสูงถึง 4.1% แต่ดอกเบี้ยแค่ 0.5-1.6% เช่นนี้ เมื่อ 1 ปีผ่านไป เมื่อเรากลับไปที่แบงก์ ถอนเงินต้นและดอกเบี้ยที่ได้ออกมา เราก็จะซื้อของต่างๆ ได้น้อยลง เทียบกับถ้าการเอาเงินต้นที่มีไปซื้อของมาเก็บไว้แต่ต้นปี เรียกว่าจนลง

หากเป็นเช่นนี้ ก็น่าคิดว่าแล้วอะไรละ ที่จะช่วยรักษาค่าของเงินที่เราเก็บออมไว้ ไม่ให้ถูกกัดกร่อนจากเงินเฟ้อ

คำตอบ ต้องหาสิ่งที่ให้ผลตอบแทนที่เพิ่มไปกับเงินเฟ้อ

1. การลงทุนในหุ้นที่พื้นฐานดี เป็นทางออกที่หลายคนพูดกัน การเป็นเจ้าของหุ้นก็เท่ากับการเป็นเจ้าของบริษัท เพราะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมาจากไหน ก็มาจากการที่ราคาสินค้าต่างๆ แพงขึ้น ถ้าเป็นเช่นนี้ บริษัทจะได้กำไรมากขึ้น และถ้าเราเป็นเจ้าของบริษัทซึ่งผลิตสินค้าออกมาขาย ก็เรียกได้ว่า อยู่ข้างเดียวกันกับเงินเฟ้อ ผลตอบแทนที่เราจะได้ในรูปเงินปันผล ราคาหุ้นที่ถือไว้ ก็จะขึ้นไปตามเงินเฟ้อ ทำให้เงินออมของเราไม่เสียหายไปกับเงินเฟ้อ (เช่นกับที่ไปฝากแบงก์ไว้) อีกทั้งบริษัทยังจะได้ประโยชน์จากการที่ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ที่เขาถือครองไว้ เช่น ที่ดิน โรงงาน เครื่องจักร ลิขสิทธิ์ต่างๆ จะปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่หนี้สินที่เขาไปกู้มาขยายกิจการในส่วนที่มีดอกเบี้ยคงที่ ก็จะมีมูลค่าน้อยลงในอนาคต (เรียกว่า ยิ่งเงินเฟ้อเพิ่ม ก็ยิ่งจ่ายหนี้คืนง่ายขึ้น เพราะรายได้เพิ่มแต่ต้นดอกไม่เพิ่ม)

2. ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ที่เป็นสินทรัพย์จริงๆ เช่น ทองคำ ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ หรือสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งมูลค่าของสินทรัพย์เหล่านี้ ปรับเปลี่ยนไปตามเงินเฟ้อ ปกติแล้ว ผู้ใหญ่มักจะสอนว่า ให้เก็บเงินเย็นของเราบางส่วนไว้ในรูปทองคำ ซื้อทีละเล็กทีละน้อย เช่นทีละ สลึง 2 สลึงเป็นต้น ตามที่จะมี เก็บเอาไว้ ยามยากก็จะสามารถเอามาขายออกไปเพื่อแก้ไขปัญหาได้ เพราะทองราคาจะขึ้นตามเงินเฟ้อ คนที่มีทองเก็บไว้ ก็เรียกว่าอยู่ข้างเดียวกับเงินเฟ้อเช่นกัน

ส่วนที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ก็เป็นการลงทุนที่ดีสำหรับช่วงเงินเฟ้อขึ้น เพราะราคาที่ดินมักจะเพิ่มขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจดี เมื่อเงินเฟ้อเพิ่ม ราคาที่ดิน ราคาอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ก็มักจะเพิ่มไปด้วย รวมถึงค่าเช่า คนที่ซื้อบ้านเพื่อให้เช่าก็จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นด้วย นับเป็นอีกทางออกที่ทาง

3. การลงทุนที่เป็นทางเลือกใหม่ๆ สำหรับทางเลือกใหม่ที่เราจะสามารถลงทุนเพิ่มได้ในปีนี้ ก็คือ พันธบัตรแบบใหม่ที่รัฐบาลจะออก ซึ่งผลตอบแทนจะปรับเพิ่มไปตามเงินเฟ้อ (เรียกกันว่าพันธบัตร TIPS) ตราสารตัวนี้จะช่วยให้เราได้รับการปกป้องจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นได้ แต่ช่วงแรกๆ ตราสารตัวนี้คงมีไม่มาก แต่ก็น่าสนใจครับ

ทั้งนี้ จะเลือกลงทุนแบบใด จะสู้กับเงินเฟ้ออย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่แต่ละคนจะรับได้ ดังนั้น จึงควรหาสไตล์การลงทุนในแบบฉบับของตนให้พบ เมื่อพบแล้ว การบรรลุเป้าหมายของการออม/ลงทุนก็อยู่ไม่ไกลนัก



ไขปัญหาเศรษฐกิจกับ ดร. กอบ ครั้งที่ 41  17 กุมภาพันธ์ 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น