วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

แกะดำทำธุรกิจ

มุมมองใหม่ที่ผู้ประกอบการไม่ควรพลาด แนวคิดที่ทำให้ SMEs โตแบบก้าวกระโดด คิดคำถาม-ค้นคำตอบ พบตัวตนแล้วจะประสบความสำเร็จ ชี้ทางใช้เอกลักษณ์ไทยอย่างไร เป็นยุทธศาสตร์เจาะตลาดโลก

"ปัญหาของประเทศนี้คือ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ผู้คนไม่ขวนขวายที่จะทำอะไรก็แล้วแต่ที่มันลำบาก คนในประเทศรักสบาย ใครทำอะไรก็ทำตามเค้า เพราะมันง่ายดี ทำมา 30-40 ปี ประเทศถึงเดินถอยหลังอยู่ตลอดเวลา" ประโยคเริ่มแรกของ ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์ เจ้าของบริษัท แกะดำ ทำธุรกิจ จำกัด ที่ทำให้ผู้ที่ได้ยินต้องเก็บเอาไปคิด


ประเสริฐบอกว่า เขามีบุคลิกที่สนใจในวิธีคิดที่แตกต่างแบบมีเหตุและผล จึงเป็นที่มาของหลักคิด "แกะดำทำธุรกิจ" ที่เขาและ นฤมล บุญทวีกิจ ร่วมกันพัฒนาเพื่อใช้เป็นพลังขับเคลื่อนในการทำธุรกิจแนวใหม่ โดยแก่นของวิธีคิดคือการใช้สมองเป็นองค์รวม สมองขวานำแล้วตามด้วยสมองซ้าย นำด้วยจินตนาการแล้วหาตรรกะมาสนับสนุน
ในอดีต ประเสริฐเป็นหนึ่งในทีมบริหารที่บุกเบิก JWT จากบริษัทโฆษณาน้องใหม่จนกลายเป็นเอเจนซี Top 5 ของประเทศ แต่แล้วเขาตัดสินใจทิ้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เพราะไม่สบายใจกับระบบการทำงานของบริษัทข้ามชาติ ที่ขาดอิสระในการคิด จากนั้นเขาและ อิชยา ตันติตระกูล ได้ร่วมกันก่อตั้งและสร้างบริษัท Brand Connections ที่เริ่มต้นจากศูนย์จนกลายเป็น Media Agency ของคนไทยที่ใหญ่ที่สุด ด้วยบิลลิ่งกว่า 1,500 ล้านบาทในปัจจุบัน
 
ต่อจากนี้ เป็นการสัมภาษณ์พิเศษ "ประเสริฐ" เกี่ยวกับแนวคิด "แกะดำทำธุรกิจ" ว่าเหตุใดจึงเป็นทางเลือกและทางรอดสำหรับผู้ประกอบการและประเทศไทยในวันนี้
 


๐ ทำไมต้องทำตัวเป็นแกะดำ

ครั้งหนึ่งเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ประเทศไทยแข่งกับสิงคโปร์ ทุกวันนี้มาแข่งกับเวียดนาม แล้วเวียดนามก็กำลังจะแซงเราไป ที่พูดนั้นไม่ได้โทษคนใดคนหนึ่ง แต่โทษสังคมไทย เพราะผู้คนในประเทศนี้อยู่ใน "วงจรของการทำซ้ำ" คนไทยมีปัญหามากที่สุดคือต่อต้านการเปลี่ยนแปลง กลัวการเปลี่ยนแปลงเป็นที่สุด นี่เป็นพื้นฐานและปัจจัยที่ทำให้คนไทยไม่สามารถเดินหน้าไปสู่สังคมโลกได้ เพราะโลกนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก

คนไทยใช้อดีตเป็นเครื่องมือในการเดินเข้าไปสู่อนาคต เปรียบได้กับการขับรถแล้วมองแต่กระจกหลัง โลกเปลี่ยนไปวิธีคิดต้องเปลี่ยนตาม อย่าคิดว่าทำแค่นี้ก็สบายแล้ว ไปทำงานที่ไหนเอาแบบเดิมตลอด เพราะความสำเร็จของมนุษย์ไม่ได้ใช้ประสบการณ์มาการันตี ว่าจะประสบความสำเร็จเสมอ เพราะถ้าสำเร็จเสมอทุกคนคงจะไม่มีปัญหาอย่างทุกวันนี้

๐ หลักของแกะดำ ต่างจาก Differentiate or Dieอย่างไร

แกะดำต้องสวนทาง 1800 แต่ Differentiate แค่แตกต่าง อาจแตกต่างแค่ 800-900 การคิดแบบแกะดำคือ การสวนทางหมดทุกอย่าง คนอื่นเลี้ยวขวา แกะดำเลี้ยวซ้าย คนอื่นใส่ดำ แกะดำใส่ขาว คนอื่นต้องซื้อ แต่แกะดำให้ฟรี

ทุกคนไม่เหมือนกัน ต้องเอาตัวตนของคนนั้นมาเป็นหลัก ใช้ตัวตนออกมาเป็นเครื่องมือในการออกแบบธุรกิจ เพราะฉะนั้นแกะดำคือการเป็นอิสระทางความคิด ทำธุรกิจอยู่บนพื้นฐานของตัวตน ดังนั้นจึงลอกเลียนแบบไม่ได้ จากวิธีคิดแบบนี้ กำลังบอกว่าเพราะตัวตนที่ไม่เหมือนกัน ทำธุรกิจอย่างไรก็ไม่เหมือนกัน ลอกเลียนแบบไม่ได้

ปัจจุบันชาวแกะขาวแห่กันไปตาย เพราะอยู่บนความเชื่อที่ว่า วิธีคิดแบบเดิมถูกและนำเอาไปทำธุรกิจตามๆ กัน หารู้ไม่ว่าคนที่ทำอยู่ทุกวันนี้มันเดินหน้าไม่ได้แล้ว ถึงที่สุดต้องตายไปตามกัน ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง เพราะบริบทของโลกเปลี่ยนไป สังคมเดี๋ยวนี้ไม่มีเส้นแบ่งจากการที่รัฐบาลเข้ามาช่วยอุ้มไว้

แกะขาวตายเพราะ 2 สาเหตุนั่นคือ 1.ยืนอยู่ในที่เดิม ซึ่งแออัดไปด้วยผู้ประกอบการนับหมื่นนับแสนที่ทำธุรกิจเหมือนกัน ต้องเข้าใจหลัก Demand กับ Supply ว่า Supply มีมหาศาล แต่ Demand มีอยู่นิดเดียว และ 2.โลกเปลี่ยนแปลงไปทุกๆ วัน แค่นี้ก็มองเห็นความตายแล้วแน่นอน คำถามคือคุณจะอยู่ในวงจรเก่าไปทำไม อยู่ไปก็เหมือนไดโนเสาร์รอวันสุดท้ายของชีวิต

อนาคตของแกะขาวตัวเล็กนี่เสียชีวิตแน่ ถ้าตัวใหญ่หน่อยก็ไม่เป็นไร แนวโน้มของธุรกิจจะทำให้อยู่ได้ถึงจุดหนึ่ง แล้วก็ต้องเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดต้องเปลี่ยนแปลงเมื่อพร้อม ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงเมื่อถูกบังคับจากแรงกดดันทางการตลาด สิ่งเหล่านี้เห็นกันได้ชัดเจน ไม่เปลี่ยนวันนี้ก็ต้องอีก 5-10 ปีข้างหน้า

๐ จะรู้ได้อย่างไรว่าตอนไหนคือเวลาที่ต้องเปลี่ยน เป็นการเปลี่ยนครั้งเดียวจบหรือว่าต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

ต้องทำวันนี้เลย โดย Move ไปเรื่อยๆ เป็น Gradual Change ทั้งประเทศไทยต้องค่อยๆเปลี่ยนไม่หยุดอยู่กับที่ การ Change เป็น Mandatory ที่จำเป็น วันไหนที่ใกล้จะตายแล้วอย่าเปลี่ยนเลย เพราะเปลี่ยนแล้วก็ไม่สำเร็จ ถ้าจะเปลี่ยนต้องทำตอนที่ยังเข้มแข็งอยู่ เงินยังมี สภาพจิตใจยังดี แต่การจะเปลี่ยนได้จำเป็นต้องค้นหาตัวตนอยู่ตลอดเวลา มนุษย์ทุกคนในช่วงชีวิตมีสิ่งซ่อนเร้นอยู่ คนไทยมีระบบที่ถูกครอบมาชั่วชีวิต คนไทยไม่ชอบศึกษาหาความรู้ ต้องใฝ่รู้ว่าตัวเองชอบทำอะไร จะเริ่มเปลี่ยนต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าเก่งอะไรและไม่เก่งอะไร ไม่ใช่คนอื่นทำอะไรก็ต้องทำตามบ้าง

ทุกวันนี้คนไทยทำงานไม่มีความสุข เพราะรักสบายและคนไทยชอบกฎเกณฑ์มาก ไม่เคยเห็นสังคมไหนมีกฎเกณฑ์เยอะเท่านี้ ถ้าไปอยู่ในสังคมโลกจะเห็นเลยว่าทำแบบนี้ผิด เพราะทำให้ไม่มีการพัฒนา สาเหตุสังคมไทยเป็นสังคมที่นิยมกฎเกณฑ์ เพราะสามารถปกครองคนได้ แต่สังคมที่ดีต้องปล่อยให้คนมีอิสระทางความคิด ต้องคิดแตกต่างอย่างมีเหตุผล และอย่าใช้กฎเกณฑ์เป็น "นาย" ให้ใช้กฎเกณฑ์เป็น "เครื่องมือ" ในการทำงาน การใช้กฎเกณฑ์เป็นเครื่องมือได้ เจ้านายจะต้องรู้จริงและรู้ลึกในสิ่งที่ทำ

๐ แต่การใช้กฎเกณฑ์สามารถวัดผลได้ง่าย

วัดผลง่ายมาทำงานตรงเวลาได้ 10 เต็ม 10 มาช้าได้ 6 เต็ม 10 ซึ่งไม่ใช่ ต้องวัดว่าผลงานใครดีกว่ากัน เจ้านายคนไทยมารอดูว่า 9 โมงเช้าลูกน้องเข้ามาหรือเปล่า 5 โมงเย็นมาดูว่ายังอยู่ไหม กฎเกณฑ์แบบนี้เป็นอุปสรรค โลกปัจจุบันนี้ทำงานที่ไหนก็ได้ หัวใจสำคัญคือถ้านัดวันไหนต้องส่งวันนั้น ดูที่ผลของงาน บริบทของการทำงานเปลี่ยนไป ถ้าอยู่ในบริษัทแล้วทำงานแทบตาย นายก็ไม่ให้ อยู่ในบริษัทไม่ได้ต้องออกมา อันนี้เป็นปัญหาของบริษัทในเมืองไทย

ตัวอย่างเช่น นาย ก. มาตรงเวลาทุกทีเลย แต่ผลงานธรรมดา นาย ข. ออกมาทำงานนอกบริษัท เข้าออฟฟิตตรงเวลาบ้างไม่ตรงเวลาบ้าง แต่ผลงานดีมาก ถ้าคิดแบบแกะดำ นาย ก. ให้ขึ้นเงินเดือนปกติตามค่าเฉลี่ย แต่ นาย ข. ได้ขึ้น 30% เพราะเจ้านายแบบแกะดำสามารถอธิบายได้ว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ แต่เจ้านายปกติในสังคมไม่กล้าอธิบาย เจอลูกน้องถามก็ไม่มีคำตอบให้ เจ้านายที่ดีต้องมีกระบวนการที่ยุติธรรม ซึ่งมาจาก "คุณธรรม" และ "ความซื่อสัตย์"

อีกอย่างคือ คนไทยไม่เชื่อใน "กระบวนการยุติธรรม" แต่เชื่อใน "ผลลัพธ์ที่ยุติธรรม" คือ "Fair Process" กับ "Fair Result" โดย Fair Process ใครทำงานดีขึ้นเงินเดือนเลย 30% ส่วนคนทำงานแย่ไม่ขึ้น และปีหน้าถ้าไม่ปรับปรุงจะไล่ออก แต่คนไทยเป็นแบบ Fair Result คือแบ่งไปคนละนิดคนละหน่อย จะได้ไม่ทะเลาะกัน ทำงานดีได้ 2 ขั้น ทำงานแย่ได้ 1 ขั้น ตัวอย่างที่ชัดเลยคือ พนักงานเสิร์ฟไทยกับต่างประเทศ ในต่างประเทศจะได้ Tip มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการทำงาน ตามหลักพุทธศาสนา ทำดีต้องได้ดี ทำไม่ดีต้องถูกลงโทษ
 
๐ ถ้าอยากเป็นแกะดำต้องเริ่มคิดและปรับอย่างไร


แค่คิดได้ก็มีความสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว คนเราต่างกัน หนังสือบางเล่มบอกว่า รวย 100 ล้านตอนอายุ 35 ปีต้องทำอย่างไร แต่ในความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้ ไม่เช่นนั้นคนที่อ่านจบก็รวยกันหมดแล้ว คนในโลกนี้ไม่เหมือนกัน ทำไมต้องใช้เส้นทางเดินไปสู่ความสำเร็จเส้นเดียวกัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่ถูกคือไปค้นตัวเองก่อนว่าเป็นอย่างไร รู้ไหมว่าทำธุรกิจมาทุกวันนี้ตัวตนเป็นอย่างไร คนจำนวนมากไม่รู้ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่ทำอยู่ผิดหรือถูก

จากนั้นจึงเริ่มปรับโดยหลัก 4 ข้อคือ 1.Fair Process ในการวัดผลลัพธ์การทำงาน ซึ่งจะเกิดได้จากคนที่เป็นผู้นำต้องมี 2.คุณธรรม 3.ความซื่อสัตย์ และ 4.ต้องมีความสามารถขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความสำเร็จ ทำงานต้องเกิน 100% เพราะคนไทยทำงานแบบพอผ่าน แค่นี้ก็โอเคแล้ว เหตุที่คนไทยต้องทำงานเกิน 100% ไม่ใช่มาตรฐานสูงไป แต่เพราะไทยเป็นประเทศเปิด เราอยู่ในสังคมโลก เค้าทำงานกันเกิน 100% ทั้งนั้น

"แกะดำทำธุรกิจ" เป็นแนวการคิดอย่างแตกต่าง อย่างมีเหตุและมีผล ไม่ว่าทำธุรกิจอะไรก็ตาม เมื่อมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจที่คนอื่นมองข้ามไป แล้วกล้าลงมือทำเป็นคนแรก จะส่งผลให้ประสบผลสำเร็จในชีวิตอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ในแบบที่ไม่เคยคิดว่าจะประสบความสำเร็จขนาดนั้น

หลักความคิดแบบแกะดำคือ ความคิดแบบข้อเท็จจริง เป็นสามัญสำนึก ทำในสิ่งที่เป็นไปได้ คนส่วนใหญ่ในประเทศไม่ยอมอยู่กับข้อเท็จจริง ชอบอยู่กับอดีต กฎกติกา ข้อเท็จจริงคือ วันนี้ยืนอยู่ตรงนี้แล้วจะเดินไปข้างหน้าด้วยวิธีแบบเก่าได้ไหม เป็นไปไม่ได้ เพราะใช้ไม่ได้ และคิดจากสามัญสำนึก เช่น ตามโรงแรมน้ำกระป๋องในตู้เย็นขาย 50 บาท ไม่มีใครเคยหยิบดื่มกัน ทำไมไม่แจกให้ฟรีไปเลย ไม่ใช่การคิดเรื่องใหม่ แต่คนส่วนมากที่เป็นแกะขาวกลัวการเปลี่ยนแปลง

เมื่อวิธีคิดเปลี่ยน ตัวเราก็จะเดินไปบนเส้นทางใหม่ คนส่วนใหญ่เปลี่ยนช้ามาก คนที่เปลี่ยนแปลงง่ายที่สุดคือ SMEs แต่ SMEs ต้องรู้ว่าตัวเองมีจุดแข็งอะไร ที่จะสามารถชนะบริษัทใหญ่ได้ อย่างเช่น บริษัท Apple เมื่อ 20 ปีที่แล้วก็เป็นแค่ SMEs รายหนึ่ง ดังนั้นการเป็น SMEs ถือเป็นข้อได้เปรียบ องค์กรใหญ่ๆ กว่าจะเปลี่ยนแล้วได้ผลใช้เวลาหลายปี แต่ถ้า SMEs บอกว่าจะเปลี่ยนนี่ เปลี่ยนได้ทันทีเลย เพราะ SMEs ว่าด้วยเถ้าแก่ ซึ่งมี Adaptability to Change ที่ดีมาก อันนี้เป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งบาง SMEs ไม่เคยรู้ว่าตนเองกำความได้เปรียบอยู่ ยุคนี้เป็นยุคแห่ง Speed of Change ใครเปลี่ยนก่อนก็ได้เปรียบ

๐ ตอนนี้รัฐบาลสนับสนุนให้เกิด Creative Economy ถ้ามองลงไปที่ SMEs ควรจะปรับตัวอย่างไร

รัฐบาลนี้บริหาร Creative Economy ไม่เป็นเลย เพราะไปเอาต้นแบบจากเมืองนอกมาใช้ Creative Economy ต้องเริ่มต้นว่า 1.พวกที่จะทำต้องรู้ก่อนว่า อุตสาหกรรมไหนเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ (Strategy Industry) ที่เอา Creative Economy ไปใช้แล้วสามารถส่งสินค้าหรือบริการเข้าไปในตลาดโลกได้เร็วที่สุด ได้รับเงินตอบแทนเร็ว ไม่ใช่การหว่านไปทั่ว

2.คนที่จะทำต้องเข้าใจตัวตนของคนไทย ถ้าคนไทยทำงานหมู่มากไม่สำเร็จ คนไทย 1 คนมีความเก่ง แต่เมื่อเอามาทำงานร่วมกันจะมีปัญหา เพราะคนไทยไม่มีวินัย แค่เรื่องตรงเวลานี่คนไทยยังทำไม่ได้เลย สุดท้าย 3.คนไทยมีเอกลักษณ์น้ำใจงาม ชอบเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น

คนวางแผนต้องรู้ว่า อะไรที่จะ Export สู่ World Market ได้ และต้องรู้ว่าคนไทยมีข้อเด่นและข้อด้อยอะไร เมื่อจับอุตสาหกรรมต่างๆ มาวางเทียบกัน อย่างเช่น อุตสาหกรรมภาพยนตร์ จะเห็นได้เลยว่าไม่มีทางที่จะทำแบบเกาหลี เพราะคนเกาหลีมีวินัย เอาจริง ความเอาจริงคนไทยน้อยมาก ส่วนอุตสาหกรรมโฆษณา แม้ว่าติดอันดับโลก แต่ไม่สามารถส่งออกไปตลาดโลกได้แน่ เพราะขนาดองค์กรใหญ่ๆ ในประเทศเองยังจ้างบริษัทโฆษณาต่างชาติเลย เนื่องจากคนไทยไม่เคยเชื่อในคนไทยด้วยกัน

เราเชื่อใน Brand ต่างชาติ ถ้าคนไทยทำออกมาเองเราไม่เชื่อในความสามารถ มาตรฐานหรือทัศนคติของคนไทยเป็นแบบนี้ ทำให้ 90% ของธุรกิจโฆษณาไทยอยู่ในมือของต่างชาติ แต่ 99.99% ที่ทำงานคือคนไทย แต่ถ้าคนไทยต้องตั้งบริษัทไปสู้กับบริษัทต่างชาติใหญ่ๆ นี่ไปไม่รอด ต้องเข้าใจว่าทำ Creative Economy เพื่อเอาเงินตราเข้าประเทศ ไม่ได้เอาไปอยู่ในมือฝรั่ง ในญี่ปุ่นบริษัทโฆษณา Dentsu มีมติเลยว่า ถ้าทำโฆษณาได้เท่าหรือดีกว่าของต่างชาติ คนในชาติต้องใช้บริการ ดังนั้น Creative Economy ต้องมีพื้นฐานมาจากคนในชาติก่อน

๐ ถ้ามองอย่างนี้คนไทยจะทำธุรกิจอะไรได้ ที่ตรงกับความเป็นตัวตนของเรา


ต้องรู้ว่าคนไทยมีดีอะไรที่คนทั้งโลกไม่มี แล้วเอา Creative Economy เข้าไปเสริม เชื่อว่าคนไทยมีความสุดยอดอย่างหนึ่ง ซึ่งคนทั่วโลกไม่มี คือความอ่อนช้อย ความมีน้ำใจ ความมีศิลปะ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

Creative Economy เริ่มได้ดีที่สุดคือธุรกิจท่องเที่ยว เริ่มจากโรงแรม ต่อไปที่ธุรกิจอาหาร และของใช้ทั่วไปที่นักท่องเที่ยวต้องมาซื้อ ทุกวันนี้ธุรกิจท่องเที่ยวทำรายได้ 5 แสนล้านต่อปี เติม Creative Economy จะเพิ่มอีกเท่าตัวง่ายนิดเดียว ไม่ใช่เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว แต่ต้องเพิ่มจำนวนวันที่อยู่ เงินเพิ่มทันที แต่ทุกวันนี้กลับไปเพิ่มที่จำนวนหัว จากนักท่องเที่ยวที่ไร้คุณภาพ

สิ่งที่จะต้องทำคือ การสร้างจากตัวตนของคนไทย ทุกวันนี้โรงแรมดุสิตธานีใช้การบริหารแบบฝรั่ง ทำตามแบบ Hilton ที่ใช้กฎเป็นนาย ทำอาหารเช้าเหมือนกันทุกวัน ถ้าบริหารแบบแกะดำต้องทำอาหารเช้าที่ต่างกันทุกวัน เครื่องดื่มในตู้เย็นดื่มฟรี ตอนแขกเข้ามา Check in ไม่ต้องยืนหน้า Counter แต่ให้นั่งแทน ใช้กริยามารยาทของคนไทยในการบริหารโรงแรม มีบริการที่ประทับใจ เพราะทรัพยากรของเมืองไทยติดอันดับโลกอยู่แล้ว

โรงแรมแบบแกะดำจะเลือกรับพนักงานที่ทัศนคติ ไม่ได้เลือกจากประสบการณ์ เพราะ สันดานสอนไม่ได้ ต้องเอาคนที่คิดเหมือนๆ กัน มีจิตใจบริการ อยากบริการคนอื่น ให้พนักงานแต่ละคนมีจิตวิญญาณในการดูแลลูกค้า ที่เหลือมาฝึกเอาได้ วันนี้ตอนรับสมัคร ถามแต่เคยทำที่ไหนมาก่อน เพราะต้องการอย่างเร็วๆ ต้องคัดเลือกคนโดยใช้สามัญสำนึก

๐ เข้าใจเรื่องเอกลักษณ์ที่แตกต่าง แต่ถ้านำเสนอไม่เป็นก็ไร้ประโยชน์

เคยไปที่ประเทศอังกฤษ มีร้านอาหารอยู่ร้านหนึ่ง เข้าไปในร้านไม่มีอะไรน่าสนใจเลย ราคาอาหารแพงมาก แต่พอเอาเมนูมาอ่าน ทำให้รู้ว่าร้านนี้มีเรื่องราว มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาสัมพันธ์กับราชวงศ์ระดับสูง คนเข้ามาทานเพราะเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างนี้ แล้วสามารถทำให้ผู้เข้ามาใช้บริการรับรู้ได้ เราต้องหัดเล่าเรื่องให้เป็น ทั้งหมดอยู่บน 2 เรื่อง คือ 1.เอาเอกลักษณ์ของสถานที่นั้นเป็นหลัก และ 2.เติมความคิดใหม่เข้าไป เริ่มต้นแบบสร้างสรรค์ จะทำให้เราได้ Solution ใหม่ๆ ทันที

ตัวอย่างในไทยเช่นที่เยาวราช มีความเป็นตำนานอยู่แล้ว สามารถทำเป็นจุดท่องเที่ยวได้สบายๆ เลย 1 คืน ร้านแต่ละร้านตรงนั้นมีความต่างเฉพาะตัวอยู่แล้ว ทำอย่างไรถึงจะบริหารจัดการได้ดีกว่าเดิม ตอนนี้ชาวต่างชาติไปสั่งอาหารลำบาก เมนูภาษาอังกฤษไม่มี ดูแผนที่ก็ไม่ละเอียดพอ แล้วยังหาที่จอดรถไม่ได้อีก

กรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา หัวหิน การทำ Creative Economy คือต้องให้แต่ละที่คงความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง แต่ตอนนี้ Copy กันไปหมดแล้ว หัวหินพยายามทำตัวเหมือนพัทยา เชียงใหม่กลายเป็นกรุงเทพฯ ต้องแยกบุคลิกให้ชัดเจน ต้องค้นหาวิธีทำใช้นักท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่แต่ละแห่งนานขึ้น เพราะความไม่เหมือนกัน ได้สัมผัสคนละรสชาติ

๐ แล้วรัฐบาลควรสนับสนุนในด้านไหนได้บ้าง

วันนี้ต้องถามก่อนว่าหน้าที่ของรัฐบาลคืออะไร ไม่ใช่ไปแย่งงานเอกชนทำ รัฐบาลไม่ควรไปยุ่งกับเขามากนัก ให้เขาได้บริหารและสร้างกฎกันเอง สิ่งที่ต้องทำคือการสร้าง Infrastructure ให้ดีๆ ทุกอย่างจะพัฒนาตามมาเอง ตอนนี้โรงแรมจะขายห้องต้องจ่ายเงินให้ตัวแทนฝรั่ง 30-40% ไม่คุ้มค่าเลย จะทำอย่างไรให้จองผ่านตัวแทนของเราเองได้ อย่างในประเทศอื่นหน่วยงานของรัฐบาลจะเป็นตัวกลาง

งบประมาณ 20,000 ล้านไม่ได้ถือว่ามากมาย ถ้าเอาไปทำ Creative Economy ควรที่จะต้อง Focus แค่เรื่องเดียวให้ดีไปเลย เมื่อก่อนการโปรโมทเรื่อง Unseen Thailand ไม่ประสบความสำเร็จเพราะว่า Unseen คือบริสุทธิ์ เป็นธรรมชาติมาก โปรโมทไปทำลายทันที เพราะยังไม่มี Infrastructure ที่ดีมารองรับ ถ้ากล้าลงมือทำ รายได้เพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะอยู่บนพื้นฐานความเก่งของคนไทย

๐ อยากจะฝากอะไรกับแกะขาวที่รอการเปลี่ยนแปลงบ้าง

คนไทยสนใจแต่ "คำตอบ" ไม่สนใจ "ตั้งคำถาม" คืออยากเป็นอะไรให้บอกแบบสำเร็จรูปเลย ซึ่งในในความเป็นจริงไม่สามารถทำได้ ต้องตั้งคำถามให้ถูกและเปลี่ยนวิธีคิดก่อน การเป็นแกะดำคือการให้อิสระ Freedom to Think and Freedom to Act ไม่เอาบริบทมาครอบความเป็นตัวตน โดยการเปลี่ยนแปลงที่มาจากเจ้าของ Change have to come from the top เป็นจุดเริ่มต้นดีที่สุดในการขับเคลื่อนตัวเอง และนำพาธุรกิจไปสู่เส้นชัยได้ แกะดำทำธุรกิจมี Key Word อยู่ 2 ข้อคือ

1.Fundamental Change คือการเปลี่ยนแปลงที่รากฐานของการทำธุรกิจ และ 2.Follow through change คือการเปลี่ยนแปลงจากต้นน้ำไปสู่ปลายน้ำ เปรียบเสมือนการตีกอล์ฟที่ต้องตีแล้วหมุนจบวงสวิง ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถทำได้ตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็ก จนไปถึงธุรกิจขนาดใหญ่ข้ามชาติ

********
กรอบแนวคิดแกะดำ ฝ่าวงล้อมของการเดินตาม

เหล่า "แกะขาว" ผู้ต้องการกลายพันธุ์เป็น "แกะดำ" ต้องทำความเข้าใจให้ดี แม้การเป็นแกะดำจะเริ่มกระบวนการคิดที่ใช้จินตนาการเป็นตัวตั้ง แล้วตามด้วยหลักการของเหตุและผลเป็นตัวตาม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเป็นการคิดแบบไร้กรอบ แต่กลับเป็นการทำธุรกิจที่ต้องมองอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงของสังคมอยู่ 6 ประการ นั่นคือ

1.เป็นธุรกิจที่เดินนําหน้า ทําอะไรเป็นคนแรก สร้างสิ่งใหม่ให้กับวงการที่ไม่เคยมีมาก่อน

2.ใช้ความคิดสร้างสรรค์ สร้างไอเดียของธุรกิจที่แตกต่าง อย่างมีเหตุและผล

3.เป็นธุรกิจที่ดื่มดํ่าในคําว่าคุณภาพ

4.ใช้ความรู้สึกเป็นตัวนําทาง ความรู้สึกบอกถึงความเป็นไปได้ ความรู้สึกทําให้คุณมองเห็นสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น เป็นเข็มทิศทางธุรกิจที่อธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้

5.บริหารธุรกิจด้วยสามัญสํานึก ไม่ใช้กฎเป็นนายของการทํางาน

6.มีคุณธรรมและความซื่อสัตย์ในการทําธุรกิจ

กติกาของการเป็น "แกะดํา" ขอให้คุณมีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งระหว่างข้อที่หนึ่งถึงห้า ถือว่าเป็นแกะดำขั้นเริ่มต้นได้แล้ว ส่วนข้อที่ 6ถือว่าเป็นข้อบังคับ เพราะไม่ว่าจะคิดทำธุรกิจใดๆ ก็ตาม ถ้าขาดคุณธรรมและความซื่อสัตย์แล้ว ธุรกิจนั้นไม่มีทางเติบโตอย่างยั่งยืนแน่นอน

นอกจากนี้ เมื่อก้าวเข้าสู่การเป็น "แกะดำ" ชั้นอนุบาลได้แล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญที่ทำให้แกะดำโตแบบ "กบกระโดด" ก้าวหน้าได้เร็วกว่ากว่าแกะขาว คือ

1. คนคือหัวใจของธุรกิจ ทำธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ เชื่อว่าคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจคือ พนักงาน ลูกค้า และผู้ถือหุ้น ผู้ประกอบการที่ดีต้องดูแลพนักงานก่อน เพราะเมื่อพนักงานมีความสุข เขาก็จะใส่ใจดูแลลูกค้าอย่างดี เมื่อลูกค้าเกิดความพึงพอใจทำให้มีความอยากที่จะจ่ายเพิ่มขึ้น เมื่อผลประกอบการสูงขึ้นทำให้ผู้ถือหุ้นมีความสุขตามมา

2. หาจุดอ่อนของธุรกิจแกะขาว เพื่อที่แกะดำจะแทรกตัวเข้าไปในตลาด

3. ออกแบบโมเดลธุรกิจแกะดำ ไม่ใช่เรื่องของการสรางความแตกต่าง หรือ Product differentiation แต่เป็นการสร้าง Value Shift เป็นการสร้าง Value ใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เช่น ร้านซ่อมรถยนต์ที่ปิดวันอาทิตย์ ทั้งที่ลูกค้าส่วนใหญ่มีเวลาว่างเอาไปซ่อมวันอาทิตย์

4. สร้างความเป็นเลิศในการส่งมอบ เมื่อมีสัญญากับใครก็ตาม ต้องสามารถส่งมอบให้ได้ 100% เป็นอย่างน้อย ผู้ประกอบการต้องใส่ใจตรงนี้ให้มาก เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่มีแต่ขาดๆ เกินๆ


สร้างสรรค์ความสุขแบบแกะดำ  หลุดจากพันธนาการเดิมของชีวิต

การหยิบวิธีคิดแบบแกะดำ มาใช้กับชีวิตส่วนตัว จะทำให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในทุกๆวัน เป็นความสุขที่ยั่งยืน พร้อมสามารถทั้งนำมาผสมผสานเข้ากับการทำธุรกิจได้ด้วย โดยยึดหลัก 4 ข้อคือ

1. ค้นหาจิตวิญญาณ-รู้จักตนเอง อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นอิสระ ให้อิสระในการค้นหาตัวเอง ค้นว่าตัวเองอยู่ตรงไหน ให้โอกาสในการดำเนินชีวิตในสิ่งที่ควรจะเป็น อย่าใช้ชีวิตในแบบ "Auto Pilot Mode" ต้องหาจุดมุ่งหมายให้กับชีวิต เปิดโอกาสให้ตนเองได้ลองทุกๆอย่างในชีวิต รวมถึงเด็ดขาดกับการตัดสินใจในสิ่งที่ตนเองเลือกแล้ว

2. บริหารจัดการชีวิตให้ได้ คนเรามีชีวิต 2 แบบ คือเป็น "นาย" และ "ทาส" เป็น "นาย" คือวางแผนมาดี แต่ "ทาส" ไม่เคยวางแผน "ถ้าเราเป็นนายของเวลา วันหนึ่งเราจะมีมากว่า 24 ชม." ด้วยการคิดแล้วทำเลย ถ้าไม่ทำจะพลาด เราต้องรู้ตัวเราว่าอะไรคือสิ่งที่เราอยากทำ แล้วรีบทำเลยทันที

แก้ปัญหาไปทีละเรื่อง อย่าเอาเรื่องต่างๆมาพัวพันกัน แม้สัมพันธ์กัน แต่ให้จับมาพิจารณาทีละเรื่อง ในบางครั้งการตัดสินใจในแต่ละเรื่อง เราต้องขโมย "คำตอบ" แล้วจึงมาดูว่าจะตัดสินใจอย่างไร เพราะในการตัดสินใจ เราต้องรู้ว่าต้องการอะไร ต้องตัดสิ่งรุงรังออก รวมไปถึงการทำตัวเรียบง่าย

3. ทำดีให้กับตนเอง สิ่งแรกคือ เติมอาหารสมองทุกวัน เพราะองค์ความรู้อยู่ในทุกๆที่ เรียนรู้จากทุกคนที่อยู่รอบตัว สุขที่สุขภาพ ต้องดูแลสุขภาพกายและสมอง เดิมความสุขให้กับตนเองด้วย อาหาร ดนตรี ท่องเที่ยว เพื่อให้ตนเองมีพลัง มองโลกเป็นสิ่งสวยงาม ทำให้ร่าเริงเดินได้ไกลกว่าคนอื่น พยายามหาความสุขให้กับตนเอง

4. ทำดีให้กับผู้อื่น ผู้อื่นในที่นี้มีอยู่ 2 สถานะคือ "ของตาย" คือพ่อ-แม่ และ "ของเป็น" คือเพื่อนฝูง คนเราต้องมี "ธนาคารใจ" ฝากความรู้สึกดีๆให้กับผู้อื่น มีความสามารถในการเข้าใจความรู้สุกของคนอื่น ความละเอียดอ่อนที่มอบให้กัน ใช้ความสัมพันธ์ดูแลซึ่งกันและกันให้ดีที่สุด ด้วยความคิดว่า "คบคนชั่วชีวิต" ด้วยความจริงใจและเสมอต้นเสมอปลาย เมื่อรับปากอะไรแล้วต้องทำให้เต็มที่

ทั้งหมดนี้ไม่ต่างอะไรเลยกับการทำธุรกิจ ที่เจ้าของจะต้องรู้ตัวตัวตนที่แท้จริงของธุรกิจที่ทำอยู่ พร้อมทั้งต้องสามารถบริหารงาน นำพาธุรกิจที่รับผิดชอบอยู่ไปสู้ความสำเร็จให้ได้ รวมถึงการมีจรรยาบรรณ ทั้งกับตนเองและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้ธุรกิจมีความยั่งยืน สามารถเปลี่ยนแปลงให้รับมือกับกระแสของวิกฤตที่ถาโถมเข้ามาอยู่ตลอด

นอกจากนี้ผู้นำที่ดีต้องมีหลักการคิดอย่างสร้างสรรค์ ต้องทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ ด้วยการฝึกคิดตั้งต้นที่สมองขวาตามด้วยสมองด้านซ้าย โดยในบ้างครั้งต้องสร้างเหตุผลแบบเอียงๆเพื่อให้สอดรับกับจินตนาการ เป็นการมองจากภาพใหญ่แล้วค่อยๆลงลึกไปในรายละเอียด เพื่อใช้จินตนาการ ตามด้วยตรรกะ โดยที่การพัฒนานั้นต้องมาจากใจ
 
 
 
ข้อมูลโดย "ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์
 
 
 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น