วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ศิริวัฒน์แซนด์วิช..ล้างภาพเซียนหุ้น ปั้นธุรกิจโก mai

เสือผอม ใจยังสู้..คนจน ใจยังทระนง 'ศิริวัฒน์แซนด์วิช' ผู้เสพสุขจาก..ทุกข์ฟองสบู่ พร้อมเสิร์ฟฝันครั้งใหม่ ปั้น 'Coffee Corner' โก mai

ไม่มีโชคชะตาที่ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดกาล ขอเพียงตัวเราขยันขันแข็ง โชคชะตาย่อมรับใช้เรา ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิกุล เศรษฐีตกสวรรค์ ใช้ความพากเพียรกว่า 12 ปี เชื่อในอุตสาหะนำพาโชคชะตา เขามาดมั่นว่า ในอีก 2 ปีข้างหน้า จะได้เป็นเจ้าของบริษัทจดทะเบียนในตลาด mai กิจการเล็กๆ ที่เติบโตมาจาก "ริมฟุตบาท..ข้างถนน"

แบรนด์ "ศิริวัฒน์แซนด์วิช" เริ่มต้นขึ้นเมื่อยุคฟองสบู่แตก ปี 2540 เมื่อศิริวัฒน์ และภรรยา (วิไลลักษณ์) ได้เริ่มทำแซนด์วิช 20 ชิ้นแรกขายในวันที่ 20 เมษายน 2540 เขาใช้เวลาทั้งหมด 6 ชั่วโมงครึ่ง กว่าสินค้าจะขายหมด

ก่อนหน้านั้น ศิริวัฒน์ เคยเป็นกรรมการผู้จัดการ บล.เอเชีย (ปัจจุบันคือ บล.เอเซีย พลัส) และผันชีวิตมาเป็นนักลงทุนรายใหญ่ระดับ "หลายร้อยล้านบาท" ในตลาดหุ้น และกลายเป็นหนึ่งใน "เซียนหุ้น" ชื่อก้องในเวลานั้น

ยามกินอิ่ม (ร่ำรวย) น้ำผึ้งก็ว่าขม เพราะไม่รู้จักพอ ปี 2537 เขาตัดสินใจผ่องเงินสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จัดตั้งบริษัท ทองกวีน จำกัด ลงทุนสร้างคอนโดมิเนียมหรูที่เขาใหญ่ แต่โครงการขายไม่ออก จนกระทั่งตลาดหุ้นตกต่ำลงซ้ำเติมโชคร้าย ภาพลวงตาทั้งหมดมลายหายไป เหลือเพียง "หนี้" ก้อนมหึมาที่เป็นความจริงแท้

เมื่อปี 2544 บริษัท บริหารสินทรัพย์จันทบุรี จำกัด ได้ยื่นฟ้องล้มละลายศิริวัฒน์ เรียกหนี้คืน 625 ล้านบาท ทุกวันนี้เขากลายเป็น "เสือผอม" แต่ใจยังทระนง หันชีวิตมาหาอาชีพขาย "ของกิน" ที่เขาเชื่อว่าไปได้ในทุกสถานการณ์ โดยเริ่มจากแซนด์วิช ซึชิข้าวกล้อง ปิต้าแซนด์วิช ข้าวตัง ขนมปังอบกรอบ และทำร้านกาแฟ Coffee Corner เปิดสาขาที่โรงพยาบาลกรุงเทพ บีเอ็นเอช ฟอร์จูนทาวน์ แฟชั่นไอส์แลนด์ และมีเคาน์เตอร์ขายที่โรงพยาบาลรามคำแหง

ศิริวัฒน์แซนด์วิช เปิดใจกับกรุงเทพธุรกิจ BizWeek ว่า ชีวิตกำลังจะ "เกิดใหม่" ในมาดนักธุรกิจระดับกว่า "สิบล้านบาท" โดยในอีกไม่ช้าไม่นานนี้จะมีปรากฏการณ์ (ปรับลุคธุรกิจ) ใหม่ แต่จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ตรงนี้ขอปิดไว้เป็นความลับ บอกได้ว่า การกลับมาครั้งนี้จะไม่ธรรมดาแน่ๆ

เถ้าแก่แซนด์วิชริมฟุตบาท ตั้งใจจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ และเส้นทางเดินใหม่จาก "เซียนหุ้น" มาเป็น "พ่อค้า" เต็มตัว เขา บอกว่า ไม่ใช่เพราะเข็ดขยาดอะไรหรอก แต่ด้วยอายุ 60 ปีแล้ว ชีวิตก็ควรจะมีกิจการเป็นหลักเป็นแหล่ง ไหนๆ ก็เลือกเดินทางนี้แล้ว สมัยก่อนนึกแค่ว่า ขายแซนด์วิช (ข้างถนน) หาเลี้ยงครอบครัวไปวันๆ ก็ไม่เดือดร้อน แต่มาถึงจุดหนึ่ง กลับฉุกคิดว่า ทำไมเราไม่ทำให้มันดีไปเลย

"ตอนนี้ ผมอยู่ระหว่างปรุงแต่งความฝัน หลังจากลงมือทำ (ปั้นแบรนด์) มาแล้วหลายปี โดยมีกำหนดเส้นตายว่าต้องเสร็จก่อนปี 2554 ซึ่งจะเป็นปีที่นำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai โดยจะจัดตั้งในรูปบริษัทภายในครึ่งหลังปี 2552 ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดอาจจะใช้ชื่อว่า บริษัท ทีจีไอเอฟ จำกัด (ย่อมาจาก Thank God It’s Friday)"

ความฝันฉบับย่อของเถ้าแก่แซนด์วิช จะแบ่งธุรกิจออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ธุรกิจจัดจำหน่ายกาแฟ ภายใต้แบรนด์ Coffee Corner ซึ่งทำมานานกว่า 6 ปีแล้ว วิธีการ "ต่อยอด" จะเปิดขายแฟรนไชส์ให้กับผู้ที่สนใจ ขั้นตอนการอัพเกรดสินค้าจะเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ และสร้างให้มีมาตรฐานเดียวกัน

"ผมยอมรับว่า ได้ก๊อบปี้ไอเดียนี้มาจาก “แมคโดนัลด์” เพราะเห็นว่าวิธีดังกล่าวจะทำให้แบรนด์ Coffee Corner ติดตลาด และมีสาขากระจายไปทั่วกรุงเทพฯอย่างรวดเร็ว"

2.ธุรกิจจัดจำหน่ายแซนด์วิช ภายใต้แบรนด์ ศิริวัฒน์แซนด์วิช ที่ทำมานาน 12 ปีแล้ว เน้นสำหรับคนรักสุขภาพ เช่น ซึชิข้าวกล้อง ซึชิข้าวกล้องหอมนิล ซึชิข้าวกล้องหอมแดง เป็นต้น โดยมีแผนจะจัดหา “ซัพพลายเออร์” ที่มีความถนัดในการทำขนมอบกรอบ เพื่อนำผลิตภัณฑ์ของเราไปแปรรูปเป็นขนมอบกรอบแล้วจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “ศิริวัฒน์” และในรูปแบบของ “ซัพพลายเออร์” ซึ่งจะเริ่มจากหัวเมืองใหญ่ๆ ก่อน

3.ธุรกิจจำหน่ายเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เช่น น้ำลูกเดือย และน้ำมะเกี๋ยง เป็นต้น ซึ่งจะเข้าไปรับผลไม้เด่นๆ ของแต่ละภาคมาแปลสภาพเป็นน้ำดื่มเพื่อสุขภาพ โดยนำมาขายในแบรดน์ของตัวเอง เชื่อว่าธุรกิจน้ำดื่มเพื่อสุขภาพจะมีอนาคตแน่นอน

“ผมจะเน้นรับวัตถุดิบมาจากเกษตรกรโดยตรงเป็นหลัก อย่างข้าวที่นำมาใช้ทำ ซึชิข้าวกล้อง ก็รับมาจากเกษตรกรจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนลูกเดือยก็รับมาจากเกษตรกรจังหวัดพะเยา ข้าวกล้องอินทรีย์มาจากเกษตรสุโขทัย ที่ผมคิดทำแบบนี้ เพราะต้องการทำให้เป็นตัวอย่าง”

ศิริวัฒน์ บอกว่า ปัจจุบันร้านกาแฟ Coffee Corner มีอยู่ 4 สาขา โดยสาขาฟอร์จูนทาวน์ และแฟชั่นไอส์แลนด์ ยังขาดทุนเล็กน้อย เนื่องจากทำเลไม่ค่อยดี ทางแก้คือให้พนักงานไปยืนขายสินค้าในบริเวณที่มีคนเดินผ่านจำนวนมากเพื่อเพิ่มรายได้และเรียกลูกค้า

นอกจากนี้ ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน นี้ จะเปิดสาขาใหม่ในโรงพยาบาลปิยะเวท ลงทุนประมาณ 2 แสนบาท ส่วนหลักการเปิดสาขาจะอิง 2 ปัจจัยหลัก คือ ทำเลดี และค่าเช่าไม่แพง

เถ้าแก่ศิริวัฒน์ ที่มีเป้าหมายจะเป็น "เสี่ย" เจ้าของธุรกิจอาหารระดับสิบล้านบาท เล่าถึงกลยุทธ์ทางการตลาดที่จะนำมาใช้เรียกลูกค้าว่า สำหรับธุรกิจแซนด์วิช จะเน้นเจาะตลาดโรงเรียนเป็นหลัก โดยจะใช้วิธีการ "ฝากขาย" ให้กำไร 25% ถ้าขายไม่หมดยินดีรับคืน และจะให้กำไร 35% แต่ไม่รับคืนสินค้า เป็นต้น

นอกจากนี้ ถ้าทางโรงเรียนจัดกิจกรรมก็จะขอนำสินค้าไปร่วมออกบูธ รวมทั้งจะเข้าไปเป็นสปอนเซอร์ให้ทุนการศึกษาทางด้านกีฬาแก่เด็กนักเรียน วิธีนี้ถือว่า Win-Win ทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ก่อนนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ mai ไม่ได้วางเป้าว่าจะต้องมีร้านกาแฟกี่สาขา และต้องมียอดขาย และกำไรในอัตราเท่าไร ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้บอกตรงๆ ประเมินยากมาก แต่จะค่อยๆ ทำไปทีละก้าวรับรองต้องถึงเป้าหมายได้แน่

สำหรับบทบาทในตลาดหุ้น อดีตเซียนหุ้นรุ่นเก๋า เล่าว่า ถอยห่างออกมาแล้ว ส่วนตัวไม่เหลือหุ้นแม้แต่ตัวเดียว แต่ยังเป็นมือปืนรับจ้างเล่นหุ้นอยู่บ้าง พร้อมทั้งบอกว่า ตัวเองไม่ได้มือตก (เจ๊งหุ้น) เพียงแต่อยากทุ่มเทเวลาให้กับธุรกิจมากกว่าการเล่นหุ้น เพราะถ้าทำได้อย่างที่เล่า (ฝันไว้) ชีวิตต้องพบจุดเปลี่ยนแน่นอน

เถ้าแก่แซนด์วิช ซึ้งใจกับผู้มีพระคุณที่ช่วยดึงขึ้นจากฝันร้าย เขาคือ นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วิทยากร ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นคนสำคัญ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (โรงพยาบาลกรุงเทพ) ที่เปิดโอกาสให้เข้าไปขายกาแฟในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ

ก่อนจะฝากเชิญชวนปิดท้ายว่า "ใครที่รู้จักศิริวัฒน์แซนด์วิช และเคยร่ำรวยจากการเล่นหุ้นเพราะคำแนะนำของผม อย่าลืมมาอุดหนุนผลิตภัณฑ์ของผมนะครับ" และสักวันเราอาจพบเขาในตลาดหุ้น mai และอาจเดินตามรอย เรย์มอนด์ อัลเบิร์ด คร็อก ผู้สร้างอาณาจักรแมคโดนัลด์ ตอนแก่ก็เป็นไปได้

บทความจาก กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น