เช่นเดียวกับเรื่องราวจากเหล่า “นักคิด” ที่มาพร้อม “ความฝัน” อันเต็มล้น สู่การบ่มเพาะและพัฒนาไอเดียสร้างสรรค์เพื่อปูทางไปยังเส้นทางสายธุรกิจภายใต้โครงการ “ต่อยอดสินค้าทำมือ สู่ตลาดทำกิน” ที่จัดขึ้นโดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ซึ่งช่วยต่อยอดให้เหล่านักประกอบการรุ่นใหม่ได้มองเห็นถึง “ศักยภาพ” ที่มีอยู่ในตัวตน อันนำมาซึ่งหนทางสู่ความสำเร็จ อย่างเช่น 4 มุมมองต้นแบบในการแปลงโฉม“ไอเดียไทยๆ” ให้กลายเป็นผลงานที่มีดีไซน์แปลกตา
เริ่มต้นด้วยไอเดีย “โปสการ์ด 3 มิติ” ภายใต้ชื่องานว่า “กรุงเทพ 3 มิติ” อันเป็นผลงานทางความคิดที่เกิดขึ้นจากส่วนผสมที่ลงตัวระหว่าง “ความชอบ” และ “โอกาสทางธุรกิจ” ของ “ปิยทรรศ ธันธนาพรชัย” บัณฑิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รั้วจามจุรี ที่ชูจุดขายด้วยการดีไซน์ที่แตกต่างไปจากโปสการ์ดที่ขายทั่วไปตามท้องตลาด
ปิยทรรศ ได้บอกเล่าไอเดียของโปสการ์ดแบบป๊อปอัพ “กรุงเทพ 3 มิติ” ต้องการนำเสนอเสน่ห์เมืองหลวงของประเทศไทย ซึ่งมีวัฒนธรรมหลากหลาย โดยการนำเป็นภาพป๊อปอัพ 3 มิติ ช่วยให้เกิดมุมมองใหม่ ด้านสถาปัตยกรรมสำคัญในกรุงเทพฯ
ทั้งนี้ ได้ลงมือทำอย่างเต็มที่ทุกขั้นตอนด้วยตัวเอง เบื้องต้นทำเป็นลักษณะของหนังสือป๊อปอัพรวมรวบเฉพาะสถาปัตยกรรมเด่นๆ ในกรุงเทพฯ ไม่ได้คิดว่าจะเอามาต่อยอดทำขาย จนวันหนึ่งได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมของ TCDC และได้รับคำแนะนำในการต่อยอดไอเดียสู่การทำธุรกิจ ทำให้หนังสือป๊อปอัพที่เดิมใช้เทคนิคการออกแบบที่สมจริง เน้นทุกรายละเอียดของสถานที่ และพิมพ์ 4 สี เป็นเหตุให้มีต้นทุนในการผลิตค่อนข้างสูง ถูกแปลงสภาพเป็น “โปสการ์ด” สำหรับใช้เป็นของที่ระลึก เพื่อให้หวนคำนึงถึงกรุงเทพฯ ภายใต้คอลเลกชั่น “Amazing Thailand: Wonderful Street & Food”
ธนานพ แสงอรุณ เจ้าของไอเดียแปลงเศษไม้เป็นหุ่นไม้แฮนด์เมด หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการของ TCDC ได้บอกเล่าถึงที่มาของผลงานว่า ด้วยความรักในการ์ตูนและงานศิลปะ ผนวกกับความหลงใหลในหุ่นยนต์ของเล่นที่สะสมไว้ตั้งแต่สมัยเด็กๆ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะนำเอาความรู้สึกนั้นๆ กลับมา โดยถ่ายทอดผ่านผลงาน “ตุ๊กตุ่นตึ๋ง” หุ่นไม้แฮนด์เมดจากเศษไม้ที่เหลือจากโรงเลื่อยในราคาไม่กี่บาท ถูกนำมาแปลงร่างวาดลวดลายตามจินตนาการลงบนแผ่นไม้ในแต่ละก้อน
จากเดิมที่เคยตั้งใจทำเป็นแค่ของขวัญ ให้กับเพื่อนๆ ในวันเกิด ด้วยคอนเซ็ปต์ “ของขวัญชิ้นเดียวในโลก” TCDC ก็ได้จุดประกายความคิดให้ต่อยอดเป็นสินค้าที่คนทั่วไปสามารถนำไปใช้ในโอกาสต่างๆ ได้มากขึ้น
ผลงานยุคบุกเบิกเคยทำเป็นหุ่นยนต์ไม้ตัวใหญ่ ใช้แค่ตั้งโชว์ ก็ได้ปรับให้มีขนาดเล็กลงและเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานให้มากขึ้น เช่น ทำเป็นโคมไฟติดผนัง โคมไฟตั้งโต๊ะ พร้อมเพิ่ม รายละเอียดให้ตุ๊กตุ่นไม้ดูมีสีสันและมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้นด้วยการใช้วัสดุเหลือใช้ เช่น น็อต ตะเกียบรถจักรยาน สวิตช์ไฟ กรวยพลาสติก ฯลฯ และหลังจากปรับเปลี่ยนโฉมใหม่ให้เจ้าหุ่นยนต์ไม้ตุ๊กตุ่นตึ๋งแล้ว ก็ทำให้สินค้าติดตลาดและมีคนสนใจสั่งทำมากยิ่งขึ้น”
ต่อด้วยผลงานการออกแบบของ “เดือน จงมั่นคง” ทายาท “จิตต์ จงมั่นคง” ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่ายศิลปะ) ที่ฉายแวว “ความแตกต่าง” จากการจัดแสดงผลงานจบการศึกษาในเทศกาลปล่อยแสง 4 เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยเดือนเลือกนำเสนอเรื่องราวในชีวิตประจำวันและบอกเล่าความรู้สึกผ่านภาพถ่ายและการบันทึกทุกอย่างลงในศิลปนิพนธ์การออกแบบหนังสือภายใต้ชื่อ “ไล้สาระ” ซึ่งเป็นหนังสือแจกฟรีฉบับพกพา โดยมีที่มาจากกระเป๋าใบเก่าของคุณย่า ที่สื่อถึงเรื่องราวความผูกพันของครอบครัว
ด้วยความโดดเด่นและความสามารถเฉพาะตัวของเธอ ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้หลากหลายแขนง ทำให้เดือนมีโอกาสนำไอเดียเหล่านั้นมาพัฒนาเป็นผลงานสมุดบันทึก “ไดอารี่เพื่อนรัก” ที่มีความแตกต่างจากไดอารี่ทั่วไปตรงที่หน้ากระดาษทุกๆ หน้าจะสามารถสื่อสารพูดคุยกับเจ้าของสมุดได้ ผ่านการเรียบเรียงข้อความสั้นๆ ให้เป็นเสมือนประโยคคำถาม พร้อมบอกเล่าเรื่องราวที่แสดงออกถึงอารมณ์และความรู้สึกทั้งในเชิงเข้าอกเข้าใจ สร้างกำลังใจ สลับกับการจัดวางภาพถ่ายด้วยฝีมือการถ่ายภาพของเดือนเอง
“ทุกๆ ภาพล้วนสะท้อนถึงช่วงชีวิตและสิ่งที่เราพบเห็นในแต่ละวัน จะได้เห็นว่ากระดาษทุกแผ่นและข้อความสั้นๆ ทุกประโยคในสมุดเล่มนี้ จะเป็นเหมือนตัวแทนของชีวิตและสามารถเป็นเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วยกันกับเจ้าของสมุดได้ในทุกที่ทุกเวลา” เจ้าของไอเดีย เผย
ต่อด้วยอีกหนึ่งไอเดียโดดเด่นที่สามารถสะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยแท้ของ “แจ่มกมล” แบรนด์น้ำอบไทย สูตรต้นตำรับชาววังที่สร้างสรรค์โดย “ทิพย์กมล บูลภักดิ์” ทายาท “ป้าแจ่ม” ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของเจ้าจอมประคอง พระสนมลำดับที่ 44 ในรัชกาลที่ 5 ได้บอกเล่าถึงที่มาของการถ่ายทอดมรดกทางปัญญาจากป้าแจ่มในการสร้างสรรค์ “น้ำอบไทยสูตรชาววัง” ให้ฟังว่า
“น้ำอบไทยก็เหมือนน้ำหอมต่างประเทศที่เราใช้กัน ในปัจจุบัน แต่ด้วยค่านิยมของคนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จะมองว่า น้ำอบไทยเป็นของที่ดูล้าสมัย และเหมาะกับคนสูงวัย หรือใช้เพียงแค่ในการสรงน้ำพระ และในโอกาสไหว้ญาติผู้ใหญ่ในช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่ไทยแต่เพียงเท่านั้น ตัวเราเองก็พยายามที่จะอนุรักษ์และคงไว้ซึ่งมนต์เสน่ห์แห่งภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย” ทิพย์กมล ระบุ
ทั้งนี้ โจทย์สำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้น้ำอบไทยดูเป็นสากลและได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ดังนั้น พยายามหาช่องทางในการสร้างการรับรู้ไปยังคนในหมู่กว้าง ซึ่งจากคำแนะนำของ TCDC ที่กระตุ้นให้เราได้มองถึงโอกาสในการเติบโตของตลาด ประกอบกับที่ได้รับการพัฒนาเรื่องบรรจุภัณฑ์ การปรับเปลี่ยนโลโก้ รวมถึงคำแนะนำในการทดลองออกแบบฉลากและดีไซน์ขวดใหม่ให้ดูทันสมัยน่าใช้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนการเพิ่มความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยการเพิ่มส่วนผสมของ “น้ำมันงา” และเพิ่มกลิ่นดอกไม้เข้าไป พร้อมกับปรับ positioning ของสินค้าจากผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องหอมให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้บำรุงผิวได้ด้วย ซึ่งการปรับเปลี่ยนรูปโฉมใหม่ทั้งหมดนี้ ทำให้ “แจ่มกมล” ก้าวสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ที่ทำให้ “น้ำอบไทย” สามารถขยายการรับรู้ไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดีและผลิตภัณฑ์โดยคนไทยก็ได้รับการยอมรับจากตลาดมากยิ่งขึ้น
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
ทั้ง 4 รายข้างบน เป็นต้นแบบสำหรับผู้ใช้ไอเดียเป็นใบเบิกทาง ได้รับการต่อยอดจากหน่วยงานภาครัฐ โดยโอกาสดีๆ เช่นนี้ TCDC ยังมีอีกหลายกิจกรรมที่พร้อมเปิดรอให้เหล่านักคิดนักสร้างสรรค์ได้มีโอกาสแสดงออกซึ่งพลังทางความคิด โชว์ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวได้อย่างอิสระ และพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยง ช่วยต่อยอดให้เหล่านักคิดคนไทย กล้าที่จะ “แตกต่าง” เพื่อสร้าง “ความโดดเด่น” พร้อมทั้งผลักดันและแปลงโฉมให้ไอเดียไทยๆ สามารถก้าวไกลในระดับสากล
สำหรับผู้สนใจสินค้าจาก 4 สุดยอดนักคิด รวมถึง อยากได้รับความช่วยเหลือจาก TCDC ไปดูหรือติดต่อได้ที่ TCDC Shop ตั้งอยู่ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ห้างเอ็มโพเรียม โทร.02-664-7667
(โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น