วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์


เมื่อพูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ต้องยอมรับว่าสหราชอาณาจักรถือเป็นต้นแบบที่มีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การจัดตั้งทีมงานเพื่อทำการศึกษาและจำแนกประเภทอุตสาหกรรม การจัดเก็บข้อมูลและสถิติ และการวางนโยบายและแผนงานในระดับต่างๆ คือ นโยบายระดับชาติ (National Policies) นโยบายรายอุตสาหกรรม (Sectorial Policies) และนโยบายเฉพาะเรื่อง (Emerging Policies) นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งหน่วยงาน (Public Bodies) ต่างๆ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาคน การสนับสนุนทางด้านการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนที่ให้กับธุรกิจขนาดย่อม และการสนับสนุนทางด้านการวิจัยและพัฒนาผ่านสิทธิทางภาษีและโครงการต่างๆ มากมาย นอกจากหน่วยงานภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนและภาคการศึกษาก็มีส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของสห ราชอาณาจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการป้อนบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี



ด้วยการมีตัวเลขเศรษฐกิจภาคบริการคิดเป็น 90% ของเศรษฐกิจรวมทั้งระบบ รัฐบาลฮ่องกงมีกลยุทธ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยการเน้นทางด้านบริการ ซึ่งรวมถึงการจัดการ การเงิน การตลาด และลอจิสติกส์ ซึ่งเป็นจุดแข็งของเศรษฐกิจฮ่องกง ในขณะเดียวกันก็ส่งงานทางด้านการผลิตไปยังเขตเศรษฐกิจพีอาร์ดี (Pearl River Delta) ของจีน นอกจากนี้ รัฐบาลฮ่องกงยังได้มีจุดมุ่งหมายให้ฮ่องกงเป็น Creative Capital ของภูมิภาค โดยเน้นการจัดทำโครงการขนาดใหญ่เพื่อสร้างให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของฮ่องกง เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ เช่น การจัดงานสัมมนาประจำปีที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่าง Business of Design Week หรือการนำอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของตัวเองออกโปรโมทไปทั่วโลก เช่น งาน Creative Hong Kong ที่ลอนดอน หรืองาน Hong Kong at Cannes 2002 และอีกหลายโครงการที่ทำร่วมกับประเทศจีน เป็นต้น


อีกประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญการการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มานานแล้วคือ ออสเตรเลีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรม Digital Content โดยการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของฮ่องกงจะเน้นที่การสนับสนุนตลอดห่วง โซ่มูลค่า (Value Chain) เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างครบวงจร โดยมีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคืออุตสาหกรรมภาพยนตร์ (Film Industry)



หันมาดูประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบเฉพาะตัวอย่าง ญี่ปุ่น น่าสนใจอย่างยิ่งว่า กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของญี่ปุ่นคือภาคเอกชน ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีนโยบายเพื่อการสนับสนุนเรื่องต่างๆ เช่น การส่งเสริมเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การส่งเสริมการลงทุนสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการด้านความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Cluster) และ เมืองแห่งความคิดสร้างสรรค์ (Creative City) ด้วย ด้วยความที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเป็นจุดแข็ง อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของญี่ปุ่นจึงเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ เนื้อหา (Content Industry) ซึ่งรวมถึง แอนิเมชั่น ภาพยนตร์ ดนตรี และซอฟท์แวร์เกมส




หมายเหตุ: นิตยสาร BrandAge ได้ส่งหนังสือขออภัยมายังศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ในฐานะผู้จัดทำเนื้อหาเว็บไซต์นี้ เรื่องการคัดลอกเนื้อหาบทความนี้ไปใช้ในนิตยสาร BrandAge Essential ฉบับ ‘Creative Economy: The Super Economic Driver’ โดยไม่ได้ระบุแหล่งที่มา





(โดย Creative Thailand)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น