วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553

REBALANCING “เทคนิค ซื้อถูก ขายแพง”

Portfolio Rebalancing Technique

เนื่องจากมีผู้สอบถามหลายท่าน และรูปเดิมในบทความมองไม่เห็น ผมจึงทำการ update ข้อมูลให้เป็นปัจจุับันอีกครั้งครับ

“หุ้นช่วงนี้ลงมาเยอะเลย อย่าเพิ่งซื้อ นักวิเคราะห์กำลังจะปรับประมาณการปีนี้ลงอีก”

“ช่วงนี้หุ้นเริ่มกลับมาเป็นขาขึ้นแล้ว เริ่มมีความน่าลงทุน” “ปีที่แล้วขาดทุนไปเยอะเลย คงหยุดเล่นไปอีกซักพัก”

ผม มักได้ยินประโยคเหล่านี้จากเพื่อน ๆ ที่ลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งผมมองว่าเป็นการสะท้อนพฤติกรรมการมองไปข้างหลัง เพื่อกำหนดกลยุทธ์การลงทุนในปัจจุบัน แต่บ่อยครั้งกลับไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคต

แนวทางข้างต้นผมเรียกว่า เป็นการลงทุนแบบ Momentum คือรอให้ตลาดมีสัญญาณก่อนจึงค่อยปรับตัวตาม เช่น ถ้าหุ้นเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นซักระยะเวลาหนึ่ง ก็เป็นสัญญาณเข้าลงทุน หรือถ้าหุ้นเริ่มตกซักระยะ ก็เป็นสัญญาณในการขายหุ้น ซึ่งกลยุทธ์แบบ Momentum ดังกล่าวจะใช้ได้ผลในตลาดแบบ Trendy market กล่าวคือเวลาขึ้นหรือลงแต่ละรอบเกิดขึ้นเป็นระยะเวลายาว ๆ

โดย ส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยชอบสไตล์ Momentum เพราะความผันผวนของตลาดหุ้นไทยมีค่อนข้างมาก บ่อยครั้งถ้าเรารอให้หุ้นขึ้นแล้วค่อยซื้อ หุ้นลงค่อยขาย กลับให้ผลลัพธ์เป็นการ “ซื้อแพง ขายถูก”

แนวทางที่ผมจะขอเสนอในวันนี้ เป็นหลักการปรับพอร์ตแบบ ซื้อถูก – ขายแพง ซึ่งเป็นแนวทางที่ผมใช้กับการลงทุนส่วนตัว และแนะนำให้กับเพื่อนและลูกค้าแล้วได้ผลที่ดี โดยวิธีการเป็นอย่างนี้ครับ สมมติว่าเรามีเงินลงทุนอยู่ในหุ้น 10,000 บาท โดยผมกำหนด 20% เป็นเปอร์เซนต์เป้าหมายในการปรับพอร์ต และเงินลงทุนเป้าหมายคือ 10,000 บาท กฎมีดังนี้ครับ

- เมื่อใดก็ตามที่พอร์ตการลงทุนปรับเพิ่มขึ้น 20% หรือขึ้นมาเป็น 12,000 บาท ให้ขายทำกำไรออกมา 2,000 บาท เพื่อให้เงินลงทุนเหลือ 10,000 บาทเท่าเดิม และเก็บเงินสดไว้

- เมื่อใดก็ตามที่พอร์ตการลงทุนปรับลดลง 20% หรือเหลือ 8,000 บาท ให้นำเงินสด 2,000 บาทมาลงทุนเพื่อให้เงินลงทุนรวมเป็น 10,000 บาท

- ทำตามแนวทางนี้ไปเรื่อย ๆ จนเมื่อใดหากมีเงินสดในมือเยอะขึ้น หรือมีเงินเก็บพร้อมจะลงทุนมากขึ้น ให้ปรับเงินลงทุนเป้าหมายขึ้น/ลงได้ ตามความเหมาะสม

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
เริ่มต้น 30 Mar 07 ที่ SET 673.71 ลงทุน 10,000 บาท

3 Jul 07 ขายออก 2,000 บาท ที่ SET 673.71 x 1.2 = 808.45 (เงินสดเหลือ + 2 พันบาท หลังจากขายออกพอร์ตมีมูลค่า 1 หมื่นบาท)

5 Sep 08 ซื้อเพิ่ม 2,000 บาท ที่ SET 808.45 x 0.8 = 646.75 (เงินสดเหลือ 0 บาท หลังจากซื้อเพิ่มพอร์ตมีมูลค่า 1 หมื่นบาท)

7 Oct 08 ซื้อเพิ่ม 2,000 บาท ที่ SET 646.75 x 0.8 = 517.4 (เงินสดเหลือ – 2 พันบาท หลังจากซื้อเพิ่มพอร์ตมีมูลค่า 1 หมื่นบาท)

27 Oct 08 ซื้อเพิ่ม 2,000 บาท ที่ SET 517.4 x 0.8 = 413.92 (เงินสดเหลือ – 4 พันบาท หลังจากซื้อเพิ่มพอร์ตมีมูลค่า 1 หมื่นบาท)

4 May 09 ขายออก 2,000 บาท ที่ SET 413.92 x 1.2 = 496.70 (เงินสดเหลือ -2 พันบาท หลังจากขายออกพอร์ตมีมูลค่า 1 หมื่นบาท)

5 Jun 09 ขายออก 2,000 บาท ที่ SET 496.70 x 1.2 = 596.05 (เงินสดเหลือ 0 บาท หลังจากขายออกพอร์ตมีมูลค่า 1 หมื่นบาท)

22 Sep 09 ขายออก 2,000 บาท ที่ SET 596.05 x 1.2 = 715.26 (เงินสดเหลือ + 2 พันบาท หลังจากขายออกพอร์ตมีมูลค่า 1 หมื่นบาท)

30 Mar 10 SET อยู่ที่ 788.80 กลยุทธ์ REBALANCING ให้ผลตอบแทนคร่าว ๆ = (788.80 – 715.26) / 715.26 = 10.28% รวมกับเงินสดคงเหลือ 2000/10000 = 20% รวมเป็นผลตอบแทนประมาณ 30.28%

ขณะที่หาถือครองการลงทุนตั้งแต่วันแรกจะได้ผลตอบแทนประมาณ (788.8 – 673.71) / 673.71 = 17.08%

กล่าวคือ REBALANCING Technique ให้ผลตอบแทนสูงกว่า = 30.28 – 17.08 = 13.2%

ส่วน ตัวที่ผมชื่นชอบแนวทางการลงทุนแบบ Rebalancing เพราะเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้เราได้ “ซื้อตอนลง และขายตอนขึ้น” หรือเรียกได้ว่า “ซื้อถูก ขายแพง” ครับ นอกจากนี้เวลาราคาปรับเพิ่มขึ้นผมก็มีโอกาสได้ขายทำกำไรและเตรียมเงินสดไว้ ลงทุนเมื่อราคาปรับตัวลดลง

แนวทาง นี้ใช้ได้กับการลงทุนในตราสารหนี้, โภคภัณฑ์ และจัดพอร์ตการลงทุนโดยรวม (Asset Allocation) ได้ด้วยครับ โดยต้องกำหนดเปอร์เซ็นต์การปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับความผันผวนของแต่ละ ประเภทของหลักทรัพย์

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ที่ผมนำเสนอในวันนี้จะให้ผลตอบแทนที่ไม่ค่อยดีในตลาด Trendy market แบบหลาย ๆ ปีเช่น ขาลงในช่วงปี 1996 – 1998 หรือขาขึ้นในปี 2002 – 2003 ครับ แต่ผมก็คงจะไม่เปลี่ยนแนวทางการลงทุนอย่างแน่นอน เพราะแนวทางแบบ Rebalancing ให้ความสบายใจกับผมในการจัดพอร์ตครับ เมื่อก่อนเวลาตลาดขึ้นก็เครียดเพราะรู้สึกว่าตกรถไฟ เวลาตลาดลงก็เครียดเพราะขาดทุน เดี๋ยวนี้เวลาตลาดขึ้นผมชอบ และลุ้นให้ขึ้นจนถึง 20% เพื่อจะได้ขายทำกำไร เวลาตลาดลงก็มีความสุขครับอยากให้ลงเยอะ ๆ ถ้าลงถึง 20% ก็คือช่วงเวลาที่จะได้ Shopping ของดีราคาถูก เรียกได้ว่า จะขึ้นหรือจะลงก็สนุกไปกับมันครับ



โดย เจษฎา สุขทิศ,CFA.   ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น