วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2553
เงินเฟ้อกำลังมา แล้วเราจะไปไหนกันดี
คำจำกัดความทางเศรษฐศาสตร์ของภาวะเงินเฟ้อ คือ สภาวะที่ราคาของสินค้าและบริการมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ
ก็เลยอยากจะแถมไปอีกเล็กน้อยว่าภาวะเงินเฟ้อโดยทั่วไปมี 2 แบบ คือ ถูก "ดึง" ด้วยความต้องการ (Demand Pull) และถูก "ผลัก" ด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น (Cost Push) ส่วนสังคมเศรษฐกิจแบบไหนจะอยู่ในสภาวะเงินเฟ้ออย่างใดหรือทั้งสองอย่าง ก็ขึ้นอยู่กับสภาวะปัจจุบันของสังคมเศรษฐกิจเหล่านั้น
ตัวอย่างเช่น กรณีของอินเดีย ซึ่งปัจจุบันน่าจะเข้าสู่ยุคได้รับการคุกคามของเงินเฟ้อ ซึ่งตามการวิเคราะห์ของตลาดการเงินเชื่อว่าเป็นลักษณะของ Cost Push Inflation มากกว่าจะเป็นแบบ Demand Pull เนื่องมาจากความไม่พร้อมในโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจ เช่น ถนนหนทาง ท่าเรือ พลังงานไฟฟ้า ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง และทำของออกไม่เพียงพอต่อความต้องการ
จากการที่เคยเล่าให้ฟังในครั้งก่อนๆ ย้อนไปราวๆ หนึ่งปีที่เริ่มจากการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบของบรรดาธนาคารกลางต่างๆ นำโดย Fed จนถึงการมาถึงของคำกล่าวชั้นนำเรื่อง Exit Starlegy ซึ่งจะนำไปสู่การทยอยขึ้นดอกเบี้ยทางการของเหล่าธนาคารกลางต่างๆ เพื่อ "เชื่อง" เงินเฟ้อให้ได้ ถึงแม้ว่า Fed ยังไม่ขยับในตอนนี้ ถึงแม้จะมีสัญญาณบ่งบอกการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจอเมริกาอยู่เป็นระยะก็ตาม เหล่าบรรดาธนาคารกลางอื่น ๆ ก็ทยอยขึ้นดอกเบี้ยไปกันมากแล้ว ได้แก่ Australia ขึ้นไปแล้ว 6 ครั้ง (เริ่มตุลาคม 2552) มาเลเซียขึ้นไปแล้ว 3 ครั้ง เกาหลีใต้และไทยเพิ่งขึ้นไปหนึ่งครั้ง และล่าสุด Reserve Bank of India ซึ่งเป็นธนาคารกลางของ India ได้ขึ้นดอกเบี้ยทางการไปหมาดๆ
ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เป็นการ confirm ว่าเงินเฟ้อกำลังจะมา (ในกรณีของอินเดียได้มาถึงก่อนหน้านี้แล้ว) และคำถามยอดฮิตที่จะตามมา ก็คือ ช่วยบอกหน่อยว่าพวกเราจะไปไหนกันดี แน่นอนคำถามคงไม่ได้หมายถึงจะไปเที่ยวที่ไหนกันดี แต่จะเอาเงินออมไปลงทุนอะไรที่จะเอาชนะเงินเฟ้อได้
โดยทั่วไป ตลาดเงินจะมีปฏิกิริยาต่อข่าวต่างๆ อย่างรวดเร็ว และจะมองไปข้างหน้าเสมอๆ เพราะฉะนั้นในกรณีที่ภาวะ
เงินเฟ้อยังไม่ชัดเจนนัก แต่ในตลาดเงินและตลาดทุนก็จะรับรู้การขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นอยู่โดยเสมอ ก็คือ อัตราผลตอบแทนในพันธบัตร (Bond Yield) ก็จะมีค่าสูงขึ้น การซื้อ/ขาย ดอกเบี้ยในตลาดล่วงหน้า (Futures) ก็จะสะท้อนสภาวะดอกเบี้ย ที่กำลังจะสูงขึ้น หรือหุ้นพื้นฐานดี (Blue Chips) ก็จะมีราคาสูงขึ้นไปล่วงหน้า ด้วยการคาดการณ์และเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว
ผมเคยเล่าให้ฟังไปแล้วว่า โดยปกติตลาดการเงินจะมีปฏิกิริยาล่วงหน้าต่อสิ่งที่ (อาจจะ) เกิดขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ไตรมาส ซึ่งนั่นจะหมายถึงหากท่านซื้อหุ้น ขายพันธบัตร ซื้อดอลลาร์ หรือซื้อทอง อีกสัก 6 เดือนข้างหน้า ท่านอาจจะต้องทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามเพื่อการรับรู้กำไร (Profit Taking) หากไม่มีอะไรพลิกล็อก หรือเหนือความคาดหมายเกิดขึ้น
ขออนุญาตยกตัวอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในอเมริกา (และน่าจะเกิดขึ้นในตลาดอื่นๆ ในโลกนี้ด้วย) บรรดากองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนเพื่อการลงทุนต่างๆ ได้ทยอยอย่างรีบเร่ง (accelerating) ในการ "เก็บ" หุ้น นักลงทุนสถาบันมีสัดส่วนในการลงทุนในหุ้นสูงถึง 68% ในเดือนกรกฎาคม แต่ทว่าบรรดารายย่อยกลับทำตรงกันข้าม คือ มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะยังตกต่ำลงได้อีก และแน่นอน ก็เป็นคนขายหุ้นในตลาด
ปรากฏการณ์เช่นนี้อีกนั่นแหละ พวกเราน่าจะคุ้นเคยกันดี ถึงมีคำกล่าวเรียกนักลงทุนรายย่อยว่าเป็นแมลงเม่า ซึ่งมักจะเข้ามาซื้อที่แพงและขายออกที่ถูก (Buy High, Sell Low) ฝรั่งคนหนึ่งเรียกเหล่านักลงทุนรายย่อยเหล่านี้
ว่าเป็น A Good Contrarian Indicator ซึ่งแน่นอนเหล่านักลงทุนสถาบันก็จะทำตรงกันข้ามกับกลุ่มนักลงทุนกลุ่มนี้
ที่คุยมาถึงเรื่องนี้ ต้องออกตัวเสียก่อนว่าผมไม่ได้บอกว่าแมลงเม่าจะผิดเสมอไป ผมส่วนตัวก็ไม่ใช่นักลงทุนตัวพ่อ ข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้น ผมเพียงจะสื่อว่า บรรดามืออาชีพเข้าเริ่ม "เก็บ" หุ้นกันแล้ว (หลายสถาบันได้เก็บมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยเฉพาะตอนมี Crash ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา)
นอกจากหุ้นแล้ว บางท่านอาจจะมองว่าไปลงทุนในกองทุนเปิดต่างๆ ได้มั้ย คำตอบคือได้ แต่น่าจะหลีกเลี่ยงกองทุนประเภท Fixed Income Fund เพราะมูลค่าจะลดลงเมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้น หากไม่อยากจะซื้อหุ้นเองเป็นตัวๆ ก็อาจจะพิจารณากองทุนตราสารทุนก็ได้ ส่วนกองทุนประเภท Money Market Fund ก็คงไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะว่ามีอายุสั้นและดอกเบี้ยก็จะปรับตัวไปได้ตามอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น บางท่านมองไกลไปถึงทองคำ น้ำมัน
ผมก็อยากจะบอกว่าสำหรับทองคำ โดยสถานะแล้วก็จะเป็นโลหะมีค่าที่ผู้คนสนใจเมื่อรู้สึกว่าตนเองไม่ปลอดภัยทั้งด้านการลงทุน และเหตุการณ์บ้านเมือง ส่วนคุณสมบัติด้าน inflation hedged นั้น ในความเห็นของผมยังไม่เด่นชัดนัก ทั้งนี้ ยังอาจต้องพิจารณาเรื่องการออกตัว (ในยามที่ต้องการ) เอาไว้ด้วย กล่าวคือ ประเด็นเรื่องสภาพคล่องนั่นเอง สำหรับน้ำมันผมต้องขอประทานโทษ ที่ผมให้ความเห็นไม่ได้ เพราะไม่มีความรู้ด้านนี้เพียงพอครับ
หากมองในแง่ดี ปรากฏการณ์ที่เราเริ่มรู้สึกถึงภาวะเงินเฟ้อกำลังคืบคลานเข้ามา น่าจะเป็นโอกาสในการเข้าเก็บเกี่ยวการลงทุนที่เราอาจจะพลาดไปในอดีต เราอยู่ในช่วงอัตราดอกเบี้ยต่ำต้อยติดดินมานานหลายปี การมาปัดฝุ่นทางความคิดเรื่องจะไปไหนดีครั้งนี้ ก็น่าจะทำให้เราบริหารเงินของเราได้ดี (ทั้งผลตอบแทนที่เหมาะสมและรอบคอบ) ผิดถูกอย่างไรเราก็ได้ใช้การพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว จะได้ไม่ต้องเสียใจภายหลัง หากมันเสียมากกว่าได้ ขอให้ทุกท่านโชคดีครับ
(เสถียร ตันธนะสฤษดิ์ โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น