วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

Stress Test คืออะไร


ช่วงนี้คนมักจะพูดถึง Stress Test กันบ่อยครั้งขึ้น ยิ่งสหภาพยุโรปออกมากำหนดว่า วันที่ 23 กรกฎาคม ประเทศสมาชิกจะมีการประกาศผลในเรื่องนี้เกี่ยวกับสถาบันการเงินของตน ยิ่งทำให้หลายคนคงสงสัยว่า “Stress Test คืออะไร และสำคัญอย่างไร”

ถ้าจะอธิบายง่ายๆ Stress Test คือ การทดสอบความอึด ความอดทน ความสามารถรับวิกฤตและความท้าทาย ในรูปแบบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ว่าจะสามารถรับไว้ได้ โดยไม่ล้มหรือเสียหายลงไปหรือไม่

หลากหลายอาชีพใช้แนวคิดลักษณะนี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือในการทำงานของตนเอง ตัวอย่างเช่น วิศวกร เมื่อสร้างสะพาน ตึก รถ เครื่องบิน อุปกรณ์ต่างๆ เสร็จเรียบร้อย สิ่งที่อยากรู้และอยากทดสอบก็คือ ว่าสิ่งที่สร้างขึ้นมามีความแข็งแกร่ง มีความสามารถรองรับกับปัญหาจริงได้มากน้อยแค่ไหน เช่น สะพานจะรับน้ำหนักมากมากได้หรือไม่ รถยนต์ถ้าขับเร็วมากๆ ต่อเนื่อง จะขับได้นานแค่ไหน เครื่องยนต์จะมีปัญหา จะเสถียรหรือไม่

แม้กระทั่งคน เวลาเราไปตรวจสุขภาพ ก็จะมีการทดสอบสุขภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (เรียกว่า Exercise Stress Test) โดยหมอจะจับให้เราวิ่ง เดิน ออกกำลังกาย พร้อมตรวจคลื่นไฟฟ้าและความดันโลหิต เพื่อหาว่ามีปัญหาหลอดเลือดตีบ หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะแฝงเร้นอยู่หรือไม่
สถาบันการเงินก็เช่นกัน การทำ Stress Test เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจเช็คสุขภาพด้านการเงิน ที่ปกติแล้วจะทำกันเป็นประจำ และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารความเสี่ยง โดยคำถามสำคัญที่สถาบันการเงินอยากทราบก็คือ ถ้าอยู่ๆ มีสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน รุนแรงเกิดขึ้น เช่น เศรษฐกิจเกิดวิกฤต เกิดภาวะถดถอย คนตกงานเป็นจำนวนมาก ตลาดหุ้นตกแรง ราคาบ้านที่ดินร่วง ราคาของสินทรัพย์ที่ลงทุนไว้เคลื่อนไหวผิดปกติ ค่าเงินผันผวน เจ้าหนี้และผู้ฝากเงินแห่ถอนเงินคืนจากปัญหาความไม่เชื่อมั่น รวมถึงหากมีผลประกอบการติดลบอย่างกะทันหัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะมีผลกระทบต่อสินทรัพย์ หนี้สิน และสภาพคล่องของสถาบันการเงินอย่างไร จะเกิดความเสียหายมากน้อยแค่ไหน และจะสามารถรองรับปัญหาดังกล่าวด้วยเงินทุนที่มีอยู่ได้หรือไม่

สถานการณ์วิกฤตจำลองเหล่านี้ มีไว้เพื่อช่วยให้สถาบันการเงินมองไปข้างหน้าจากมุมต่างๆ ทำการทดสอบดูเป็นระยะๆ (เหมือนกับไปตรวจสุขภาพตนเองประจำปี) ว่าขณะนี้ จากสินทรัพย์ หนี้สินที่มีอยู่ในบัญชีในปัจจุบัน สถาบันการเงินอ่อนไหวกับปัญหาอะไรมากที่สุด และต้องเตรียมการรับมือกับหลุมบ่อและความท้าทายเรื่องใดเป็นพิเศษ

ตรงนี้ หัวใจสำคัญของ Stress Test อยู่ที่

1. สถานการณ์จำลองเหล่านั้นต้องครอบคลุมกรณีต่างๆ ที่สำคัญ โดยต้องสอดรับกับสินทรัพย์ หนี้สินและฐานะการเงินของสถาบันการเงินนั้นๆ ไม่ใช่ว่าลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลในประเทศต่างๆ เป็นหลัก แต่ไปมุ่งทดสอบเรื่อง Stress จากราคาน้ำมันโลก หรือราคาอสังหาริมทรัพย์ หรือเศรษฐกิจในประเทศ เป็นต้น

2. สถานการณ์จำลองต้องมีความเข้มงวดพอเพียง ถ้าสถานการณ์จำลองอ่อนเกินไป ก็จะไม่เห็นถึงปัญหาที่ซ้อนเร้นอยู่ และคนจะนินทาได้ว่า ทดสอบในสิ่งที่ง่ายๆ เท่านั้น ก็ย่อมผ่านเป็นธรรมดา

3. บางครั้ง ต้องคิดถึงกรณีที่เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ที่ปัญหาหลายด้านอาจเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เช่นในช่วงปี 40 ที่ค่าเงินอ่อนค่าไปมาก เศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรง และมีวิกฤตสภาพคล่อง เป็นต้น

สำหรับกรณีล่าสุด ที่สหภาพยุโรปได้สั่งให้สถาบันการเงินของตนทำการทดสอบ Stress Test อีกรอบ โดยมุ่งไปที่กรณี (1) เศรษฐกิจยุโรปถดถอยอีกครั้ง และ (2) ราคาพันธบัตรรัฐบาลซึ่งแบงก์ในยุโรปถือไว้ (เช่น พันธบัตรกรีซ) ลดมูลค่าลงมาก ก็เพื่อแก้ปัญหาความคลางแคลงใจของนักลงทุนเกี่ยวกับแบงก์ในยุโรป ซึ่งยังไม่เชื่อและคิดว่ายังปัญหาซ่อนเร้นอยู่ ตรงนี้ ต้องอดใจรออีกนิดครับ อีกแค่ 10 วันก็จะรู้ผลการตรวจครั้งนี้ว่า สถาบันการเงินในยุโรป ใครแข็งแรง ใครอ่อนแอ และจะรับกับปัญหาได้หรือไม่ ก็ขอเอาใจช่วยยุโรปให้ผ่านการตรวจสุขภาพด้านการเงินครั้งนี้ไปได้ครับ

 
(คอลัมน์ ไขปัญหาเศรษฐกิจกับ ดร. กอบ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น