วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เติมไอเดียใส่ตอมะพร้าว รายได้หลักแสนจากเศษขยะ
















เพราะมองเห็นคุณค่าของตอต้นมะพร้าว ที่เดิมถูกทิ้งเปล่าประโยชน์อยู่มากมายบนเกาะสมุย กลายเป็นจุดพลิกชีวิตของผู้ประกอบการรายหนึ่งที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ โดยแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ กว่าพันชนิด ซึ่งได้รับความนิยมจากลูกค้าชาวไทยและต่างประเทศ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยไม่ต้องควักเงินซื้อวัตถุดิบเลย



สุนทร โพธิ์น้อยงาม คือ เจ้าของกิจการผลิตภัณฑ์แปรรูปจากตอต้นมะพร้าว อยู่ที่บ้านสระเกศ ต.ตลิ่งงาม อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ก่อนหน้านี้ เคยทำงานเป็นช่างไฟฟ้ารับจ้างอยู่บนเกาะสมุย จนหันมาบุกเบิกธุรกิจปัจจุบัน เมื่อ 14 ปีที่แล้ว เพราะมองเห็นถึงคุณค่าของตอต้นมะพร้าว ในขณะที่คนทั่วไปมองข้าม







“บนเกาะสมุยมีต้นมะพร้าวอยู่จำนวนมาก แทบทั้งต้นจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ นานา ยกเว้นส่วนโคนถึงราก ไม่มีใครเห็นค่ามากนัก ส่วนใหญ่ก็จะนำไปทำถ่านหรือฟืนเท่านั้น แถมชาวสวนมะพร้าวยังต้องเสียเงินจ้างคนมาขุดเอาโคนและรากทิ้งอีก ทำให้มีตอมะพร้าวถูกปล่อยทิ้งอยู่เยอะมาก ขณะที่ผมเคยไปเห็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากต้นตาล แถว จ.เพชรบุรี ซึ่งลักษณะไม้ใกล้เคียงกัน จึงสนใจลองนำตอมะพร้าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ” สุนทร เล่า


 
 
ตอต้นมะพร้าวที่ตัดไว้สำหรับเตรียมแปรรูป




เบื้องต้นลงทุนประมาณ 30,000 บาท ซื้ออุปกรณ์ช่างไม้ต่างๆ และอาศัยพื้นฐานความเป็นช่าง ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง โดยใช้เทคนิคการกลึงไม้ ทำเป็นผลิตภัณฑ์ง่ายๆ เช่น จาน ชาม ตะเกียบ เป็นต้น แล้ววางขายที่บ้านตัวเอง ปรากฏว่า ได้รับความนิยมจากลูกค้านักท่องเที่ยว จนค่อยๆ ขยับเติบโตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน





สำหรับใส่กระดาษชำระ

 
สุนทร เล่าว่า ขณะนี้มีผลิตภัณฑ์รวมแล้วนับ 1,000 รายการ แบ่งเป็นกลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น แก้ว จาน ชาม ช้อน ส้อม ฯลฯ กลุ่มของตกแต่งบ้าน เช่น โคมไฟ ตะเกียง ฯลฯ กลุ่มเครื่องประดับของแต่งกาย เช่น กระเป๋า เข็มขัด ปิ่นปักผม สร้อย ฯลฯ โดยมากกว่าครึ่งจะออกแบบเอง ที่เหลือจะทำแบบตามคำสั่งซื้อของลูกค้าต่างประเทศ




บรรยากาศภายในร้านที่อยู่ในบ้านสระเกศ ต.ตลิ่งงาม เกาะสมุย





ลูกค้าเดินทางเข้ามาซื้อกลับไปเป็นสินค้าที่ระลึกจากเกาะสมุย

นับจากยึดอาชีพนี้มากว่า 14 ปี สุนทร บอกว่า ต้นทุนการผลิต มีแค่ค่าจ้างแรงงานเท่านั้น ไม่เคยต้องควักเงินซื้อวัตถุดิบตอมะพร้าวเลย เพราะบนเกาะสมุยยังมีต้นมะพร้าวเหลืออีกจำนวนมหาศาล โดยจะประสานกับโรงเลื่อย หรือเกษตรกรสวนมะพร้าวที่จำเป็นต้องโคนต้นมะพร้าวทิ้ง เมื่อถึงอายุประมาณ 80-100 ปี เพื่อจะปลูกต้นใหม่ทดแทน โดยจะส่งคนงานไปขุดตอมะพร้าวให้ฟรี ซึ่งเกิดความพอใจทั้งสองฝ่าย เพราะโรงเลื่อย หรือเกษตรกร ไม่ต้องเสียเงินค่าจ้างขุดตอ ขณะเดียวกัน เขาก็ได้วัตถุดิบไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป






เนื่องจากตอมะพร้าว มีอายุเก่าแก่เกือบ 100 ปี สีไม้จะเข้ม เนื้อไม้แข็งและแน่นมาก กลายเป็นข้อดีเมื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จะมีความแข็งแรงทนทานสูง อย่างไรก็ตาม ต้องอาศัยประสบการณ์คัดเลือกตอไม้ให้เหมาะสม เน้นที่แห้งจัด บางครั้งขุดตอมะพร้าวจากพื้นที่นับร้อยไร่ จะเหลือตอที่ใช้แปรรูปได้เพียง 15% แต่โดยเฉลี่ยทั่วไป อัตราใช้ได้ประมาณ 70-80% ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นดินที่ปลูก






ด้านช่องทางตลาด มาจากขายปลีก 50% ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยว และคณะทัวร์ทั้งไทยและเทศ เข้ามาซื้อที่หน้าร้าน ทุกวัน เน้นจุดขายที่มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกหลากหลาย ราคาตั้งแต่หลักสิบถึงหลักพันบาท รวมถึง จะโชว์ขั้นตอนผลิตแบบสดๆ ให้เห็นว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากเกาะสมุยแท้ๆ ส่วนอีก 50% จะรับจ้างผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะฝรั่งเศส และญี่ปุ่น มียอดขายเฉลี่ยประมาณ 1 แสนบาทต่อเดือน



เมื่อถามถึงการแข่งขันในปัจจุบัน สุนทร เผยว่า ทั่วเกาะสมุยมีผู้ผลิตสินค้าจากตอมะพร้าวจริงจังแค่ 2 ราย ที่เหลือจะเป็นผู้ผลิตรายย่อยๆ ซึ่งแต่ละรายพยายามสร้างสรรค์ชิ้นงานให้มีรายละเอียดแตกต่างกันไป จึงไม่มีปัญหาแย่งลูกค้ากันและกัน



ทั้งนี้ เป้าหมายในอนาคตของเขา จะมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบรับตลาดได้ดียิ่งขึ้น ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ อย่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่ส่งผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มาช่วยเหลือด้านออกแบบและพัฒนามาตรฐานสินค้า เพื่อให้ก้าวสู่ระดับสากลภายใต้ชื่อแบรนด์ของตัวเองต่อไป





มีสินค้าให้เลือกนับพันรายการ




โทร.077-415-260 , 08-1273-8778



ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น