อภิมหาเศรษฐีอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ ประธานและซีอีโอของบริษัทบริหารหุ้น Berkshire Hathaway เคยประกาศว่า เขาจะบริจาค 99% ของทรัพย์สินส่วนตัวให้กับกิจกรรมสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
ครับ ผมอ้างตัวเลขไม่ผิดครับ ร้อยละ 99 ครับ
บิล เกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟท์ ได้ทุ่มเวลาสิบปีที่ผ่านมา บริหารมูลนิธิที่มีชื่อเขากับภรรยา Bill & Melinda Gates Foundation อย่างเอาจริงเอาจัง
เงินบริจาคที่เขาและภรรยาบริจาคเป็นกองทุนหลักอยู่ที่ 33.5 พันล้านดอลลาร์ (เป็นเงินไทยก็ไม่น้อยกว่า 1.1 ล้านล้านบาท) เพื่อส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ เช่น วิจัยหาทางรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่คนส่วนใหญ่ในแอฟริกายังต้องตาย เพราะไม่มีหนทางป้องกันและรักษา
หากจะบอกว่ามูลนิธิของบิล เกตส์ แห่งนี้ ต้องถือว่าใหญ่ที่สุดและมีอิทธิพลที่สุดของโลก ก็คงไม่เกินเลยความจริงนัก
ที่สำคัญกว่านั้น คือ เขาไม่ได้ทำตัวเหมือนมหาเศรษฐีคนอื่น ที่บริจาคเงินเพื่อการกุศลเพียงเพื่อเป็นข่าวหรือได้ชื่อว่าเป็น “เศรษฐีใจบุญ” หรือเพื่อให้สัมภาษณ์ว่า “ผมต้องการจะคืนกำไรให้กับสังคม” แล้วก็ให้คนอื่นทำงานไปโดยที่ตัวเองไม่ได้สนใจกับกิจกรรมเหล่านั้นมากมายนัก
บิล เกตส์ ลงมือลงแรงบริหารมูลนิธินั้นด้วยตนเอง ถึงกับเกษียณจากงานการบริหารธุรกิจของบริษัท Microsoft ที่ตนก่อตั้งและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มาทำงานเป็นผู้จัดการมูลนิธิเต็มเวลาด้วยตนเอง
เพราะเขาถือว่างานสาธารณะอย่างนี้ ทำให้ชีวิตเขาคุ้มค่ากว่าการทำมาหากิน เพื่อสร้างความร่ำรวยเพิ่มเติมให้กับตนเอง
วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยบอกว่าที่เขาตัดสินใจจะบริจาคทรัพย์สินส่วนตัว เกือบทั้งหมดให้กับงานสาธารณะนั้น เพราะ "ผมไม่สนใจที่จะให้มรดกของผม ตกทอดไปถึงลูกหลานเพียงเพื่อได้ชื่อว่า ตระกูลผมจะเป็นมหาเศรษฐีต่อเนื่องไปอีกหลายชั่วอายุคน...ยิ่งเมื่อผมเห็นว่าประชากรโลก 6 พันล้านคนยากจนกว่าเรามากมายหลายเท่านัก ผมจะมีความสุขมาก หากเพื่อนร่วมโลกจะสามารถได้ประโยชน์จากการให้ของเรา..." เขาบอกกับบีบีซีวันหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้
ดังนั้น เมื่อบัฟเฟตต์ กับบิล เกตส์ ตกลงจับมือกับประกาศ “โครงการเพื่อการให้” หรือ Giving Pledge ด้วยการชักชวนให้มหาเศรษฐีคนอื่นๆ อีกอย่างน้อย 400 คนในอเมริกา และทั่วโลกให้ช่วยกันบริจาคเงินอย่างน้อย 50% ของความมั่งคั่งของตนเอง ก็ต้องฮือฮาเป็นธรรมดา
เพราะเป็นการท้าทาย “มโนธรรม” ของคนที่ร่ำรวยจากการทำธุรกิจ อันหมายความว่า ความมั่งคั่งของเขาเหล่านั้น มาจาก “ผู้บริโภค” หรือจากสังคมส่วนรวมนี่แหละ
ดังนั้น จึงเป็นการ “ตอบแทนสังคม” อย่างแท้จริง หากจะเอาทรัพย์สินอันมหาศาลนั้นมาคืนให้กับคนด้อยโอกาสของประเทศชาติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำต่ำสูง
ทั้งสองคนบอกว่า ณ วันนี้ ได้เศรษฐีประมาณ 40 คน ที่พร้อมจะร่วมขบวนการแล้ว จากที่ติดต่อไปได้เกือบ 80 คน และแต่ละคนจะช่วยกันกระจายข่าวออกไปเป็นลูกโซ่
แม้ว่าคนบริจาคเงินในอเมริกาส่วนใหญ่จะทำเพราะได้ลดหย่อนภาษี แต่บัฟเฟตต์ บอกว่า "จากประมาณ 20 คนที่ตกลงจะร่วมกับผมในการบริจาคทรัพย์สินเงินทองส่วนตัว ไม่มีคนไหนถามไถ่เรื่องลดหย่อนภาษีเลยสักคนเดียว เพราะผมคิดว่าแม้นั่นจะเป็นหนึ่งในข้อพิจารณา แต่ผมเชื่อว่าคนที่ต้องการทำความดีความถูกต้องนั้น คิดอะไรเกินเลยเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวแล้วแน่นอน..."
ผมเข้าไปในเว็บไซต์ของบรรดาเศรษฐีมะกัน ที่เห็นพ้องกับสองอภิมหาเศรษฐีแล้ว ก็พอจะเข้าใจปรัชญาชีวิตของเขาเหล่านี้ได้ค่อนข้างดี...สำหรับฝากบรรดาเศรษฐีไทยด้วยครับ
ไมเคิล บลูมเบิร์ก นายกเทศมนตรีนิวยอร์ก... "ถ้าคุณต้องการทำอะไรให้ลูกหลานของคุณ และแสดงให้พวกเขาเห็นว่าคุณรักพวกเขาขนาดไหน สิ่งที่ทำได้ดีที่สุด คือ หันไปสนับสนุนองค์กรต่างๆ ที่จะช่วยสร้างให้โลกใบนี้ดีขึ้นสำหรับพวกเขาและลูกหลานของพวกเขา และหากคุณเริ่มให้ คุณก็จะเป็นเครื่องบันดาลใจให้คนอื่นบริจาคต่อด้วย...ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเงินหรือเวลาของเขาก็ตาม..." เศรษฐีคนอื่นๆ ที่ตกปากตกคำจะบริจาคทรัพย์สินเงินทองของตนเองไม่น้อยกว่า 50% ก็มี เท็ด เทิร์นเนอร์ แห่งซีเอ็นเอ็น เดวิด ร็อคกีเฟลเลอร์ แลรี่ เอลลิซัน เจ้าของและผู้ก่อตั้ง Oracle Corp
หากคุณอยู่ในรายชื่อมนุษย์ร่ำรวยที่สุด 400 คน ของนิตยสาร Forbes ก็ต้องได้รับโทรศัพท์ จากบัฟเฟตต์ และบิล เกตส์ แน่นอน
และถ้าคุณเป็นคนไทยที่รวยที่สุด 500 คนของประเทศไทย คุณจะเริ่มต้นแสดง “จิตกุศล” อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อ “คืนอะไรให้กับสังคมอย่างจริงจังและจริงใจ” ไหม
เพราะนี่คือ จุดเริ่มต้นของการช่วยบ้านเมืองนี้แก้ปัญหาความ “เหลื่อมล้ำต่ำสูง” ที่เป็นสาเหตุของความวุ่นวายปั่นป่วนมากมายทีเดียวเชียวแหละ
(กรุงเทพธุรกิจ)
วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น