บรรดา SMEs ที่มีอยู่มากมายและกระจายตัวอยู่ในทุกอำเภอและจังหวัดนั้น ถ้าทำได้ทำดีมีคนนิยมและชื่นชม ก็ควรที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็น “SMEs ชั้นดี”
นับเป็นเวลาร่วม 10 ปีที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้การส่งเสริมสนับสนุน SMEs ของไทยอย่างเป็นระบบมีแผนงานชัดเจน จนเป็นที่มาของการเกิด พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และมากกว่า 5 ปีที่ได้ดำเนินโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneur Creation) หรือเรียกสั้นๆ ว่า NEC อย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึงการจัดทำแผนธุรกิจ การสร้างเครือข่ายพันธมิตร
โดยมีผู้ผ่านการอบรมไปจำนวนไม่น้อย ประสบความสำเร็จไปก็มาก มีทั้งที่ต่อยอดธุรกิจเดิม และที่ตั้งธุรกิจใหม่ ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมมีตั้งแต่ ทายาทนักธุรกิจ ผู้จบการศึกษาใหม่ (แต่ไม่อยากเป็นลูกจ้าง) ผู้ที่ออกจากงานประจำ เพื่อหาโอกาสก้าวหน้าทางธุรกิจ หรือแม้แต่ผู้ที่ทำธุรกิจย่อมๆ ในครัวเรือนที่ต้องการทำอย่างจริงจังมากขึ้น
โอกาสในการก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการที่นอกจากจะต้อง “ตาถึง (มองเห็นช่องทางธุรกิจ)” และ “เงินถึง (มีทุนทรัพย์เพียงพอต่อการเริ่มต้นทำธุรกิจ)” แล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ “ใจถึง (กล้าพอที่จะเผชิญปัญหาอุปสรรค และความล้มเหลว)” ถ้ามีครบองค์ประกอบแล้ว เริ่มต้นธุรกิจได้โดยไม่ต้องรีรอ ถ้าไปได้สวยไปได้ดี จะผ่านบันไดความสำเร็จทีละขั้น จากเริ่มต้น (Start-up) จนอยู่รอดเลี้ยงตัวเองได้ (Survive) และขยายใหญ่ขึ้น (Growth) จนอาจไปไกลถึงส่งออก (Go Inter) ในที่สุด
อย่างไรก็ตามจงจำไว้ว่าทุกย่างก้าวที่อยู่บนเส้นทางสายธุรกิจ ต้องทำตัวให้พร้อมรับกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันเสมอ ถ้าได้คาถาดี ทั้งท่องทั้งทำ รับรองโอกาสล้มหายตายจากไม่มีแน่นอน ด้วยคาถา SME ดังนี้
S - Strong financial การเงินแกร่ง บริหารเงินสดคล่องมือ ไม่ก่อหนี้เกินตัว และมีรายรับเข้ามาสม่ำเสมอ
M - Managing system มีระบบบริหารจัดการภายในที่ดี มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ และมีมาตรฐานที่สอดคล้องกับข้อกำหนดทั้งมาตรฐานอุตสาหกรรม และมาตรฐานระหว่างประเทศ
E - Excellent service การบริการประทับใจ สร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า ก่อให้เกิดความพึงพอใจอย่างต่อเนื่อง คำพูดปากต่อปากดียิ่งกว่าการลงทุนโฆษณาประชาสัมพันธ์เสียอีก
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมถือเป็นฐานรากที่มั่นคงของเศรษฐกิจของชาติ เพราะถ้าพิจารณาในภาพรวมแล้วนอกจากสร้างรายได้มากมาย ยังสร้างงานให้กับผู้คนจำนวนไม่น้อย ที่สำคัญช่วยลดปัญหาการย้ายถิ่นเพื่อมาหางานทำในเมืองใหญ่ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมอีกมากมายจากความหนาแน่นที่เกินจะรับไหว ดังนั้นในบรรดา SMEs ที่มีอยู่มากมายและกระจายตัวอยู่ในทุกอำเภอและจังหวัดนั้น ถ้าทำได้ทำดีมีคนนิยมและชื่นชม ก็ควรที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็น “SMEs ชั้นดี”
ซึ่งแน่นอน SMEs ชั้นดีเหล่านี้เมื่อได้รับความรู้ด้านการจัดการในขั้นสูงก็จะผลิดอกออกผลขยายตัวไปสู่ SMEs ที่มีศักยภาพได้ในที่สุด และในไม่ช้า SMEs ชั้นดีเหล่านี้ก็จะไปผงาดในตลาดต่างประเทศ ถึงขั้นอาจสร้าง Brand ที่น่าจดจำสำหรับลูกค้าต่างชาติได้ในที่สุด แน่นอนถ้าไปไกลถึงขั้นนั้นจะเรียกว่า SMEs ชั้นดี คงไม่พอต้องขอเรียกต่อว่า “SMEs ชั้นนำ” น่าจะคู่ควรกว่า
และด้วยเหตุผลนี้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่รู้จักกันดีในชื่อย่อว่า “สสว.” ก็มุ่งมั่นที่จะทั้งผลักและทั้งดันเพื่อให้ SMEs ของไทยก้าวไกลไปในระดับโลก จะเห็นได้จากมีการดำเนินการมอบรางวัลสุดยอด SME แห่งชาติเป็นประจำทุกปี เพื่อเฟ้นหา SMEs ชั้นดี และ SMEs ชั้นนำ และเชิดชูเกียรติให้เป็นตัวอย่างแก่ SMEs อื่นๆ จะได้เรียนรู้และดูเป็นตัวอย่าง ปีนี้ก็เวียนมาครบรอบการประเมินเพื่อค้นหาสุดยอด SMEs เป็นปีที่ 3
สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่สนใจ และอยากจะรู้ผลการประเมินของตนว่ามีระบบดีมากน้อยแค่ไหน จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขในเรื่องใดเป็นพิเศษ เพื่ออุดรูรั่ว ลดช่องว่างช่องโหว่ที่เป็นภาระทำให้ต้นทุนการประกอบการสูง เชิญสมัครเข้ารับการตรวจประเมินเพื่อพิจารณาเป็นสุดยอด SMEs ประจำปีใน 11 กลุ่มธุรกิจ ดูรายละเอียดเพิ่มเติม และดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่เว็บไซต์ www.sme.go.th http://www.sme.go.th/
สำหรับเกณฑ์การพิจารณาได้รับการออกแบบเป็นอย่างดี มีมาตรฐานเทียบเคียงสากล แต่เขียนให้เข้าใจได้ง่ายสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อช่วยส่งเสริมให้นำกรอบการบริหารจัดการที่รอบด้านเช่นนี้ไปใช้เป็นแม่แบบในการจัดการองค์กร ประกอบด้วย หมวด (1) บทบาทของผู้บริหารในการนำองค์กร 120 คะแนน หมวด (2) การวางแผนการดำเนินธุรกิจ 120 คะแนน หมวด (3) การมุ่งเน้นลูกค้าและตลาด 120 คะแนน หมวด (4) การวัด วิเคราะห์ และจัดการความรู้ 100 คะแนน หมวด (5) การบริหารทรัพยากรบุคคล 140 คะแนน หมวด (6) การจัดการกระบวนการ 160 คะแนน หมวด (7) ผลลัพธ์ทางธุรกิจ 240 คะแนน โดยมีคะแนนรวมทั้งสิ้น 1,000 คะแนน
สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่สมัครเข้ารับรางวัล และผ่านการตรวจประเมินเบื้องต้น จะได้รับการตรวจประเมินเชิงลึก ณ สถานประกอบการจากคณะผู้ตรวจประเมินที่มีประสบการณ์ แน่นอนย่อมได้ข้อเสนอแนะดีๆ ที่เป็นประโยชน์อีกด้วย
สำหรับปีนี้ องค์กรใดจะผ่านการตรวจประเมินและมีคะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อรับรางวัลสุดยอด SMEs แห่งชาติ คงต้องจับตามองในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ และเมื่อถึงวันนั้นเชื่อว่าคงมีสื่อมวลชนหลายสำนักติดตามสัมภาษณ์ผู้บริหารขององค์กรที่ได้รางวัล เพื่อเจาะลึกเคล็ดลับการบริหารองค์กรมาแบ่งปันให้อ่านกัน
วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น