หมดเวลาแล้วกับการทำตลาดแบบเดิมๆ ผู้ประกอบการ SME ยุคใหม่ต้องรู้จักฉีกกฎ หนีออกมาจากกรอบเก่าๆ โดยที่ไม่ต้องยึดตามทฤษฎีในตำรา หรือเดินตามเงาองค์กรยักษ์ใหญ่ กลยุทธ์ประเภท ME Too Strategy ‘เขาทำอะไร เราทำแบบนั้น’ คงถึงเวลาที่จะต้องโยนทิ้งลงถังขยะได้แล้ว เพราะถ้ามัวแต่ทำเช่นนั้น คุณจะไม่มีวันเป็น ‘ผู้ชนะ’ ได้เลย
Unique Marketing หรือ ‘การตลาดแบบเฉพาะตัว’ การตลาดยุคใหม่ที่จะไม่ต้องมีรูปแบบตายตัว ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร คุณสามารถที่จะดีไซน์การตลาดในแบบตัวเองได้ เพื่อสร้างความแตกต่างขึ้นมา ซึ่งจุดกำเนิดของการสร้างการตลาดในแบบเฉพาะตัวนี้ สิ่งสำคัญอยู่ที่ ‘วิธีคิด’ ของตัวผู้ประกอบการเองว่าจะสร้างสรรค์การตลาดในแบบของตัวเองอย่างไร เพื่อให้โดนความต้องการและสามารถมัดใจลูกค้าได้อยู่หมัด
เพื่อเป็นทางลัดให้การครีเอตนี้ง่ายขึ้น SME Thailand จึงได้รวบรวมแนวทางการตลาดยุคใหม่ จากผู้เชี่ยวชาญและนักการตลาดชื่อดัง มาจุดประกายให้ผู้ประกอบการ SME ได้มองเห็นโอกาสทางการตลาดที่ต่างไปจากเดิม และสามารถหยิบนำไปประยุกต์ใช้ หรือจะดีไซน์ให้แตกต่างออกไป เพื่อสร้าง Unique Marketing ในแบบฉบับของตัวคุณเอง...ก็ทำได้เช่นกัน!!!
Non-Consumer การตลาดพลิกมุมของ SME
ก่อนที่จะพูดว่า SME ต้องใช้การตลาดแบบไหน คุณต้องเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นให้ได้ก่อน ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ การเมือง สังคม เทคโนโลยี หรือแม้แต่โลกาภิวัตน์ หาก SME สามารถเห็นภาพ เข้าใจ และเท่าทันปัจจัยภายนอกเหล่านี้ได้เร็วพอ ก็จะรู้ได้ว่าต้องใช้กลยุทธ์การตลาดแบบไหนถึงจะเหมาะสม
ดร.ทรรศนะ บุญขวัญ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิยาลัยหอการค้าไทย บอกกับทีมงาน SME Thailand ว่า วันนี้ SME ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ก่อน ต้องไม่ยอมแพ้ ยอมจำนนต่อภูมิปัญญาดั้งเดิม อย่างเชื่อแบบเดิมๆ การแข่งขันกันด้วยราคาเสมือนเป็นการจูงมือกันลงทะเลสีเลือด ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการจะดึงตัวเองให้หลุดจากวงโคจรของการห้ำหั่นราคาได้นั้น คือ ต้องสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น และการจะทำให้เกิดขึ้นได้ต้องรู้ให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพราะวันนี้ SME ต้องเป็นผู้กำหนดความต้องการให้เกิดขึ้นมา ต้องไม่ใช่ผู้ตามอีกต่อไปแล้ว
การสร้างความต้องการให้เกิดขึ้น หรือที่เรียกว่า Demand Creation แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็สามารถพลิกมุมทำการตลาดที่ต่างออกไปได้ หลายคนอาจเคยได้ยินทฤษฎีการตลาดของ ดร.ฟิลิป คอตเลอร์ ที่สอนให้มองไปที่ความต้องการของผู้บริโภค (Consumer Oriented) แต่กลับมีผู้ประกอบการรายหนึ่งที่มองสวนทางออกไป ดร.ทรรศนะ ยกตัวอย่าง กรณี ผู้ผลิตไม้กอล์ฟ Callaway ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้วบริษัทเล็กๆ แห่งนี้เกิดขึ้นในตลาดไม้กอล์ฟที่มีเจ้าใหญ่ๆ มากมายครองตลาดอยู่แล้ว หากบริษัทนี้ทำตามที่บริษัทใหญ่เขาทำกัน เช่น ไปถามลูกค้าว่าอยากได้อะไร แล้วก็ทำตามความต้องการ แน่นอนว่าบริษัทเล็กๆ อย่าง Callaway ไม่สามารถเกิดขึ้นได้
แต่ Callaway เริ่มต้นวิธีคิดที่ต่างออกไป โดยการไม่ผลิตไม้กอล์ฟสำหรับคนตีกอล์ฟ เขาเลือกที่จะฉีกการตลาดออกไป โดยการให้ความสนใจไปที่ ‘คนที่ไม่ใช่ลูกค้า’ หรือ Non-Consumer เพราะเขาเชื่อว่าคนไม่ตีกอล์ฟมีมากกว่าคนตีกอล์ฟเสมอ คนที่เป็นลูกค้าคุณมีน้อยกว่าคนที่ไม่ได้เป็นลูกค้าคุณ ดังนั้น Callaway จึงเริ่มต้นจากการไปถามคนต่างๆ ว่าทำไมถึงไม่ตีกอล์ฟ ซึ่งคำตอบหนึ่งที่ได้รับ คือ ตียากไม่ค่อยโดนลูก กลายเป็นว่า Callaway เป็นเจ้าแรกที่ผลิตไม้กอล์ฟหัวใหญ่ชื่อว่า Big bertha เรียกว่าตีอย่างไรก็โดนลูก จากบริษัทเล็กๆ วันนี้ Callaway กลายเป็นเบอร์หนึ่งของโลกไปแล้ว
Co-Creation การตลาดแบบขอมีส่วนร่วม
ปัจจุบันการตลาดเดินมาถึงยุคที่เรียกว่า ‘การขายความคิดสร้างสรรค์’ หรือ Creative Economy ทำให้ลักษณะการทำธุรกิจวันนี้ได้ถูกเปลี่ยนไปจากแบบ Mass มาสู่การเป็น one to one มากขึ้น ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การตลาด ผศ.ดร.กฤตินี ณัฎฐวุฒิสิทธิ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าให้ฟังว่า จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นับเป็นความสอดคล้องที่ดีกับธุรกิจ SME เนื่องจากความสามารถในการเข้าถึงระดับบุคคลของ SME นั้นสามารถทำได้มากกว่าบริษัทใหญ่ๆ
อย่างไรก็ดี ในความเป็น one to one นี้ มีเสน่ห์และโอกาสที่ดีมากกว่าการมองความต้องการแบบกลุ่ม แต่อย่างไรก็ตาม SME ต้องคำนึงถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย เพราะจะมีผลต่อราคาขายที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่ที่ว่าผู้ประกอบการจะวางตำแหน่งของตนเองไว้อย่างไร หากวางตัวเองว่าจะขายของถูก แต่เลือกใช้วิธีการแบบ one to one ก็เป็นสิ่งที่ขัดแย้ง แต่ถ้ามองว่าเป็น Niche การใช้วิธีการแบบดังกล่าวก็จะเป็นสิ่งที่สอดคล้องกัน
จากการตลาดที่ต้องลงลึกไปที่ความต้องการระดับบุคคลนี้เอง ทำให้พบว่าผู้บริโภคในยุคปัจจุบันไม่ได้ต้องการทำตัวเป็นเพียงผู้รับเท่านั้น ต่างจากอดีตที่ผู้ขายมักจะมองว่า ผู้ซื้อจะทำหน้าที่บริโภคสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ขณะนี้ผู้บริโภคต้องการเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ต้องการสร้างประสบการณ์ หรือใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตนเองเข้ามามีส่วนในการบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ นั้นด้วย จึงก่อเกิดเป็นเทรนด์การตลาดใหม่ที่เรียกว่า Co–Creation ขึ้นมา
สำหรับกระแส Co–Creation จะเป็นไปในลักษณะที่ให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการบริโภคสิ่งนั้นๆ ซึ่ง ผศ.ดร.กฤตินี ได้ยกตัวอย่างให้ภาพชัดขึ้น เช่น การสร้างจุดขายให้กับร้านอาหารขนาดเล็ก โดยมีการผลิตอาหารในแบบ Homey Style เป็นการผลิตออกมาจากครัวของบ้านเลย โดยที่ลูกค้ามีส่วนร่วมในการบอกว่า ชอบ หรือไม่ชอบอะไร หรือแม้แต่อยากจะเข้าไปร่วมผลิตอาหารด้วยก็ได้ หรือหากเป็นธุรกิจโรงแรมแบบโฮมสเตย์ อาจเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้เข้าไปมีส่วนในการเก็บผัก ผลไม้เพื่อนำมาปรุงอาหาร เป็นต้น นี่คือการสร้างธุรกิจที่อำนวยให้ผู้บริโภคเข้าไปมีส่วนในการสร้างประสบการณ์นั้นๆ ซึ่งจะต่างจากโรงแรมห้าดาวที่เตรียมบริการไว้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด นี่จึงเป็นการตลาดที่แตกต่างและมีเสน่ห์ในแบบที่ SME ทำได้จริงๆ
Emotional Marketing จับตลาดแห่งความรู้สึก
เรื่องของความรู้สึกกลายเป็นปัจจัยของการทำตลาดยุคใหม่ไปแล้ว วันนี้ทฤษฎีประชากรศาสตร์ ที่พูดถึงเพศ อายุ รายได้นั้น กำลังจะหมดความหมายลงทุกที เพราะแทบจะไม่ได้ช่วยอะไรเลยในการทำตลาด นั่นเป็นเพราะการทำตลาดยุคนี้ให้ได้ผลจริงๆ ต้องเจาะลึกลงไปที่ความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค
ดลชัย บุณยะรัตเวช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบรนด์ซเคพ จำกัด บอกว่า การทำตลาดในเวลานี้ไม่จำเป็นต้องแข็งเป็นสี่เหลี่ยม หรือยึดติดกับเป็นสูตรเดิมๆ ที่ว่าคนอายุ 25 ปีต้องเป็นอย่างนี้ หรือเด็กอายุ 15 ปี ต้องเป็นอย่างนั้น เชื่อว่าผู้บริโภคมีความหลากหลายมากขึ้น มีทางเลือกมากขึ้น ฉลาดขึ้นและที่สำคัญเขาจะตั้งคำถามมากขึ้นด้วยว่าทำไมต้องให้ในสิ่งเดิมๆ ที่เขารู้อยู่แล้ว ซึ่งนั่นไม่ได้ทำให้ชีวิตเขามีอะไรแปลกใหม่ขึ้นมาเลย ดังนั้น วันนี้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME ต้องเข้าใจผู้บริโภคให้ลึกซึ้งและโฟกัสให้มั่น อย่าจับหลวมๆ ตามทฤษฎีเท่านั้น เรียกว่า ‘ต้องชกให้โดนทันที’ เพราะ SME ไม่มีเวลามาร่ายรำมากนัก
สำหรับคนที่อยากจะทำการตลาดแบบนี้ให้สำเร็จ ดลชัยบอกว่า ต้องพยายามขุดค้นความปรารถนาลึกๆ ของคนที่ยังไม่ถูกตอบสนองให้เจอ ซึ่งบางครั้งเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ แต่มักถูกมองข้าม เช่น เด็กอาจไม่ได้อยากเล่นสนุกทุกคน อาจมีหลายมุมที่อยากเป็นผู้ใหญ่ อยากเท่ อยากเป็นคนร้าย อยากเป็นคนนอกกรอบ แล้วเราเคยเอามุมนี้มาคุยกับเขาไหม ทำไมถึงชอบคิดว่า เด็กต้องซน สนุกสนาน ร่าเริงเสมอไป หรือการใช้โทรศัพท์มือถือก็ไม่ใช่เพื่อการติดต่อเท่านั้น หรือการใช้สบู่อาจไม่ใช่แค่ต้องการทำความสะอาดร่างกายอย่างเดียว เขาอาจต้องการกลิ่น ความหอม หรืออื่นๆ อีกมากมาย ฉะนั้นพยายามคิดให้ได้ว่า มีอะไรที่ลึกไปกว่านี้ ซึ่งยังไม่มีใครขุดเจอ หาก SME ทำได้ในจุดนี้ นี่จะเป็นหนทางในการเอาชนะองค์กรใหญ่ๆ ได้อย่างสง่างาม
ในมุมมองที่ใกล้เคียงกันของ ผศ.ดร.ชวนะ มหิทธิชาติกุล-ภวกานันท์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวางแผน คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า ผู้ประกอบการต้องรู้จักไปถึงกิเลสของมนุษย์ เป็นการขายโดยคำนึงถึงความเป็นคนให้มากที่สุด กล่าวคือ เป็นการขายไปที่ใจลูกค้า นักการตลาดท่านนี้บอกเราว่า มนุษย์ไม่ต้องการหยุดอยู่กับที่ ต้องการการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่น มนุษย์มีความเห่อ (Fad) ซึ่งเป็นสิ่งที่ชั่วคราว มาเร็วไปเร็ว ฉะนั้นผู้ประกอบการต้องทำให้คนตามที่จะสนุกไปกับสินค้าของเรา ซึ่งจะต้องไม่หยุดอยู่กับที่ หรือจะเป็น Fashion ก็ดี ซึ่งเจ้าของไม่จำเป็นต้องสร้างแฟชั่นเอง แต่ต้องใช้มือที่สาม (Third Person) เป็นคนพูดต่อๆ กันไป ยังมีเรื่องของความรู้สึก (Feeling) หรือเป็นความต้องการการดูแลเอาใจใส่ และอีกมากมายที่ผู้ประกอบการสามารถใช้ความเป็นคนเหล่านี้มาต่อยอดการตลาดได้เป็นอย่างดี
‘ให้มากกว่าที่คิด’ การตลาดแบบ Add Value
เวลานี้แค่สินค้าคุณภาพดี บริการยอดเยี่ยม คงจะไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นกลยุทธ์เพื่อเอาชนะใจลูกค้าได้ เพราะทุกคนก็ทำเหมือนกันหมด เป็นเหมือนมาตรฐานที่ทุกคนต้องมี แต่ขณะที่ความต้องการของลูกค้านั้นกลับมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นการที่จะตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้ จำเป็นต้องใส่ Value ตัวใหม่เข้าไป ยิ่งเป็นสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมายของลูกค้าด้วยแล้ว ถือเป็นกลยุทธ์พิชิตใจ
กลยุทธ์การตลาดในแบบที่เราเรียกว่า ‘ให้มากกว่าที่คิด’ นั้น นับเป็นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้ลูกค้าได้อย่างดีเยี่ยม หยิบยกกรณีของ บริษัทอีเกิลส์ แอร์แอนด์ซี นอกจากมีบริการโลจิสติกส์อย่างครบวงจรแล้ว Serviced Apartment ยังเป็นอีกสิ่งที่บริษัทแห่งนี้มีไว้รับรองลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมายที่ลูกค้าไม่เคยคิดว่าจะได้รับมาก่อน ทั้งนี้ เป็นเพราะบริษัทต้องการที่จะซื้อใจและอำนวยความสะดวกสบายให้กับลูกค้าซึ่งเดินทางมาจากต่างประเทศ เพื่อซื้อสินค้าส่งไปขาย สามารถมีที่พักอยู่ในแหล่งสินค้าและสามารถฝากสินค้าที่จะขนกลับไปขายไว้กับบริษัทได้ทันที แถมตบท้ายด้วยกลยุทธ์สะสมแต้มอีกต่อหนึ่ง หากสะสมการขนส่งได้ครบจำนวนที่กำหนดจะได้รับสิทธิ์เข้าพักฟรีทันที กลยุทธ์การตลาดง่ายๆ แบบนี้เป็นสิ่งอีเกิลส์มองเห็น แต่หลายคนมองข้าม ฉะนั้นโอกาสงามๆ จึงมีเข้ามาไม่ขาดสาย
THE ONLY ONE การตลาดบนความต่าง
ใครๆ ก็อยากเป็นเบอร์ 1 กันทั้งนั้น ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะพื้นที่สำหรับเบอร์ 1 มีเพียงตำแหน่งเดียว และยิ่งเป็น SME ด้วยแล้ว การจะไปต่อกรชิงความเป็นที่หนึ่งมานั้นคงไม่ง่ายแน่นอน เพราะต้องใช้ทั้งเวลา เงินทุน และความทุ่มเทอย่างมหาศาล ฉะนั้นทางเลือกที่ง่ายกว่า ลงทุนน้อยกว่า เหนื่อยน้อยกว่าและเป็นไปได้มากกว่า นั่นก็คือ การเป็น หนึ่งเดียว (THE ONLY ONE)
ในมุมมองของ ธีรพล แซ่ตั้ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทเลมาร์เก็ตติ้ง สแทร็จทริจี คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด บอกว่า การเป็นหนึ่งเดียวไม่จำเป็นต้องมีส่วนแบ่งในตลาดมากที่สุด ไม่เน้นที่ Market Share แต่เน้นที่ Mind Share ส่วนแบ่งในใจลูกค้า นอกจากนี้ การเป็นหนึ่งเดียวยังสื่อไปถึงความแตกต่าง ความโดดเด่น มีสไตล์ มีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง ทั้งในเรื่องของสินค้าและบริการที่ยากแก่การลอกเลียนแบบ และไม่ต้องการเลียนแบบใคร และยังรวมไปถึงการสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ขึ้นมา ไม่แยแสกฎกติกาเดิมๆ ที่รายใหญ่เป็นผู้กำหนด และไม่ได้อยู่ในฐานะที่ให้รายใหญ่มาไล่บี้จนแทบจมดิน ลองค้นหาสร้างหนทางสู่การเป็น ‘หนึ่งเดียว’ แล้วคุณจะรู้ว่าการเป็น THE ONLY ONE นั้นสบายกว่าการเป็น NUMBER ONE เยอะเลย
อย่างไรก็ดี ในเรื่องของการสร้างความต่าง เพื่อเป็นหนึ่งเดียวนั้น ดร.ทรรศนะ บุญขวัญ ได้ยกตัวอย่าง กรณีของดีลเลอร์รถยนต์โตโยต้ารายหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งทำตลาดไม่เหมือนใคร ดีลเลอร์ส่วนใหญ่ที่เห็นก็มักทำตลาดกันด้วยโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม แต่ที่นี่ไม่ใช่เขาไม่เคยลดราคาและไม่เคยแจกของแถมใดๆ แต่กลับมียอดสั่งซื้อจากลูกค้าอยู่ตลอดเวลา เพราะเขาใช้วิธีพาลูกค้าไปดูโกดังเก็บรถยนต์ เพื่อให้ลูกค้าเห็นว่ารถทุกคันที่จอดอยู่ที่นี่จะได้รับการคลุมผ้าเก็บรักษาเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อทันที โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงของแถมหรือการลดราคาแต่อย่างใด
จากแนวทางการตลาดทั้งหมดที่กล่าวมานี้ หวังว่าจะช่วยจุดประกายไอเดียให้ผู้ประกอบการ SME ได้เห็นถึงโอกาสของการสร้างการตลาดในแบบของตัวคุณเองได้ จะมิกซ์แอนด์แมตช์กันด้วยวิธีไหน สามารถเลือกทำได้ตามอัธยาศัย เพียงแค่ต้องไม่ลืมว่า การตลาดที่ดีไซน์มานี้จะต้องตอบโจทย์และชกเข้าเป้าหมายได้ตรงจุด...!!!
ทำอย่างไร…ให้ ‘สด-ใหม่’ ตลอดเวลา!
สินค้า-บริการที่ น่าเบื่อ และ ควรเลิกซื้อ มากที่สุดก็คือ สินค้า-บริการที่ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง พัฒนา ความสด-ใหม่ สามารถทำได้แทบจะ 360 องศา เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้าเดิมและเติมความตื่นตาตื่นใจให้กับลูกค้าใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่…
1. หลีกหนีความจำเจแบบเดิมๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนทั้งช่องทางและรูปแบบของสื่อ ไม่ต้องกลัวว่าลูกค้าจะจำไม่ได้ ถ้าตราบใดที่มีแบรนด์พ่วงประกบติดไปกับทุกช่องทาง
2. บรรจุภัณฑ์ ถ้าปรับเปลี่ยนใหม่ได้ก็ควรทำ แต่ถ้ากลัวต้นทุนพุ่งก็ให้พ่วงไปกับสินค้า-บริการหลากหลายชนิด ก็จะได้ทั้งความสดใหม่และยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากการขายแบบเดิมๆ ทีละชิ้น
3. ใส่มูลค่าเพิ่มลงไปตัวสินค้า ทั้งประโยชน์ที่จับต้องได้ (Tangible Benefit) หรือในเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก (Emotional Benefit) ให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่าน่าสัมผัส น่าทดลองใช้มากขึ้น
4. สร้างความสดใหม่สีสันให้หน้าร้านหรือโชว์รูม เพื่อดึงดูดให้ทั้งลูกค้าใหม่ลองแวะเข้ามา ลูกค้าเก่าอยากมาเรื่อยๆ โดยไม่ต้องลงเงินมากมาย แต่ลงแรงและลงกึ๋นมากหน่อย
5. อย่าลืม...พนักงานเองก็ต้องมีความสด-ใหม่ ในวิธีการรับลูกค้าด้วย
(ที่มา : จากแนวคิดของ ธีรพล แซ่ตั้ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทเลมาร์เก็ตติ้ง สแทร็จทริจี คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด)
คิดแบบ กาลามสูตร
ในการทำการตลาดให้ประสบความสำเร็จนั้น ผู้ประกอบการสามารถนำหลักธรรม ‘กาลามสูตร’ ซึ่งเป็นหลักแห่งความเชื่อที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้แก่พุทธศาสนิกชน ไม่ให้เชื่อสิ่งใดๆ อย่างงมงายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณา ซึ่งเปรียบได้กับการทำตลาด ที่ไม่ควรเชื่อในสิ่งที่เห็นหรือคิดในทันที แต่ควรต้องทำรีเสิร์ซก่อนทุกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เพียงพอ และรู้ถึงความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง
กาลามสูตรมีอยู่ 10 ประการด้วยกัน คือ
1. อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ฟังๆ กันมา
2. อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ทำต่อๆ กันมา
3. อย่าเพิ่งเชื่อตามคำเล่าลือ
4. อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างตำรา
5. อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกเดา
6. อย่าเพิ่งเชื่อโดยคาดคะเนเอา
7. อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกคิดตามแนวเหตุผล
8. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะถูกกับทฤษฎีของตน
9. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะมีรูปลักษณ์ที่ควรเชื่อได้
10. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูบาอาจารย์ของตน
(SME Thailand mag)
วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น