วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ธนพงศ์พรรณ ธัญญรัตตกุล เจเนอเรชั่นใหม่แห่งโลกโซเชียล มีเดีย

พูดถึงชื่อ “ธนพงศ์พรรณ ธัญญรัตตกุล”
วันนี้อาจมีคนรู้จักเขาในวงจำกัด แต่วันข้างหน้า... มีแววไปได้ไกล


พูดถึงชื่อ “ธนพงศ์พรรณ ธัญญรัตตกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทู ทรี เปอร์สเปกทีฟ จำกัด ผู้ให้บริการด้านการตลาดออนไลน์ผ่านโซเชียล มีเดีย และโมบาย แอพพลิเคชั่น วันนี้อาจมีคนรู้จักเขาในวงจำกัด แต่วันข้างหน้า... มีแววไปได้ไกล

เมื่ออายุ 23 ปี หลังเรียนจบ แล้วไปเป็นลูกจ้างคนอื่นมา 1 ปี เขาเริ่มธุรกิจของตัวเองร่วมกับเพื่อนอีก 3 คน มีเงินตั้งต้น 3 แสนบาทด้วยเป้าหมายที่กำไร 1 ล้านบาท วันนี้เขาอายุ 25 ย่าง 26 ปี กำเงิน 100 ล้านบาทไว้ในมือ พร้อมตั้งเป้าปีหน้าตัวเลข 400 ล้านบาท หรืออย่างต่ำ 200 ล้านบาทจะต้องเกิดอย่างแน่นอน

ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์
ธนพงศ์พรรณ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งบริษัทว่า เกิดจากความสนใจส่วนตัวที่ต้องการทำงานด้านออนไลน์เว็บไซต์ และโมบายแอพพลิเคชั่น จึงเริ่มด้วยการขายงานแบบโปรเจคให้องค์กรต่างๆ ต่อมาเมื่อเห็นมีทีท่าไปได้ดีจึงตั้งบริษัทขึ้น ทั้งเห็นเทรนด์โซเชียลมีเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐกระแสแรงมาก ก็คิดว่าไม่ช้าต้องเข้ามาไทยแน่นอน

“ตอนแรกที่ทำ ผมไม่ได้คิดว่าจะต้องเติบโตมากเท่าวันนี้ แค่คิดว่าอยากทำ และชอบ คิดว่าเราทำได้เท่านั้นเอง ความกล้าที่จะเสี่ยงเกิดขึ้นจากความอยากทำล้วนๆ”

เขาเล่าว่า ผู้ที่คิดจะทำธุรกิจด้านนี้สิ่งสำคัญต้องเร็ว ถ้าไม่เร็วและเป็นผู้นำให้ได้ก่อนวันนี้ สุดท้ายจะมีคู่แข่งมากมาย วันนี้เขาเริ่มได้ก่อนจึงมั่นใจว่าหาคู่แข่งได้ยาก หากใครต้องการทำตามต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน คอนเทนท์เลียนแบบกันได้ แต่ระบบเลียนแบบไม่ได้

ทั้งนี้ธุรกิจโซเชียล มีเดียต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ศาสตร์หนึ่งที่จำเป็นและขาดไม่ได้คือวิศวกรต้องเชี่ยวชาญ ด้วยบีบี ไอโฟน ไอแพด ล้วนเป็นของใหม่ที่ทุกคนต้องเริ่มเรียนรู้กัน ไม่มีเรียนในตำรา ฉะนั้นใครที่เริ่มได้ก่อนคนนั้นได้เปรียบ ทุกอย่างต้องใช้การสั่งสมของประสบการณ์

ต้องกระโดด
เขาระบุว่า ความยากในการทำคือ ทำอย่างไรให้โตแบบก้าวกระโดด ธุรกิจแบบนี้โตแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ได้ ต้องทำให้โตที่สุดไม่เช่นนั้นคนอื่นจะก้าวแซงไปเป็นผู้นำแทน ในปีแรกแผนงานที่วางไว้คือ พยายามวางรากฐานให้แน่น ปีที่ 2 ทำผลงานให้เตะตา ส่วนปีต่อๆ ไป จะพยายามหาพาร์ทเนอร์ชิพเพื่อเสริมให้ธุรกิจแข็งแกร่ง

“ผมไม่ชอบทำงานที่ไปชนหรือไปแย่งรายได้กับใคร เราจะไม่แข่ง ไม่แย่งตลาดกับเจ้าอื่น แต่จะสร้างจุดเด่นในแบบของตัวเองและทำให้แข็งแกร่งมากที่สุด ที่ผ่านมาเราอยู่ได้เพราะความพอใจของลูกค้า และราคาที่สมเหตุสมผล”

บริษัทเขามี 5 หน่วยธุรกิจ ประกอบด้วย 1.Shoppening 2.WiKalenda 3. แพลตฟอร์ม ดีเวลลอปเม้นท์ 4.โมบาย แอพพลิเคชั่น 5.โซเชียลมีเดีย และออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง บนนิวมีเดียแพลตฟอร์ม ทั้งโซเชียล มีเดีย สมาร์ทโฟน แบล็คเบอร์รี ไอโฟน มือถือโอเอสแอนดรอยด์ รวมถึงไอแพด

เขากล่าวว่า เทรนด์ของโซเชียล มีเดียจะยังไม่หมดไปง่ายๆ แมสมีเดีย กำลังเปลี่ยนจากเทรดดิชั่นนอล มีเดีย เป็นออนไลน์มีเดีย ทั้งเห็นได้จากการเติบโตของสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์โมบายต่างๆ ต่อไปนิวมีเดียที่จะก้าวมาคาดว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ตทีวีและทีวีดาวเทียม

"พูดง่ายๆ ทราฟฟิกอยู่ที่ไหน รายได้ก็อยู่ตรงนั้น โลกมันไร้พรมแดน แอพพลิเคชั่นอีโคโนมีมูลค่าตลาดมากถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ ต่อไปการสร้างรายได้จะเกิดจากแอพพลิเคชั่นเหล่านี้"

อย่างไรก็ตาม เขาไม่คิดว่าเทรนด์นี้จะทำให้บริษัทต้องปรับตัวมากนัก เพราะมีนโยบายชัดเจนว่า จะไม่ทำอะไรที่ไม่ถนัด ไม่โหนตามกระแสตลาดจนมากเกินไป หากจะทำจริงๆ คงทำร่วมกับพาร์ทเนอร์แทน

พร้อมประเมินแนวโน้มตลาดไทยว่า ยังไปไม่รอด จากพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยชอบของฟรี ฉะนั้นรายได้หลักของผู้พัฒนาต้องมาจากการโฆษณาล้วนๆ

“ในความคิดของผมๆ ไม่มองแค่ว่าเป็นตลาดไทย แต่มองรวมว่าเป็นทั้งอาเซียน เหมือนในยุโรปที่เขาไม่มองแค่เป็นประเทศนั้นประเทศนี้กันแล้ว ขณะนี้บริษัทของเราเริ่มวางรากฐาน Shoppening และ WiKalenda ที่ไทย และเริ่มเข้าไปคุยเพื่อหาพาร์ทเนอร์ในสิงคโปร์ เชื่อว่าหากคุยกันสำเร็จ จะใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือนเพื่อปรับรูปแบบเป็นโลคอล และพร้อมใช้งานได้ทันที เป้าต่อไปคือที่มาเลเซีย”

ปรับแผนตลอดเวลา
ธนพงศ์พรรณ บอกว่า บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มฟีเจอร์และโซลูชั่นใหม่ๆ ให้แพลตฟอร์ม Shoppening และ WiKalenda ทุก 3 เดือน ปรับแผนงานโดยภาพรวมของบริษัททุก 6 เดือน ต่อไปยังมีแผนจะจับตลาดอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น โดยเข้าไปเสริมในลักษณะแนะนำโปรโมชั่น หรือเรคคอมเมนเดชั่น ไม่ใช่ตั้งตัวเป็นมาร์เก็ต เพลส แข่งกับรายใหญ่ที่มีอยู่

“แม้ว่าเกมจะเป็นแพลตฟอร์มที่นิยมที่สุด แต่ผมจะไม่เข้าไปจับเกมแน่นอน อย่างที่บอกผมจะไม่ทำอะไรที่ไม่ถนัด แต่จะขายความง่าย ดี และฟรี ในแบบของตัวเอง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของเอ็น ยูสเซอร์ให้มากที่สุด”

พร้อมระบุกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมีหลากหลายทุกอุตสาหกรรมดังที่เคยทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการส่งออก สยามพาร์คซิตี้ เป็นต้น

ส่วนอนาคตก็พร้อมจะลงทุนเพิ่มต่อเนื่อง ไม่ปรับลดจำนวนเงินลงจากเดิม แม้ภาวะการเมืองไม่นิ่งก็ไม่หวั่น สิ่งที่กลัวที่สุดคือผู้ใช้จะไม่พอใจในผลงาน กลัวจะโปรโมทสินค้าให้ลูกค้าได้ไม่ดีพอ แต่ไม่กลัวคู่แข่งจะเพิ่มขึ้น เพราะเชื่อว่า ยิ่งมากยิ่งดี ตลาดจะได้โตขึ้นๆ

“วันนี้เป็นวันของเรา ประสบการณ์ที่ผ่านมาได้สอนให้เราทำงานดีขึ้น เร็วขึ้น โดยใช้เวลาน้อยลง บางวันก็ให้เป็นของคนอื่นบ้าง หากพลาดก็ต้องทำใจ เรื่องการเมืองคงไม่เท่าไร เพราะผมเป็นคนไทยมั้งครับเลยไม่กลัว ไม่เหมือนต่างชาติที่เขาอ่อนไหวอย่างมาก ธุรกิจของผมไม่ได้ขึ้นกับฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ผมมองแค่จะทำให้ดีที่สุด ตอบโจทย์ที่สุด ถ้าไม่โตก็ตาย”

ปัจจุบัน รายได้ของบริษัท สัดส่วน 70% อยู่ที่งานโปรเจค 30% จาก Shoppening และ WiKalenda ต่อไปจะผลักดันให้เกิดรายได้จากการโฆษณาในแพลตฟอร์มทั้งสองเพิ่มเป็น 70% และลดการขายโปรเจคลง 30% ซึ่งคงต้องใช้เวลาสักพัก ช่วงนี้เป็นช่วงแนะนำสินค้าใหม่ น่าจะเริ่มเห็นผลต้นปี 2554

“อย่างน้อยๆ ต้องรักในสิ่งที่ตัวเองทำ แล้วเริ่มลงมือแบบจริงจังต่อไป แม้ไม่โตอย่างที่ฝัน อย่างน้อยก็ได้ทำสิ่งที่เราอยากทำ” ธนพงศ์พรรณ บอกความมุ่งมั่น

 
 
(จาก กรุงเทพธุรกิจ โดย : วริยา คำชนะ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น