วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

คนเหมือนกันทั้งโลก


ในการวิเคราะห์เรื่องการลงทุนนั้น แนวความคิดที่สำคัญมากอย่างหนึ่งที่ผมยึดถือก็คือความคิดที่ว่า “คนนั้นเหมือนกันทั้งโลก” ความแตกต่างของพฤติกรรมที่เราเห็นจากคนในแต่ละสังคมหรือแต่ละประเทศนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกิดจากความแตกต่างของรายได้

นั่นคือ สังคมที่รวยกว่าจะมีพฤติกรรมในการบริโภคและการใช้ชีวิตแตกต่างจากคนในสังคมที่จนกว่า แต่ในสังคมที่รวยพอ ๆ กันก็จะประพฤติหรือบริโภคสิ่งที่คล้าย ๆ กัน พูดง่าย ๆ คนไม่ได้แตกต่างกันเพราะเชื้อชาติ สีผิว หรือแม้แต่วัฒนธรรม แต่คนแตกต่างกันเพราะมีรายได้ไม่เท่ากัน แต่ถ้าจะพูดให้ถูกต้องชัดเจนก็คือ แท้ที่จริงแล้ว คนเรานั้นชอบหรืออยากทำอะไรเหมือน ๆ กัน เพียงแต่คน ๆ หนึ่งอาจจะมีรายได้มากพอที่จะทำในสิ่งที่ต้องการได้ ในขณะที่คนอีกคนหนึ่งทำไม่ได้เพราะไม่มีเงิน

จากแนวความคิดดังกล่าว ทำให้เราสามารถคาดการณ์ว่า ประเทศไทยหรือสังคมไทยจะเคลื่อนไหวไปทางไหน สินค้าหรือบริการอะไรจะขายได้หรือขายดีในอนาคต

วิธีการก็คือ ศึกษาจากประเทศหรือสังคมที่รวยกว่าเรา ดูว่าเคยเป็นอย่างไรและปัจจุบันเป็นอย่างไร ใช้ผลิตภัณฑ์อะไรมากน้อยแค่ไหน จากนั้นหันมาดูเมืองไทยว่า เราจะเดินตามแบบเดียวกับเขาเมื่อไร หัวใจสำคัญก็คือ ดูว่าเมื่อไรรายได้ของคนไทยจะเพิ่มขึ้นหรือราคาของสินค้าจะลดลงจนทำให้คนไทยมีปัญญาใช้สินค้านั้นได้เช่นกัน
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือเรื่องของโทรศัพท์มือถือ เมื่อราวสิบกว่าปีก่อน ถ้ายังจำกันได้ การใช้โทรศัพท์มือถือในประเทศไทยเพิ่งเริ่มเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม คนใช้ยังมีจำนวนน้อยมาก แต่ละปีจะมีผู้ใช้รายใหม่เพียงไม่กี่แสนรายในขณะที่ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียนั้น เกือบทุกคนแม้แต่เด็กเล็กก็ใช้กันแล้ว

เหตุผลของความแตกต่างก็คือ ราคาของการใช้โทรศัพท์มือถือในเมืองไทยยังแพงเกินกว่าที่คนไทยส่วนใหญ่จะสามารถใช้ได้ แต่แล้ว ราคาค่าเครื่องและค่าบริการการใช้โทรศัพท์มือถือก็ลดลงอย่างรวดเร็วจนคนไทยส่วนใหญ่สามารถใช้ได้ ผลก็คือ การใช้ในประเทศไทยก็พุ่งขึ้นจนปัจจุบันคนไทยเกือบทั้งหมดต่างก็ใช้โทรศัพท์มือถือเหมือนกับประเทศเจริญแล้ว

บางคนอาจจะบอกว่า เรื่องการบริโภคหรือเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจนั้น คนอาจจะทำตามกันเมื่อมีรายได้ใกล้เคียงกัน แต่ในเรื่องของความเชื่อ รสนิยม ความคิดทางสังคมหรือการเมืองนั้น แต่ละสังคมหรือแต่ละประเทศน่าจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่ม แต่ผมเองคิดว่า ความแตกต่างเหล่านั้นน่าจะเป็นในเรื่องของ “รายละเอียด” ในภาพใหญ่แล้ว ผมก็ยังคิดว่า “คนเราเหมือนกันทั้งโลก” ถ้าพวกเขามีรายได้หรือความมั่งคั่งใกล้เคียงกัน

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศที่ร่ำรวยมากขึ้น ในทางการเมืองก็จะเป็นประเทศที่ยึดหลักเสรีประชาธิปไตย ไม่มีประเทศไหนเป็นประเทศที่ปกครองแบบเผด็จการ ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่ยากจนอาจจะมีระบอบการปกครองเป็นเผด็จการได้ แต่เมื่อใดที่พวกเขารวยขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงจุดหนึ่ง พวกเขาก็ต้องเป็นประเทศประชาธิปไตย เพราะหัวใจของเรื่องก็คือ มนุษย์ทุกคนในโลกต้องการมีเสรีภาพ แต่บางครั้งเขาเลือกไม่ได้เมื่อเขายังจนอยู่ แต่เมื่อรวยขึ้นแล้ว พวกเขาก็จะต้องเรียกหาและได้เสรีภาพและประชาธิปไตยในที่สุด

ผมเองชอบย้อนรำลึกถึงความหลังในสมัยที่ยังเด็ก ถึงวันนี้ผมรู้สึกทึ่งกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่เกิดขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ ในสมัยก่อนนั้นผมรู้สึกว่าสังคมไทยมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากสังคมอื่น ๆ โดยเฉพาะที่ไม่ใช่คนเอเซีย

ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะการได้รับการสอนหรือพร่ำบอกผ่านสื่อต่าง ๆ ว่าประเทศไทยจะต้องเป็นหรือเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คนไทยเป็นคนที่มีค่านิยมอย่างนั้นอย่างนี้ที่ “ดี” กว่าคนอื่น แต่พอถึงวันนี้ หลังจากที่เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นมหาศาลและคนไทยเริ่มรวยขึ้นพอสมควร

ผมก็เริ่มเห็นว่าคนไทยรุ่นใหม่โดยเฉพาะที่พ่อแม่มีรายได้และความมั่งคั่งสูงขึ้นนั้น ได้เปลี่ยนค่านิยมไปมากมาย

นั่นคือ พวกเขามีความคิดและค่านิยมเหมือน ๆ กับฝรั่งและชาวต่างชาติอื่น ๆ ที่มีรายได้เฉลี่ยสูงกว่า ความ “เป็นไทย” นั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องในอดีตและไม่น่าที่จะมีใครสามารถ “หมุนเข็มนาฬิกา” กลับคืนไปได้ ดังนั้น สิ่งที่ผมทำก็คือ พยายาม “ปรับตัว” และ “ปรับใจ” เพื่อรับกับ “สังคมใหม่” ที่มาพร้อมกับความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นของสังคมไทย และไม่ไปตัดสินว่าสิ่งเหล่านั้นดีหรือไม่ดี

ผมพูดมายืดยาวและดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับการลงทุนนัก
แต่ที่จริงมันเกี่ยวกับ
  • การวิเคราะห์หาแนวโน้มในอนาคตของประเทศไทย
  • อนาคตของเศรษฐกิจไทย และอนาคตของบริษัทไทย
สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญมากต่อการลงทุนระยะยาวที่เราจำเป็นต้องรู้ว่าอนาคตมันจะไปถึงจุดไหน อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น ๆ นั้น บางครั้งสิ่งที่เราคิดว่าจะเกิดขึ้นอาจจะยังไม่เกิดและหลายครั้งกลับเดินไปในทิศตรงกันข้ามทำให้เราไม่มั่นใจและอาจจะคิดไปว่า “เมืองไทยไม่เหมือนที่อื่นเพราะ…” แต่ในความเห็นของผมหลังจากที่ผ่านประสบการณ์มานานพอสมควรในชีวิต

ผมคิดว่า “คนเหมือนกันทั้งโลก เพราะเรามียีนส์แบบเดียวกัน” การเป็น “คนไทย” นั้น เป็นเรื่องของ “รายละเอียด” ที่ไม่สามารถจะไปเปลี่ยนโครงสร้างใหญ่ที่ธรรมชาติได้กำหนดมาแล้วสำหรับมนุษย์ทุกคน ดังนั้น สำหรับผมแล้ว

ถ้าผมเห็นว่า เทรนด์หรือแนวโน้มของโลกที่เจริญแล้วไปทางไหน ไม่ช้าก็เร็ว ประเทศไทยก็จะพัฒนาไปทางนั้น ไม่มีข้อยกเว้น เราต้องมั่นใจและตัดสินใจลงทุนได้แม้ว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่อาจจะไม่เป็นเช่นนั้นหรือชี้ไปในทิศตรงกันข้าม

 
 
 
(ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร  โลกในมุมมองของ Value Investor 31 กรกฎาคม 2553)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น