วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

คนอเมริกันกับการลงทุนผ่านกองทุนรวม

มีคนถามดิฉันว่า เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในรูปอะไร
ดิฉันตอบว่า “กองทุนรวม”

คนก็สงสัยว่า ทราบเรื่องการลงทุนดีอยู่แล้วทำไมต้องใช้บริการกองทุนรวม


มีหลายสาเหตุค่ะ นอกจากเคยทำงานอยู่ในธุรกิจทำให้ไม่สะดวกในการลงทุนเอง มีความมั่นใจในระบบการจัดการของกองทุนรวม และมีความอยากลงทุนในกองทุนแต่ละกองทุนที่ออกมาเสนอขายผู้ลงทุนจริงๆ แล้ว ยังมีสาเหตุที่ ถึงไม่เคยอยู่ในธุรกิจกองทุนรวม ก็ยังจะใช้บริการ เพราะกองทุนรวมมีข้อได้เปรียบหลายประการ ขอกล่าวถึงหลักๆ 3 ประการค่ะ

ประการแรกคือ มีมืออาชีพคอยดูแลจัดการให้ เราไม่ต้องคอยติดตามสถานการณ์ตลาดต่างๆ ด้วยตนเอง ยิ่งหากมีงานประจำทำอยู่ งานยุ่งๆ ไม่สามารถติดตามภาวะตลาด ไม่ได้ซื้อหรือขายตามจังหวะที่ควรจะเป็น ก็จะเสียโอกาสไปเป็นอันมาก

ประการที่สอง คือ สิทธิทางภาษี โดยเงินปันผลของบริษัทต่างๆ ที่กองทุนรวมรับมา ไม่ต้องเสียภาษี หากเราซื้อหุ้นบริษัทแล้วรับเงินปันผลโดยตรงจะเสียภาษี หัก ณ ที่จ่าย 10% สำหรับกำไรจากการขายหุ้นทุน ไม่เสียภาษีเหมือนๆ กันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะลงทุนผ่านกองทุนรวม หรือลงทุนโดยตรง

สำหรับการลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้ เมื่อขายได้กำไร หรือเมื่อได้ดอกเบี้ย กองทุนรวมก็ไม่เสียภาษี ในขณะที่หากบุคคลลงทุนเองโดยตรง จะเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ทั้งของดอกเบี้ยและกำไร

นอกจากนี้ เงินลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และกองทุนหุ้นระยะยาว ยังสามารถนำไปหักออกจากเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีได้อีก

ประการที่สาม สะดวกและมีให้เลือกหลายรูปแบบ การลงทุนในสินทรัพย์บางอย่าง ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากจึงจะไปลงทุนได้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือการลงทุนในต่างประเทศ แต่หากลงทุนผ่านกองทุนรวม เงิน 5,000 บาท 10,000 บาท ก็สามารถไปลงทุนในสินทรัพย์ที่กล่าวมานี้ได้แล้ว ทำให้สามารถจัดพอร์ตแบบกระจายความเสี่ยงได้ดีขึ้น แม้จำนวนเงินลงทุนจะไม่สูง

มีการสำรวจผู้ลงทุนในสหรัฐอเมริกา และพบว่า ณ สิ้นปี 2009 ครอบครัวชาวอเมริกัน ลงทุนในกองทุนรวมกันถึง 50 ล้านครอบครัว คิดเป็นจำนวนผู้ถือหน่วยลงทุน 87.1 ล้านคน และมีเงินลงทุนในกองทุนรวมคิดเป็น 1 ใน 5 ของสินทรัพย์รวมของแต่ละคน

เงินลงทุนในกองทุนรวมในสหรัฐเมื่อ 20 ปีที่แล้วคือเมื่อปี 1989 มีจำนวน 980,670 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 31.85 ล้านล้านบาท) ได้เติบโตขึ้นมาเป็น 11.12 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 360 ล้านล้านบาท) ในปี 2009 หรือโตขึ้นมากว่า 11 เท่าภายในเวลา 20 ปี และพบว่าผู้ลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวม เริ่มลงทุนเมื่ออายุน้อยลงกว่าเมื่อ 20 ปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด

ก่อนปี 1990 (ก่อน พ.ศ.2533) ผู้ลงทุนส่วนใหญ่คือประมาณ 63% จะเริ่มลงทุนในกองทุนรวมเมื่อมีอายุประมาณ 45-64 ปี พอช่วงปี 1990-2000 ผู้ลงทุนส่วนใหญ่ลงทุนเมื่ออายุ 35-54 ปี และช่วงตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา 48% ของผู้ลงทุนชาวอเมริกัน เริ่มลงทุนในกองทุนรวมเมื่ออายุน้อยกว่า 35 ปี

คนอเมริกันที่รับความเสี่ยงได้สูง จะมีจำนวนกองทุนที่ลงทุนมากกว่าคนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ โดยกลุ่มรับความเสี่ยงได้สูง จะลงทุนในกองทุนรวมเฉลี่ยคนละ 8 กอง โดยมีคนถึง 43% ที่ถือกองทุนมากกว่า 7 กอง (ดิฉันเองถือเกือบ 50 กองทุน) และผู้ที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ จะถือเฉลี่ย 4 กองทุนต่อคน

สถิติยังบอกว่า ผู้ลงทุนชาวอเมริกัน รับความเสี่ยงจากการลงทุนได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมด้วย โดยผู้ที่ไม่ต้องการรับความเสี่ยงในการลงทุนเลย ลดลงจาก 12% เมื่อก่อนปี 1990 เหลือ 7% ในปี 2009 และผู้ที่แจ้งว่าตนเองรับความเสี่ยงได้เท่าๆ กับค่าเฉลี่ยและต้องการผลตอบแทนเท่าๆ กับผลตอบแทนเฉลี่ย ในปัจจุบันมีสัดส่วนถึง 55% ส่วนกลุ่มที่บอกว่ารับความเสี่ยงได้สูงและอยากได้ผลตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ย มี 21% ในขณะที่กลุ่มที่ต้องการเสี่ยงต่ำและยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมีอยู่เพียง 10%

วัตถุประสงค์ในการลงทุน ในกองทุนรวมของคนอเมริกันส่วนใหญ่ คือ ลงทุนเพื่อการเกษียณ โดยมีสัดส่วนถึง 75% ส่วนอีก 10% ลงทุนเอาไว้ใช้เพื่อการศึกษา 6% เอาไว้เผื่อฉุกเฉิน การลงทุนเพื่อลดภาษี กับ ลงทุนเพื่อหวังจะนำรายได้ไปใช้จ่ายเป็นงวดๆ มีสัดส่วน 3% เท่ากัน และ 2% ของผู้ลงทุนระบุไว้ว่า ลงทุนเอาไว้เพื่อซื้อบ้านหรือของชิ้นใหญ่ ที่เหลือ 1% คือการลงทุนเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ทั้งนี้ผู้ลงทุนเชื่อมั่นว่ากองทุนรวมเป็นวิธีการลงทุนที่จะทำให้เขาสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเงินได้

ในฐานะนักวางแผนการเงินและในฐานะผู้ที่อยู่ในแวดวงการลงทุนมากว่า 25 ปี ดิฉันยืนยันได้เช่นกันว่า การลงทุนผ่านกองทุนรวมเป็นวิธีการลงทุนที่สะดวก และทำให้การจัดพอร์ตการลงทุนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการลงทุนเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าพอร์ตนั้นจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ตาม

สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการความตื่นเต้นจากการลงทุนด้วยตนเอง ก็สามารถลงทุนเสริมได้ เช่น หากจัดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นทุนไว้ 25% อาจจะลงทุนผ่านกองทุนรวม 15% และแบ่งพอร์ตมาดูแลเอง 10% หรือกรณีต้องการลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง ซึ่งขายให้เฉพาะประชาชนทั่วไป ก็แบ่งส่วนนั้นมาลงทุนตรง และส่วนที่เหลือที่ลงทุนในตราสารหนี้ ตลาดเงิน หรือพันธบัตร ให้จัดเป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวม เป็นต้น

 
 
 
(โดย : Money Pro : วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ CFPTM)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น